จากรณีที่ปรากฏสำเนาหนังสือจากสันติบาลที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ที่ได้ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้แจ้งจำนวนนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม พร้อมทั้งให้ระบุนิกาย รวมถึงการตั้งชมรม กลุ่ม ของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ประวัติประธานฯ จำนวนสมาชิกและแนวทางการเคลื่อนไหว จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการนั้น
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2562 ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ถ้าสันติบาลทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยเช่นนี้จริง ก็ไม่ทราบว่าสันติบาลคิดอะไรอยู่ และกระทำเช่นนี้เพื่อต้องการอะไร เพราะการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว การเลือกปฏิบัติทางศาสนา เป็นอคติและหวาดระแวงนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามโดยตรง และเป็นการแทรกแซงสถาบันการศึกษาซึ่งต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ
“อันที่จริงแต่ละมหาวิทยาลัยมีแนวทางในการคุ้มครองและให้คำแนะนำ รวมถึงมีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำในการจัดกิจกรรมของนักศึกษาอยู่แล้ว หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะสันติบาลควรเคารพการทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษา และเสรีภาพทางวิชาการ อันที่จริงเวลานักศึกษาหรือชาวบ้านจัดกิจกรรม ก็มักมีสันติบาลตามมาบันทึกภาพ หรือวิดีโออยู่แล้วโดยตลอด การทำหนังสือลักษณะนี้จึงถือเป็นการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพ รวมถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลโดยตรง การจะอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงน่าจะต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้มากกว่านี้
“เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้รับการคุ้มครองทั้งจากรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การที่บุคคลใดจะนับถือศาสนาใดหรือนิกายใด หรือเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาใดย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” อังคณากล่าว
อังคณาระบุอีกว่า ขอบคุณรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ ที่ออกมาชี้แจงยอมรับว่า หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นของกองบังคับการตำรวจสันติบาลจริง ซึ่งรองโฆษก ตร. ชี้แจงว่า “…ได้มีการดำเนินการไปยังสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน โดยไม่มีนัยสำคัญใดๆ…”
อังคณากล่าวอีกว่า อันที่จริงหากไม่มีนัยสำคัญใดๆ ในการขอทราบข้อมูล สันติบาลควรขอทราบข้อมูลของนักศึกษาทุกศาสนาในสถาบันการศึกษา
การที่สันติบาลเลือกเจาะจงขอข้อมูลเฉพาะนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนา ซึ่งอาจจะมาจากความหวาดระแวง หรือความหวาดกลัวคนที่นับถือศาสนาอิสลาม (Islamophobia) ทั้งนี้แทนที่จะหวาดระแวงรัฐ หน่วยงานรัฐควรเร่งสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา (Interfaith) ให้มากขึ้น เพื่อลดความหวาดระแวง และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของทุกศาสนาในสังคม
โดยหลักการ ทุกสถาบันการศึกษาต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ และมีมาตรการในการให้คำชี้แนะ และรับผิดชอบต่อการจัดกิจกรรมของนักศึกษาอยู่แล้ว การขอข้อมูลเฉพาะของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามในสถาบันการศึกษาของกองบังคับการตำรวจสันติบาล จึงเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษา และคงไม่อาจทำให้สังคมเข้าใจไปในทางอื่นได้ นอกจากเป็นความหวาดระแวงของรัฐที่มีต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยเฉพาะที่เป็นเยาวชน
“ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหา และป้องกันความรุนแรงจากแนวความคิดสุดโต่ง (Prevention Violence Extremism) ควรต้องเริ่มจากการยอมรับว่า แนวคิดสุดโต่งมีในกลุ่มคนทุกศาสนา และการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันสังคมจากการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จึงไม่สมควรกระทำการใดๆ อันเป็นการเพิ่มความหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจของประชาชนเพียงด้วยเหตุผลความมั่นคง” อังคณากล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- เฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit