×

S&P หั่นเรตติ้ง ‘4 แบงก์ไทย’ นักวิเคราะห์ชี้ ส่อกระทบต้นทุนการเงิน แต่มองว่ายังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน

22.03.2022
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มแบงก์

นักวิเคราะห์มองหุ้นกลุ่มแบงก์ยังน่าสนใจลงทุน เหตุมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ราคาไม่แพง ขณะที่ NPL แม้จะอยู่ในช่วงขาขึ้นอีก 1-2 ปี ก็ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ พร้อมคงประมาณการกำไรทั้งปี 2565 ขณะที่ S&P Global Ratings หั่นเครดิต 4 แบงก์ไทย หวั่นถูกกระทบจากความเสี่ยงเชิงระบบ

 

วานนี้ (21 มีนาคม) S&P Global Ratings หรือ S&P ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทย เนื่องจากคาดว่าความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทย

 

S&P หั่นเรตติ้ง 4 แบงก์ไทย

โดย S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลงสู่ระดับ BBB จากระดับ BBB+ และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (TTB) ลงสู่ระดับ BBB- จากระดับ BBB

 

อย่างไรก็ตาม S&P ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ระดับ BBB+ โดยระบุว่า BBL มีความสำคัญในเชิงระบบในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ และได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ระดับ BBB+ โดยระบุว่า BAY ได้ประโยชน์จากการเป็นธนาคารในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป

 

S&P ระบุว่า แม้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่คาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจทำให้ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาด้านการปล่อยกู้ในภาคธนาคารยืดเยื้อออกไปอีก

 

นอกจากนี้ S&P ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นไปอย่างเปราะบางและไม่เสมอภาคกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากการเดินทางระหว่างประเทศที่ต้องถูกเลื่อนออกไป อันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน

 

ขณะเดียวกัน S&P คาดว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคการธนาคารของไทยจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 24 เดือนข้างหน้า เป็น 5% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551

 

กสิกรไทยมองแนวโน้ม NPL ต่ำกว่า 5%

กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ S&P ลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่ง จากความกังวล 4 เรื่องหลัก ดังนี้

 

  1. หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและจะอยู่เป็นเวลานานกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า
  2. S&P มองว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ (Debt Relief Program) แม้จะช่วยประคองภาพรวม NPL ไม่ให้ปรับตัวขึ้น แต่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำได้ช้าลง
  3. ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน (Uneven Recovery) โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว
  4. สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้การฟื้นตัวกลับไปที่ Pre-COVID Level ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยช้ากว่าคาด

 

“ตามมุมมองของเรา เราเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่กับความกังวลของ S&P โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงเชิงระบบ และเรามองว่า GDP ไทย น่าจะถูกปรับลดคาดการณ์ในเร็วๆ นี้ เพราะสัญญาณเงินเฟ้อเกิดขึ้นแล้ว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์มากๆ ซึ่งจะกระทบกลุ่มแบงก์โดยตรงจากปล่อยสินเชื่อยากขึ้น จัดเก็บหนี้ยากขึ้น เพราะลูกหนี้บางกลุ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้” กรกชกล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม กรณี NPL ซึ่ง S&P มองว่า จะไต่ระดับขึ้นถึง 5% ใน 2 ปีนั้น ฝ่ายวิจัยประเมินว่าน่าจะต่ำกว่านั้น หรืออยู่ที่ราว 4.4% โดยประเมินจากหนี้ที่ได้รับการผ่อนปรนตามมาตรการของ ธปท. ราว 14% นั้นจัดเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น NPL ไม่ถึง 10% 

 

กรกชกล่าวว่า ผลกระทบจากการถูกปรับลดเรตติ้งจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินของแบงก์แพงขึ้น เช่น การออกหุ้นกู้ต่างประเทศ แต่เชื่อว่ากระทบไม่มาก เนื่องจากแหล่งการเงินของแบงก์มาจากการระดมเงินฝากในประเทศ 

 

ขณะเดียวกันการถูกปรับลดเรตติ้งจะเป็นปัจจัยลบต่อ Sentiment การลงทุนกลุ่มแบงก์ จึงแนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นกลุ่มแบงก์และเพิ่มสัดส่วนหุ้นกลุ่มการเงิน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มียอดสินเชื่อภาคเกษตรมากกว่า ซึ่งภาคการเกษตรยังมีการเติบโตที่ดีอยู่ 

 

เคทีบีเอสทีคาดต้นทุนการเงินกระทบน้อย

มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าเป็นลบต่อ SCB, KBANK, KTB และ TTB ที่ถูก Downgrade Credit Rating เพราะจะส่ง Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น ส่วนด้านต้นทุนในการออกหุ้นกู้จะกระทบจำกัด เพราะมีสัดส่วนหุ้นกู้เพียง 2-3% ของหนี้สินทั้งหมด 

 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิดที่ไม่ได้รุนแรงเหมือนก่อนหน้านี้ทำให้คาดว่า NPL จะยังคงทยอยเพิ่มขึ้นและไม่น่ากังวลมากนัก โดยคาด NPL ในปี 2565 จะอยู่ที่ 3.49% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 3.11% ประกอบกับกลุ่มธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อมาเยอะมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมี Coverage Ratio เฉลี่ยสูงถึง 177% ดังนั้นแม้ NPL จะยังอยู่ในขาขึ้น แต่เป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลือต่อถึงสิ้นปี 2566 จึงเชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่แบงก์ไทยสามารถบริหารจัดการได้  

 

“จากความกังวลเรื่อง NPL ที่ S&P มองไปถึง 5% ในอีก 2 ปีข้างหน้า เรากลับคิดว่าท้ายที่สุดแล้วกำไรของกลุ่มแบงก์จะดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถตั้งสำรองหนี้เสียได้ โดยเฉพาะส่วนที่ถูกทับไว้ในตอนนี้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการผ่อนปรนของ ธปท.” มงคลกล่าว 

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์เป็นมากกว่าตลาด เพราะ Valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.72 เท่าของ PBV โดยเราเลือก KBANK ราคาเป้าหมายที่ 172.00 บาท และ SCB ราคาเป้าหมายปี 2022E ที่ 150 บาท 

 

เอเซียพลัสมองกระทบราคาหุ้นระยะสั้น

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า กรณี S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือแบงก์พาณิชย์ไทยนั้นมีโอกาสสร้าง Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร ส่วนทางพื้นฐานจะส่งผลให้แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้ใหม่สูงขึ้น เพิ่มเติมจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ปรับตัวขึ้นตาม Government Bond Yield อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบด้านต้นทุนการเงินจะไม่มาก เนื่องจากธนาคารไทยระดมทุนผ่านเงินฝากเป็นหลักในส่วนราว 70-80% ของหนี้สิน 

 

สำหรับคุณภาพสินทรัพย์มองว่า กลุ่มแบงก์มีการตั้งสำรองล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ทั้งกลุ่มมี Coverage Ratio ณ สิ้นปี 2564 ที่ 163% แม้ว่าทิศทาง NPL ยังเป็นขาขึ้น แต่คาดว่าอยู่ในการบริหารจัดการ และประเมินว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเท่าปี 2563-2464 ที่ลูกหนี้เผชิญ Income Shock จากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่รายได้ลูกหนี้เริ่มฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น 

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังให้น้ำหนักการลงทุนเท่าตลาด โดยราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์ในช่วงที่ผ่านมาปรับฐาน หลังแนวโน้ม GDP เปิดความเสี่ยงขาลง (Downside) มากกว่าขาขึ้น (Upside) ประกอบกับทิศทาง Fund Flow จากต่างชาติเริ่มชะลอ โดยเลือก TISCO (FV@B106) จากงบดุลแกร่งทั้ง BIS Ratio และ Coverage Ratio สูงสุดในกลุ่ม พร้อมคาดหมาย Div Yield ราว 7% 

 

ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังชื่นชอบ KBANK (FV@B174) ถือเป็นธนาคารที่มีจุดเด่นด้านดิจิทัล มองราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว หาก Downside ของ GDP หมดลง และราคาหุ้นปรับฐานสามารถทยอยสะสมได้

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising