×

เจาะปมไฟใต้ การกลับมาของยุทธวิธีสังหารพระในรอบ 3 ปี สะท้อนอะไร

22.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แม้ความถี่ของเหตุการณ์ รวมถึงผู้เสียชีวิตจะลดลง แต่เป้าหมายส่วนใหญ่กลับเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ถืออาวุธ
  • ช่วงปี พ.ศ. 2547-2558 มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ทำให้พระสงฆ์มรณภาพรวมกว่า 19 รูป ก่อนจะหายไปตั้งแต่ปี 2558 และกลับมาเกิดอีกครั้งในปี 2562
  • เป้าหมายของผู้ก่อเหตุคือความพยายามยกระดับเรื่อง ‘ปาตานี’ ให้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ขณะที่ยุทธศาสตร์รัฐไทยพยายามจำกัดให้เป็นปัญหาภายใน

เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นหมุดหมายที่ถูกยึดเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้’

 

จากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database-DSID) พบว่า ในระหว่างเดือนมกราคมปี 2547 ถึงเดือนเมษายน 2560 มีเหตุการณ์ความไม่สงบรวมทั้งสิ้น 19,279 เหตุการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต 6,544 ราย มีผู้บาดเจ็บ 12,963 ราย สรุปได้ว่าในรอบ 13 ปี ระหว่างปี 2547-2559 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 19,507 ราย

 

ภาครัฐทุ่มงบประมาณหลักหมื่นล้านบาทต่อปี นับถึงปี พ.ศ. 2561 รวมแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท (290,901.6 ล้านบาท) และตัวเลขที่ภาครัฐมักหยิบมานำเสนอคือสถิติความรุนแรง รวมถึงจำนวนการก่อเหตุและผู้เสียชีวิตที่ลดลง  

 

แต่ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database-DSID) พบว่า แม้ความถี่ของเหตุการณ์ รวมถึงตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะลดลง

 

แต่เป้าหมายของผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่กลับเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ถืออาวุธ (Soft Targets)

 

 

สถิติความรุนแรงของจังหวัดชายแดนใต้ในรอบ 13 ปี (2547-2559) พบว่า 61% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเป้าหมายที่อ่อน (Soft Targets) ส่วนทหาร ตำรวจ และกองกำลังติดอาวุธซึ่งเป็นเป้าหมายที่เข้มแข็ง (Hard Targets) บาดเจ็บและเสียชีวิต มีประมาณ 37% ส่วนที่เหลืออีก 2% นั้นไม่ชัดเจน

 

 

ส่วนพระสงฆ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายอ่อน (Soft Targets) แต่ส่งผลสะเทือนแรงต่อความรู้สึกของสังคมเมื่อเกิดความสูญเสีย

 

ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2558 มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ทำให้พระสงฆ์มรณภาพรวมกว่า 19 รูป ก่อนจะหายไปตั้งแต่ปี 2558 โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุสังหารพระถึงในวัดขึ้นอีก

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา คนร้ายกราดยิงพระในวัดรัตนานุภาพ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส พระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป ได้รับบาดเจ็บ 2 รูป

 

 

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD วิเคราะห์ว่า การกลับมาเลือกโจมตี ‘พระสงฆ์’ อีกครั้งหลังจากห่างหายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นการเลือกโจมตีเพื่อหวังสร้างผลสะเทือนทางการเมือง

 

รอมฎอน ขยายความต่อว่า ที่ผ่านมารัฐไทยมียุทธศาสตร์ในการจำกัดปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นปัญหาภายใน และพยายามลดบทบาทตัวแสดงระหว่างประเทศให้มากที่สุด

 

ขณะที่ฝั่งผู้ก่อเหตุตั้งแต่กลุ่มบีอาร์เอ็น จนถึงกลุ่มมาราปาตานี มีความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ มีการเสนอให้มีตัวแสดงอื่นในเวทีการพูดคุยที่ไม่ใช่ประเทศมาเลเซียเพื่อเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจ

 

เราไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุตั้งใจอะไร แต่สิ่งนี้ประเมินได้ว่าเป็นปฏิบัติการที่ตั้งใจละเมิดหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองและได้รับการประณามจากทุกฝ่าย แต่อาจวิเคราะห์ได้ว่าผู้ก่อเหตุต้องการแหกกฎเพื่อฝ่าวงล้อมยุทธศาสตร์ของรัฐไทย และต้องการให้ประเด็น ‘ปาตานี’ ได้รับการติดตามและมีปฏิกิริยาจากต่างประเทศ

 

 

รอมฎอน ตั้งข้อสังเกตที่น่ากังวลไว้ว่า โดยส่วนตัวไม่มีแหล่งข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุสังหารพระสงฆ์ล่าสุดคือใคร แต่จากการประเมินมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นขบวนการต่อสู้เรียกร้องเอกราชปาตานี

 

และการกลับมาอีกครั้งของยุทธวิธีสังหารพระสงฆ์ ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลว่า แนวทางการต่อสู้กับรัฐไทยแบบกองโจรที่เคยมีรูปแบบและวินัย ต่อไปเราอาจจะได้เจอรูปแบบที่ล้ำเส้นมากกว่านี้

 

 

ด้าน พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในช่วงนี้ว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่เข้าถึงทุกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตนเชื่อว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเปิดปฏิบัติการในการเปิดพื้นที่ป่าภูเขา โดยหน่วยทหารลาดตระเวนได้พบความเคลื่อนไหวและสถานที่พักพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมถึงได้จับยึดวัตถุระเบิดสายไฟและอาวุธปืนได้ ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลงมายังบริเวณพื้นที่หมู่บ้าน อีกทั้งการเปิดปฏิบัติการทำลายเครือข่ายยาเสพติดในชุมชนที่กวาดล้างยาเสพติดได้กว่าล้านเม็ด

 

ทั้งนี้ พลโท คงชีพ ระบุว่าปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นมาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเดิมๆ และเชื่อมโยงกับธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ อีกพอสมควร

 

อย่างไรก็ตามฝ่ายความมั่นคงได้เกาะติดกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ เชื่อว่าเป็นการทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ โดยเฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถือว่าเป็นเรื่องโหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรม ขอให้สังคมประณามการกระทำอย่างเปิดเผย และขอให้ยุติความรุนแรง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศร, งานวิจัยความขัดแย้งชายแดนใต้ในรอบ 13 ปี: ความซับซ้อนของสนามความรุนแรงและพลังของบทสนทนาสันติภาพปาตานี
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising