วันนี้ (9 ตุลาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันอยู่ที่ 2,318 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้และส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำทะเลหนุนช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคมนี้ โดยในส่วนของการระบายน้ำยังคงที่ 2,199 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ได้มีการเตรียมการป้องกันพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันการเอ่อล้นเข้าพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน
“การระบายน้ำขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2554 ที่ระบายน้ำได้อยู่ที่ 3,703 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยังไม่มีความน่ากังวลใจ อีกทั้งในสัปดาห์นี้ที่ภาคเหนือและภาคกลาง มีปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ศปช. ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน” จิรายุกล่าว
จิรายุกล่าวถึงสถานการณ์ในภาคใต้ตอนบนว่า ใน 1-2 วันนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 100-140 มิลลิเมตร และหากมีฝนตกต่อเนื่อง ปริมาณฝนจะเกิน 200 มิลลิเมตร สะสมในพื้นที่ซึ่งจะมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ ขอให้ประชาชนฟังรายงานของ ศปช. และหน่วยงานราชการอื่นๆ อย่างใกล้ชิด
ขณะที่กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังในบริเวณภาคใต้ช่วงวันนี้ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคมนี้ โดยในพื้นที่ภาคใต้ได้เตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำจำนวน 552 เครื่อง, เครื่องผลักดันน้ำ 227 เครื่อง, รถบรรทุกน้ำ 44 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 277 หน่วย ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที
จิรายุกล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีประกาศเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่าและดินถล่ม ช่วงวันที่ 9-11 ตุลาคมนี้ ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้งและอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี, อำเภอหนองหญ้าปล้องและอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี และอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงอำเภอเบตง อำเภอธารโต และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
จิรายุกล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดบริการภาพรวมหลายจุดแล้ว และในบริเวณพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังก็ได้ติดป้ายแจ้งเตือน เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ส่วนของดินสไลด์และดินถล่มซ้ำซาก จะมีการเอาอุปกรณ์ไปประจำพื้นที่พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่จะเข้าไปเคลียร์ทางเพื่อช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงทำฐานข้อมูลจุดเสี่ยงดินโคลนถล่มเพื่อประสานให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนต่อไป
สำหรับการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีความคืบหน้ามาก วานนี้ (8 ตุลาคม) ภาพรวมดำเนินการแล้วเสร็จ 63% จากบ้านเรือนประชาชนทั้งสิ้น 753 หลัง ฟื้นฟูแล้ว 478 หลัง คาดว่าจะเสร็จสิ้นก่อนปลายเดือนตุลาคมนี้