×

ภาคใต้ฝนตกหนักน้ำมาก 11 จังหวัดเหนือ-อีสานเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค

โดย THE STANDARD TEAM
12.11.2018
  • LOADING...

วันนี้ (12 พ.ย. 61) เวลา 9.30 น. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 10/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมีสาระสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การติดตามสภาพอากาศภาคใต้ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน การให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือ

 

และ 2. การติดตามความก้าวหน้าแผนการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปี 61/62 โดยเฉพาะการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงให้ชัดเจน เพื่อเตรียมแผนรับมือการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

ซึ่งเบื้องต้นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีหนังสือแจ้งไปยัง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำการสำรวจประปาหมู่บ้าน และประปาเทศบาลที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน พร้อมจัดทำแผนสำรองและแนวทางแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจข้อมูลอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน และจัดทำแผนรองรับและสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อตรวจสอบและยืนยันพื้นที่เพาะปลูกทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน และจัดทำมาตรการรองรับ

 

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สทนช. วิเคราะห์แล้ว พบว่า พื้นที่เสี่ยงอาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/62 แบ่งเป็น 1. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2561/62 เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งพิจารณาแล้วมีทั้งสิ้น 11 จังหวัด 27 อำเภอ 71 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และศรีสะเกษ

 

และ 2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมในช่วง 1 ม.ค. 61 ถึง 31 ต.ค. 61 น้อยกว่า 20% ของค่าเฉลี่ยรายภาค ยกเว้นพื้นที่ในเขตชลประทาน พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ลำปาง สุราษฎร์ธานี และหนองบัวลำภู

 

ขณะที่แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี2561/62 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ข้าวนาปรังปี 61/62 ประมาณ 8.3 ล้านไร่ ซึ่งได้มีการปรับลดพื้นที่ลงจากปี 60/61 จำนวน 4.5 แสนไร่ พืชไร่พืชผักอื่นๆ 6 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.7 ล้านไร่

 

ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน 5.6 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังปี 61/62 จำนวน 3.3 ล้านไร่ พืชไร่พืชผักอื่นๆ 1.4 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 แสนไร่ ซึ่งที่ประชุมรวมได้หารือแผนมาตรการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ พร้อมติดตามแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผลการเพาะปลูกพืชจริงตามแผนการจัดสรรน้ำ โดยแยกเป็นรายลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในวันที่ 19 พ.ย. 61 ต่อไป

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Rule Curve) สำหรับอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ใน 2 กรณี ได้แก่ 1) น้ำมาก น้ำปานกลาง และน้ำน้อย

 

และ 2) น้ำวิกฤต โดยให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป และวัตถุประสงค์ของการจัดสรรน้ำ ในรูปแบบเกณฑ์การควบคุมที่เหมาะสมตามสถานการณ์ และเกณฑ์การควบคุมตามสภาวะปกติ

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ล่าสุดขณะนี้ ยังคงมีฝนหนักในบางพื้นที่ ปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ 102.0 มม. อ.บางสะพานน้อย 58.5 มม.) อ.กงหรา จ.พัทลุง (99.0 มม.) อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช (84.0 มม.) และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร (58.0 มม.)

 

ส่วนในวันที่ 12-14 พ.ย. 61 ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคใต้จะลดลง พื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร ยังคงมีฝน แต่ปริมาณไม่มากนัก ส่วนทางภาคเหนือจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น สำหรับวันที่ 15-17 พ.ย. 61 ภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช แต่ปริมาณฝนไม่มากเหมือนช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนวันที่ 18-19 พ.ย. 61 อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนและลมแรง ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย คลื่นสูงประมาณ 2 ม.

 

ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ไม่มีระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (91%) น้ำไหลเข้าวันละ 4.11 ออก 2.59 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ (85%) น้ำไหลเข้าวันละ 11.64 ออก 2.41 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ สทนช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน กำกับ ติดตาม และเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตะวันตก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำปัตตานี พร้อมขุดคลองและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำต่างๆ รวมทั้ง กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรับมืออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ไว้แล้ว โดยติดตั้งบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง รถแทรกเตอร์/รถขุด 108 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าดำเนินการได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising