วันนี้ (19 ธันวาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) วาระพิจารณากระทู้ถามสด ษฐา ขาวขำ สส. นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ตั้งคำถามกรณีการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ต่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ษฐาถามว่า ตามที่มีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ นายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ และรัฐบาลอนุมัติงบประมาณเยียวยาผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท อย่างไรก็ตาม ประชาชนเกิดความสงสัย เนื่องจากในแต่ละจังหวัดมีลักษณะของพื้นที่แตกต่างกัน และระยะเวลาของน้ำท่วมขังที่ต่างกัน จึงขอถามว่ามีวิธีการช่วยให้ประชาชนผู้ประสบภัยเข้าถึงการเยียวยาอย่างทั่วถึงอย่างไร
ด้านอนุทินชี้แจงว่า หลังจากเห็นความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ตนเองจึงกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้อนุมัติกรอบวงเงินจากงบกลางกว่า 5 พันล้านบาท ในการเยียวยาผู้ประสบภัย ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนรับการเยียวยาแล้วเกิน 6.5 แสนครัวเรือน แม้จะเกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะสามารถขยายวงเงินได้
ส่วนระบบการลงทะเบียนที่ประชาชนบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงนั้น จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปสำรวจว่าประชาชนแต่ละพื้นที่มาลงทะเบียนแล้วหรือไม่ และสามารถบอกได้เลยว่าประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดทุกครัวเรือน เพราะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติและมีสถานการณ์น้ำท่วมมาแล้วเกิน 7 วัน จึงมีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน
นอกจากนี้การซ่อมแซมถนนและสะพานที่ได้รับความเสียหาย อนุทินระบุว่า อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. สำหรับพื้นที่ภาคใต้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ว สามารถใช้งบทดลองราชการ สามารถนำมาใช้ซ่อมแซมสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เสียหายจากน้ำท่วมได้เลยโดยไม่ต้องรองบประมาณในปีต่อไป ซึ่งขณะนี้ยืนยันได้ว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อยู่ระหว่างให้ อปท. สำรวจความเสียหาย และเสนอการช่วยเหลือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยในภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเองได้รับคำสั่งจากตนเองให้ดำเนินโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เพื่อตรวจสอบและทบทวนแบบก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบประมาณ 10 ล้านไร่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วมประมาณ 7.8 ล้านครัวเรือน รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะ และกำหนดมาตรการด้านผังเมือง เพื่อควบคุมความหนาแน่นของอาคารให้มีความแตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงภัย เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่รับน้ำ