×

นิทรรศการ LGBTQ ครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวแล้วที่หอศิลป์

22.11.2019
  • LOADING...
Spectrosynthesis II

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • นิทรรศการ ‘Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia’ เป็นนิทรรศการที่สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563

นิทรรศการ ‘Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia’ นิทรรศการศิลปะสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ – Lesbian Gay Bisexual Transsexual and Queer) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวแล้วที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

Spectrosynthesis II

 

งานนี้เป็นงานที่จัดสืบเนื่องมาจากนิทรรศการแรก Spectrosynthesis – Asian LGBTQ Issues and Art Now อันโด่งดังในกรุงไทเป ไต้หวัน ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ ที่จัดขึ้นครั้งแรกในเอเชีย โดยมีมูลนิธิซันไพรด์ เป็นผู้บุกเบิกและนำเสนอเนื้อหาในประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ สู่สังคม และในครั้งนี้มูลนิธิซันไพรด์ได้จับมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อถ่ายทอดผลงานสู่สายตาชาวไทยในกรุงเทพฯ เมืองที่ใครๆ ก็ว่าเปิดเสรีเรื่องเพศมากกว่าประเทศอื่นในเอเชียกันบ้าง

 

Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) หรือ ‘สนทนาสัปตสนธิ ๒’ จะจัดแสดงผลงานจากศิลปิน 59 ชีวิตจาก 15 ประเทศและเขตบริหารพิเศษ และมีไฮไลต์ในงาน ได้แก่ ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อนิทรรศการนี้ โดยศิลปินชื่อดังอย่าง อริญชย์ รุ่งแจ้ง, Balbir Krishan, Anne Samat, จักกาย ศิริบุตร รวมถึงงานชิ้นสำคัญโดย Dinh Q. Lê, David Medalla, Ren Hang, Danh Vō และศิลปินอีกมากมาย

 

Spectrosynthesis II

Spectrosynthesis II

 

‘Spectrosynthesis’ หรือ ‘สัปตสนธิ’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า Spectrum (สัปต) แปลว่า สีของรุ้ง และ Photosynthesis (สนธิ) แปลว่า การเชื่อมโยงหรือการสังเคราะห์ เมื่อนำมารวมกันจึงเกิดเป็นแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ ที่ต้องการสังเคราะห์แสงสีรุ้งให้เกิดผลงานออกมา สร้างพลังในการขับเคลื่อน และเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ ผ่านศิลปะหลายสาขานั่นเอง

 

ผลงานที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงครั้งนี้ มีตั้งแต่ จักกาย ศิริบุตร ผู้สร้างสรรค์ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ 3 ชิ้น แต่ละชิ้นทำจากผ้ายาว 2 เมตร เพื่อบันทึกความเจ็บปวดของวัยรุ่น หรือ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่สร้างวิดีโอแบบติดตั้งจัดวาง 5 จอภายใต้ชื่อ Welcome to My World โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความตื่นเต้นที่ได้เห็นบุคคลแปลงเพศในวัยเด็ก 

 

หรือภาพถ่ายของ เยิ่น หาง แสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติ ผู้ชมจะได้เห็นนายแบบและนางแบบเปลือย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนของศิลปินเอง อยู่ในท่วงท่าที่เปิดเผยและดูราวกับเป็นรูปปั้น ภาพถ่ายที่จัดองค์ประกอบอย่างตั้งอกตั้งใจนี้มีความงามแบบศิลปะเหนือจริง แต่แม้จะเป็นภาพของร่ายกายในวัยหนุ่มสาว กลับให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเก็บกด สะท้อนถึงการต่อสู้กับภาวะทางจิตใจของศิลปินเอง

 

นอกจากนั้น นิทรรศการครั้งนี้ยังรวมไปถึงอีกหลายผลงานที่สะท้อนถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความแตกต่าง และความเป็นตัวเอง ทำให้เห็นนานาทัศนะของศิลปินแต่ละคนที่ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมสังคมอันซับซ้อน และความเชื่อที่ขัดต่อความรู้สึกของพวกเขาด้วย 

 

Spectrosynthesis II

 

นิทรรศการนี้ตั้งใจส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้ผ่านศิลปะร่วมสมัย โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าเส้นแบ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนไป กรอบเกณฑ์ต่างๆ กำลังเปิดกว้างมากขึ้น และคนก็กำลังตั้งคำถามกับค่านิยมและบรรทัดฐานต่างๆ ทางสังคมมากขึ้น ทั้งยังแสดงถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น ซึ่งทางผู้จัดหวังว่าบทสนทนาเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ในกลุ่ม LGBTQ แต่เพียงเท่านั้น

 

นิทรรศการสัปตสนธิ จัดแสดงระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลัก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 7 และชั้น 8 โดยภายในงานจะมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ โปรแกรมภาพยนตร์และศิลปะการแสดงสด เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินหลากหลายสาขาได้มีส่วนร่วมแสดงผลงาน และขยายเวทีการนำเสนอให้แก่ผู้ชมในวงกว้างอีกด้วย

 

ภาพ: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising