×

5 จังหวัดชายแดนใต้เตรียมเปิดด่านให้คนไทยในมาเลเซียกลับ 18 เม.ย. นี้ และกักตัวตามมาตรการ

โดย THE STANDARD TEAM
16.04.2020
  • LOADING...
จังหวัดชายแดนใต้เตรียมเปิดด่าน

เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษทางรายการ เรื่องดังหลังข่าว ทางช่อง NBT2HD ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างห่วงกังวลพอสมควร แต่สถานการณ์ค่อนข้างที่จะคลายความกังวลลงได้บ้าง 

 

ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมีจำนวนไม่มาก ไม่มีการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาพรวมในขณะนี้ ทุกส่วนทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด หน่วยงานด้านความมั่นคง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. เองก็ได้ร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนในการที่จะป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างจะผ่อนคลายลง

 

สำหรับตัวเลขของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียที่มีความเดือดร้อนและมีความประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนามีประมาณ 7,000 คน โดยได้ประสานกับภาคประชาสังคม รวมทั้งอาสาสมัครไทย และประธานกลุ่มผู้ประกอบการต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย ได้สำรวจตรวจสอบทุกพื้นที่

 

ในส่วนของการเปิดด่านเพื่อให้คนเริ่มทยอยเดินทางกลับมาในวันที่ 18 เมษายนนี้นั้น เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่าจะแบ่งออกเป็น 4 ช่องทาง ประกอบด้วย ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล จะเปิดให้คนเดินทางผ่านเข้าวันละประมาณ 50 คน, ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา วันละไม่เกิน 100 คน, ด่านเบตง จังหวัดยะลา วันละไม่เกิน 50 คน, ด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วันละ 100 คน รวมแล้ววันละไม่เกิน 300 คน โดยทางสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์ได้ออกหนังสือแจ้งและได้ประชาสัมพันธ์ตลอดวันว่าให้เริ่มลงทะเบียนหลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 เมษายน พร้อมทั้งมีการแนะนำเรื่องของการลงทะเบียนและข้อมูลเรื่องของการใช้เอกสารต่างๆ

 

ทั้งนี้ในส่วนฝั่งไทย ทางกระทรวงมหาดไทยก็มีหนังสือสั่งการทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมการสถานที่กักกันตัวตามมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอที่จะสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังประธานกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย เพื่อสำรวจกลุ่มคนที่ไม่ได้เดินทางกลับมา และได้มีมาตรการช่วยเหลือในลักษณะของถุงยังชีพอีกด้วย

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ได้เกิดโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณลงไปที่สภาสันติสุขของทุกตำบล เพื่อใช้งบประมาณในการเตรียมความพร้อมดูแลเรื่องของการยังชีพหรือครัวเคลื่อนที่เพื่อให้มีการผลิตอาหารและเกิดเศรษฐกิจฐานรากด้วยการหมุนเวียนและดูแลในเรื่องความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ เพื่อพึ่งพาตนเองสู่ความยั่งยืนได้ ซึ่งได้มีการสำรวจเรื่องขับเคลื่อนโครงการนี้คือการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยเฉพาะภาคเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จัดหาตลาด รวมทั้งเรื่องของการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงแหล่งน้ำ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X