×

Sovereign Bolívar คืออะไร แก้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงของเวเนซุเอลาได้จริงหรือ

22.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ

 

  • Sovereign Bolívar เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลเวเนซุเอลาใช้ในการสกัดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ หลังนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าอัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาอาจพุ่งแตะระดับ 1,000,000% ในปีนี้
  • สกุลเงินใหม่จะมีเลขศูนย์น้อยลง 5 หลัก หรือ 100,000 โบลิวาร์เดิม มีค่าเท่ากับ 1 Sovereign Bolívar ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
  • แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่ามาตรการใหม่ของรัฐบาลจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายยังอาจทำให้วิกฤตบานปลายขึ้น

 

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘Sovereign Bolívar’ เป็นคำที่อยู่ในความสนใจในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลเวเนซุเอลาหมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ได้ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อยังคงพุ่งขึ้นไม่หยุด ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในเวเนซุเอลาอาจเลวร้ายถึงขั้นพุ่งแตะระดับ 1,000,000% ในปีนี้

 

แต่หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า Sovereign Bolívar คืออะไร สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ตรงจุดหรือไม่

 

 

Sovereign Bolívar คืออะไร

Sovereign Bolívar เป็นสกุลเงินใหม่ของเวเนซุเอลาที่เปลี่ยนชื่อจาก Bolivar และมีการลดค่าเงินลงจากเดิม 96% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในขั้นรุนแรง โดยสกุลเงินใหม่จะมีเลขศูนย์น้อยลง 5 หลัก หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ 100,000 โบลิวาร์ มีค่าเท่ากับ 1 Sovereign Bolívar

 

ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ชี้แจงเหตุผลในการผลักดันเงินสกุลใหม่ว่า เพื่อลดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคได้สะดวกขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้ธนบัตรหนาเป็นปึกจำนวน 14.6 ล้านโบลิวาร์เพื่อซื้อไก่สด 1 ตัว หรือต้องควักเงินสด 2.5 ล้านโบลิวาร์เพื่อจ่ายค่ากาแฟ 1 แก้วในกรุงการากัส แต่เมื่อใช้เงินสกุลใหม่ ราคาของ 2 สิ่งข้างต้นจะอยู่ที่ 146 และ 25 Sovereign Bolívar ตามลำดับ

 

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนของ Sovereign Bolívar กับเงินสกุลหลักๆ ในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ภายหลังรัฐบาลประกาศให้ใช้สกุลเงินใหม่ตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ส.ค.) นั้น ทางธนาคารกลางของเวเนซุเอลาได้กำหนดเรตใหม่ไว้ที่ 68.65 Sovereign Bolívar ต่อ 1 ยูโร หรือ 60 Sovereign Bolívar ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ (ดอลลาร์)

 

สำหรับมูลค่าของ Sovereign Bolívar จะผูกติดกับ เปโตร (Petro) ซึ่งเป็นสกุลเงินเข้ารหัส หรือ Cryptocurrency ของเวเนซุเอลาที่อ้างอิงกับราคาน้ำมันในประเทศ โดย 1 เปโตร มีค่า 3,600 Sovereign Bolívar หรือ 60 เหรียญสหรัฐ

 

 

มาตรการสมทบอื่นๆ

นอกจากการรีแบรนด์สกุลเงินใหม่แล้ว ผู้นำเวเนซุเอลายังสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 3,000% เป็น 1,800 Sovereign Bolívar ต่อเดือน หรือ 30 เหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ประชาชนจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 1.8 ล้านโบลิวาร์

 

นอกจากนี้รัฐบาลพรรคยูไนเต็ด โซเชียลลิสต์ (PSUV) ยังออกมาตรการขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หยุดการอุดหนุนแก๊สโซลีนหรือน้ำมันเบนซิน และขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประมาณ 4% จากระดับ 12% เป็น 16% โดยหวังว่าจะช่วยคลังลดค่าใช้จ่ายราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

 

 

แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงหรือ

คำถามที่ตามมาคือ ‘สูตร’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมาดูโร ทั้งการลดค่าเงินโบลิวาร์ หยุดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน และขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลาตามที่เขาคาดหวังได้จริงหรือไม่

 

ผู้เชี่ยวชาญไม่มองเช่นนั้น

 

คาร์ลอส ลาร์ราซาบัล ประธานสหภาพธุรกิจ Fedecameras ในเวเนซุเอลามองว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจะทำให้เกิดปัญหาความไม่แน่นอนและไร้เสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

 

ความสับสน บวกความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจและร้านค้าหลายพันแห่งในเวเนซุเอลาต้องปิดดำเนินงานชั่วคราวเพื่อปรับตัวกับสกุลเงินใหม่ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจซบเซาลงไปอีก

 

ประชาชนทั่วไปในเวเนซุเอลาไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้นำพูด และมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต จนนำไปสู่การอพยพลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในระดับภูมิภาค

 

 

แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่รุนแรงขึ้น แต่ประชาชนบางส่วนได้ร่วมผละงานประท้วงนาน 24 ชั่วโมงร่วมกับพรรคฝ่ายค้านที่ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมาดูโร ขณะที่ทางการได้วางกำลังทหารและตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

 

นโยบายใหม่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลได้จำกัดการถอนเงินสดจากตู้ ATM ครั้งละไม่เกิน 10 Sovereign Bolívar ซึ่งไม่พอซื้อกาแฟ 1 แก้วด้วยซ้ำ ขณะที่ตามตู้ต่างๆ มีคนต่อแถวรอถอนเงินยาวเหยียด

 

และแม้ว่า Sovereign Bolívar จะตัดเลขศูนย์ลงเพื่อไม่ให้ดูเฟ้อ แต่มูลค่าจริงของสิ่งของเครื่องใช้ก็ยังแพงอยู่ดี ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากวิตกว่าสินค้าจำเป็นต่างๆ อาจมีแนวโน้มแพงขึ้นไปอีก

 

อาร์เธอร์ คาร์วัลโญ นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Morgan Stanley ซึ่งเป็นสถาบันการเงินและบริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังในสหรัฐฯ มองว่า “มาตรการใหม่ๆ ของรัฐบาลยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และการเปลี่ยนมาใช้ Sovereign Bolívar ก็จะไม่ช่วยสกัดภาวะเงินเฟ้อในประเทศได้”

 

 

ในด้านเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์หลายคนจาก Morgan Stanley มองว่า แม้ที่ผ่านมาราคาน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของเวเนซุเอลาจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ไม่ช่วยให้บริษัท PDVSA ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐปลดภาระหนี้สินกองโตได้ หลังจากที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ในตราสารหนี้ที่ออกในไตรมาส 4 ปี 2017 ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยธนาคารโลกประมาณการว่าเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะเผชิญกับภาวะถดถอยต่อไปอีก 1 ปี ขณะที่เวเนซุเอลาสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณต่ำสุดในรอบ 30 ปี จากที่เคยผลิตได้ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อ 10 ปีก่อน

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาก็คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การนำของพรรค PSUV ได้โหวตล้มเลิกรัฐบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมต่างชาติที่ผิดกฎหมาย (Illicit Foreign Transactions Law) เพื่อผลักดันให้ตลาด Forex ในประเทศสามารถซื้อขายอิงกับตลาดได้มากขึ้น หรือทำให้ตลาดมืดเป็นตลาดที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะเปิดทางให้บริษัท PDVSA ของรัฐบาล สามารถเทรดเงินกับตลาดระดับทางการเพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้ หลังจากที่ผ่านมาต้องเทรดดอลลาร์ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนปลอมที่กำหนดโดยแบงก์ชาติเป็นเวลาหลายปี

 

เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวข้างต้น บวกกับแนวโน้มที่เวเนซุเอลาต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันตามภาวะอุปทานของตลาด จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่บริษัท PDVSA ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในระบบเศรษฐกิจเวเนซุเอลาจะต้องหากำไรในตลาด Forex แทน

 

 

นอกจากปัญหาท้าทายในด้านเศรษฐกิจแล้ว นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลพรรค PSUV ยังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมด้วย เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงทุกขณะทำให้ประชาชนเกิดความเอือมระอาและเปิดช่องให้พรรคฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตีได้

 

นอกจากนี้ปัญหาข้าวยากหมากแพงยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถิติการก่ออาชญากรรมและการลักพาตัวในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือของประชาชนได้ทุกเมื่อ

 

 

อีกหนึ่งปัญหาที่น่าจับตาก็คือการอพยพลี้ภัยทางเศรษฐกิจของประชาชนเวเนซุเอลาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีชาวเวเนซุเอลาที่ไหลทะลักเข้าประเทศเอกวาดอร์แล้วกว่า 400,000 คน ส่งผลให้รัฐบาลเอกวาดอร์ต้องสั่งปิดพรมแดนที่ติดกับเวเนซุเอลา พร้อมออกมาตรการให้พลเมืองเวเนซุเอลาที่เดินทางข้ามมาจากประเทศโคลอมเบียต้องถือหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมแสดงบัตรประชาชนด้วย

 

ขณะที่บราซิลได้ส่งกำลังทหารไปรักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองปากาไรมาที่มีพรมแดนติดกับเวเนซุเอลา หลังจากที่ชาวบราซิลลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้อพยพโดยการจุดไฟเผาแคมป์ที่พักและสิ่งของของผู้ลี้ภัย จนเกิดปัญหาความไม่สงบขึ้น

 

จากนี้ไปจึงน่าจับตาอย่างใกล้ชิดว่ามาตรการต่างๆ ของประธานาธิบดีมาดูโรจะช่วยบรรเทาวิกฤตที่เป็นอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่มีความซับซ้อนและหยั่งรากลึกมานาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นหากรัฐบาลก้าวพลาด ขณะที่ประชาชนจำนวนมากก็ไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาล

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X