×

เปิดเส้นทางการเมืองสเปน หลังไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้

05.08.2023
  • LOADING...
การเมืองสเปน

‘สเปน’ คือประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปที่เลือกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้จำนวน สส. เกินครึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมด 350 คน ผลการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร เนื่องจากกฎหมายของสเปนกำหนดว่า พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องรวบรวมให้มีจำนวน สส. อย่างน้อย 176 คน 

 

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า พรรค Partido Popular (People’s Party: PP) ภายใต้การนำของ อัลแบร์โต นูเญซ เฟย์โฆโอ ได้จำนวน สส. มากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ 136 เสียง รองลงมาคือพรรค Partido Socialista Obrero Español (Spanish Socialist Workers’ Party: PSOE) ภายใต้การนำของ เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปนคนปัจจุบัน ได้ 122 เสียง ทั้งสองพรรคนี้เป็นพรรคการเมืองหลักของสเปนตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 หลังจากสเปนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารของ นายพล ฟรันซิสโก ฟรังโก มาเป็นเวลา 36 ปี 

 

 

ความเป็นไปได้จากผลการเลือกตั้ง 3 ทาง

 

  1. พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคพยายามรวมรวบเสียงให้ได้อย่างน้อย 176 เสียง เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยในช่วงตลอดทั้งเดือนสิงหาคมไปจนถึงต้นเดือนกันยายนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของพรรค PP และ PSOE ในการหาเสียงสนับสนุน เนื่องจากตามกำหนดการ ภายในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ จะมีการรับรองสถานะของ สส. และ สว. รวมถึงจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จากนั้นวันที่ 17 สิงหาคม สส. จะลงมติเลือกประธานรัฐสภา และวันที่ 21 สิงหาคม สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน จะทรงเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภา หลังจากนั้นปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนจะมีการประชุมสามัญ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีสเปนคนใหม่ 

 

ถ้าพรรคการเมืองแกนนำใดสามารถรวบรวมคะแนนเสียงจาก สส. ได้ตั้งแต่ 176 เสียงขึ้นไป จะสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและเสนอรายชื่อรัฐมนตรีได้ในวันที่ 8 กันยายน โดยทั้งพรรค PP และ PSOE มีความพยายามในการรวบรวมเสียงสนับสนุนหลังจากการนับคะแนนการเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยพรรค PP (136 เสียง) มีแนวโน้มจะรวมเสียงกับพรรค Vox (33 เสียง) และพรรค U.P.N. (1 เสียง) ซึ่งจะได้คะแนนรวม 170 เสียง ยังขาดอีก 6 เสียง 

 

สำหรับพรรค PSOE (122 เสียง) มีแนวโน้มจะรวมเสียงกับพรรค Sumar (31 เสียง) ซึ่งมีหัวหน้าพรรคเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลสเปน ภายใต้แกนนำของพรรค PSOE ในปัจจุบัน โดยคะแนนรวมของฝ่ายนี้ก็จะเท่ากับ 153 เสียง ยังขาดอีก 23 เสียงเพื่อให้ถึง 176 เสียง 

 

มีการคาดการณ์ว่า PSOE และ Sumar จะได้รับคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองระดับภูมิภาคที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลปัจจุบันอีกรวมทั้งสิ้น 19 เสียง ได้แก่ พรรค ERC 7 เสียง, พรรค EH Bildu 6 เสียง, พรรค EAJ-PNV 5 เสียง และพรรค B.N.G. 1 เสียง ทำให้ฝ่าย PSOE อาจมีคะแนนเสียงรวม 172 เสียง จะเห็นว่าทั้งพรรค PP และ PSOE อาจมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันอย่างมากหลังรวมเสียงกับพรรคอื่นๆ แล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้อย่างน้อย 176 เสียงของทั้งสองพรรคเป็นไปได้ยาก 

 

  1. การจัดให้มีการลงคะแนนเสียงรอบที่ 2 ในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากไม่มีพรรคใดสามารถรวบรวมเสียงได้อย่างน้อย 176 เสียงในการลงคะแนนครั้งแรก จะต้องมีการลงคะแนนรอบที่ 2 ภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากการลงคะแนนครั้งแรก โดยการลงคะแนนครั้งที่ 2 ใช้ ‘เสียงข้างมาก’ ในการตัดสิน กล่าวคือพรรคใดมีคะแนนเสียงมากกว่า ก็จะทำให้ผู้นำของพรรคนั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 

 

ความเป็นไปได้ในการได้นายกรัฐมนตรีจากการลงคะแนนเสียงรอบที่ 2 ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การที่พรรค PSOE ‘งดออกเสียง’ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี สถานการณ์นี้จะทำให้พรรค PP ได้คะแนนเสียงมากกว่าและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 

 

การงดออกเสียงของพรรค PSOE ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เป็นไปไม่ได้ เห็นได้จากปี 2016 หลังจากที่พรรค PP ซึ่งได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในปีนั้นพรรค PSOE งดออกเสียงในการลงคะแนนครั้งที่ 2 เพื่อให้พรรค PP จัดตั้งรัฐบาลได้และไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 3 หลังจากมีเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2015 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 

 

การงดออกเสียงของพรรค PSOE จะมีความเป็นไปได้สูง หากพรรค PP สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้ใกล้เคียง 176 เสียง และพรรค PSOE เห็นว่าเป็นทางออกสุดท้าย เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งใหม่ที่ไม่มีเครื่องยืนยันว่าพรรคใดจะได้คะแนนเสียงเกิน 176 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล 

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในการลงคะแนนรอบที่ 2 คือ การลงคะแนนของพรรค JxCat ที่มี 7 เสียง โดยพรรค JxCat มีข้อต่อรองทางการเมืองที่ชัดเจนในเรื่องการแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญา (Cataluña) ให้เป็นรัฐเอกราชจากสเปนและการนิรโทษกรรมผู้มีส่วนในการสนับสนุนการแบ่งแยกประเทศ หัวหน้าพรรค JxCat ที่กำลังลี้ภัยอยู่ที่เบลเยียม ประกาศก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่เข้าร่วมกับทั้งพรรค PP และ PSOE แต่หากพรรค JxCat ตัดสินใจลงคะแนนให้พรรค PP หรือ PSOE หรือแม้แต่การงดออกเสียง ก็จะทำให้การลงคะแนนของพรรคนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้ 

 

การลงคะแนนการเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากและต้องติดตามของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

  1. การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากไม่มีผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใดได้รับเสียงอย่างน้อย 176 เสียงในการลงคะแนนรอบแรก และไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในการลงคะแนนรอบที่ 2 ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใน 2 เดือนหลังจากการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก จะต้องเลือกตั้งทั่วไปใหม่อีกครั้ง โดยมีรัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการไปจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่แล้วเสร็จ 

 

จากข้อมูลการจัดตั้งรัฐบาล 11 ครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1977-2015 พบว่า สภาไม่เคยใช้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน แต่ก็ไม่เคยเกิน 2 เดือนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังจากเลือกตั้ง 

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งใหม่รอบที่ 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2015 โดยพรรค PP ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จากการลงคะแนนเสียงในสภา 2 รอบ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายน 2016 

 

การเลือกตั้งใหม่รอบที่ 2 เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2019 หลังจากที่พรรค PSOE ไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลได้จากการลงคะแนน 2 รอบหลังการเลือกตั้งเดือนเมษายนในปีเดียวกัน 

 

ดังนั้นหากครั้งนี้พรรค PP ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จากการลงคะแนนทั้งสองรอบ ก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น ซึ่งจะอยู่ในช่วงใกล้วันคริสต์มาส ปลายเดือนธันวาคมปีนี้ และจะเป็นการเลือกตั้งรอบ 2 ครั้งที่ 3 ในรอบ 7 ปีของสเปน 

 

การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่มีความเป็นไปได้ แต่จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก กล่าวคือผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ยังจะไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกิน 176 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ นอกจากนี้พรรค PP ก็ยังคงจะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 และพรรค PSOE ก็ยังจะมีคะแนนเสียงตามมาเป็นอันดับที่ 2 เหมือนการเลือกตั้งที่เพิ่งสิ้นสุดลง การจัดตั้งรัฐบาลก็จะเข้าสู่การลงคะแนนรอบที่ 1 ในการหาคะแนนเสียงให้ได้อย่างน้อย 176 เสียง และอาจมีรอบที่ 2 เช่นเคย 

 

แกนนำของพรรคการเมืองต่างๆ คงจะตระหนักดีถึงสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ และคงไม่อยากให้เกิดการหยุดชะงักทางการเมืองในประเทศ ที่จะส่งผลต่อการบริหารบ้านเมืองภายในและการเมืองระดับระหว่างประเทศด้วย

 

อนาคตการเมืองสเปนจะเป็นไปในทิศทางไหนต้องติดตาม…

 

ภาพ: Pierre-Philippe Marcou / AFP, Oscar Del Pozo / AFP, Jim Barber / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising