×

ปิดฉากอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย จากพิษ ‘เจอ จ่าย จบ’ พร้อมบทเรียนครั้งสำคัญของแวดวงธุรกิจประกัน

โดย THE STANDARD TEAM
05.04.2022
  • LOADING...

นับเป็นข่าวสะเทือนวงการประกันภัยไทยไม่น้อย กับการจากไปของอาคเนย์ประกันภัยที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 76 ปี และไทยประกันภัย บริษัทประกันภัยแห่งแรกของไทยที่มีอายุถึง 84 ปี หลังถูกพิษวิกฤตโควิดเล่นงานจนสาหัส และถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากหน่วยงานกำกับ และต้องปิดตัวลงในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

 

southeast-insurance-and-thai-insurance

 

ย้อนรอย เจอ จ่าย จบ จุดเริ่มต้นของจุดจบ

เมื่อต้นปี 2563 หลังตรุษจีนหมาดๆ มีข่าวพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดครั้งแรกที่ประเทศจีน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นที่จับตาการแพร่ระบาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่พบผู้ติดเชื้อเช่นกัน หลังพบการระบาดในไทย ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและกังวล ภาครัฐเองก็ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมได้แน่นอน เพราะไม่ได้ติดต่อง่ายอย่างที่คิด และได้ขอความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์มาช่วยลดความกังวลใจและแบ่งเบาความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับประชาชน กรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ จึงถือกำเนิดขึ้นใน 16 บริษัทประกันวินาศภัยไทย ซึ่งได้คำนวณความเสี่ยงและประเมินเบี้ยตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว และผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับเช่นเดียวกับกรมธรรม์อื่นๆ ในท้องตลาด พร้อมออกขายให้ประชาชนด้วยราคาที่ลูกค้าทุกระดับเข้าถึงได้

 

southeast-insurance-and-thai-insurance

southeast-insurance-and-thai-insurance

 

จากช่วงแรกที่เชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมไม่ได้แพร่ระบาดง่ายมากนัก ประกอบกับประชาชนยังมีความตื่นกลัวการติดเชื้อและเคร่งครัดในการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อโควิดช่วงปลายปี 2563 แตะแค่วันละหลักสิบคน แต่หลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดอาการหนักน้อยลง ประชาชนบางส่วนเริ่มกังวลน้อยลง รวมทั้งยังมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในเดือนมิถุนายน 2564 แตะวันละกว่า 3,300 คน และสัญญาณการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไปในทางที่สูงขึ้น บริษัทประกันหลายแห่งจึงหยุดการขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ ทันที รวมทั้งอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัยด้วย แต่ก็ไม่ทำให้ภาระของบริษัทลดลง เพราะยังต้องแบกความคุ้มครองต่อเนื่องไปอีก 1 ปี ทั้งระหว่างทางได้เกิดมรสุมหลายลูกจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม อย่างในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งทะลุหลัก 20,000 คนต่อวัน และยังเผชิญมรสุมต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อนิวไฮ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่ใครๆ ก็หวั่นใจ

 

southeast-insurance-and-thai-insurance

 

จากมรสุมเดลตา ต่อเนื่องมาถึงยุคโอมิครอนที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อนิวไฮอย่างต่อเนื่องในต้นปี 2565 ด้วยสถิติผู้ติดเชื้อกว่า 20,000 คนต่อวัน ทั้งสองบริษัทมียอดเคลมพุ่งสู่หลักพันกรมธรรม์ต่อวันอีกครั้ง ทำให้ขาดสภาพคล่องแบบหมดทางรักษา ที่สำคัญยังอาจส่งผลกระทบถึงลูกค้ากรมธรรม์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ประกันภัยโควิดอีกกว่า 8 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งนับได้ว่ามากกว่ากรมธรรม์เจอ จ่าย จบ หลายเท่าตัว 

 

จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจไม่เพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น เพราะคาดการณ์ว่าต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลมาพยุงสถานะของบริษัท โดยประเมินจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่แม้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้เพิ่มเงินทุนเพื่อจ่ายสินไหมลูกค้ากว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับกรมธรรม์ที่ทั้งสองบริษัทแบกรับไว้ทั้งหมด 1.8 ล้านกรมธรรม์ โดยอาคเนย์ประกันภัยจ่ายสินไหมไปกว่า 10,101 ล้านบาท และไทยประกันภัยจ่ายไป 2,600 ล้านบาท รวม 166,179 กรมธรรม์ 

 

แม้จะมีอายุยาวนานในตลาด และครองส่วนแบ่งการตลาดที่มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ในที่สุดทั้งสองบริษัทจำต้องยื่นขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแบบสมัครใจกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้บริษัทสามารถดูแลลูกค้าทุกกลุ่มให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในขณะที่บริษัทยังมีความมั่นคงเพียงพอ แต่เส้นทางการยุติกิจการแบบสมัครใจนั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะคณะกรรมการ คปภ. จะอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ภายในระยะเวลาที่จำกัด เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสียให้ครบถ้วนตามมาตรา 57 นี่จึงกลายเป็นด่านหินที่ทั้งสองบริษัทต้องฝ่าฟัน

 

southeast-insurance-and-thai-insurance

 

ด่านแรก: เร่งคืนเบี้ย เจอ จ่าย จบ เต็มจำนวน 

เมื่อบริษัทต้องเคลียร์ความคุ้มครองที่มีอยู่ให้หมดก่อนยุติกิจการเพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ แต่กรมธรรม์โควิดเจอ จ่าย จบ จะโอนให้บริษัทใดก็คงไม่มีใครอ้าแขนรับ ประกอบกับบริษัทไม่สามารถยกเลิกกรมธรรม์โควิดเจอ จ่าย จบ ที่แบกรับไว้ถึง 1.8 ล้านกรมธรรม์ได้ด้วยตัวเอง บริษัทจึงต้องปรับวิธีการโดยเสนอคืนเบี้ยให้ลูกค้าเต็มจำนวนโดยสมัครใจในวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมให้เหตุผลว่าขอคืนเบี้ยในขณะที่บริษัทยังคงมีความมั่นคงเพียงพอจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยมีลูกค้าลงทะเบียนสำเร็จและได้รับเบี้ยคืนเต็มจำนวนกว่า 387,000 ราย แต่ก็ยังไม่ช่วยให้ภาระของความคุ้มครอง เจอ จ่าย จบ ทุเลาลง เพราะยังมีเหลืออยู่ถึง 1.4 ล้านกรมธรรม์

 

southeast-insurance-and-thai-insurance

 

ด่านสอง: โอนความคุ้มครองแบบไร้รอยต่อ 

หลังจาก คปภ. อนุมัติรายชื่อบริษัทประกันภัย 31 แห่งเพื่อโอนกรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด เช่น รถยนต์ อุบัติเหตุและสุขภาพ อัคคีภัยและทรัพย์สิน ฯลฯ ทั้งอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ก็ได้เร่งประสานกับบริษัทต่างๆ เพื่อดูความพร้อมของระบบและกำลังคนในการรับโอนพอร์ตที่มีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทจากบริษัทให้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมเงื่อนไขว่าลูกค้าจะต้องได้รับความคุ้มครองเทียบเท่าของเดิม เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุดและบริการแบบไร้รอยต่อได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วมีเพียง 3 บริษัทที่สามารถตอบรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ คือ ทิพยประกันภัย, แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ และอินทรประกันภัย 

 

จุดจบ เจ็บทุกฝ่าย

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทใหญ่ซึ่งมีแบ็กอัพแหล่งเงินทุนหนาและแข็งแกร่งมาก แต่เมื่อย้อนไปดูงบการเงินย้อนหลังและนำกำไรมารวมกัน กลับพบว่าทั้งสองบริษัทมีกำไรสะสมตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมารวมกันได้เพียง 2,000 ล้านบาท (หลังการจ่ายปันผล) แม้จะผ่านวิกฤตครั้งสำคัญมานักต่อนัก ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติตามธรรมชาติ รวมถึงอุบัติภัยหลายครั้ง ที่แต่ละครั้งมาพร้อมกับค่าสินไหมหลักพันล้าน แต่สุดท้ายวิกฤตโควิดที่รุนแรงอย่างไม่มีใครคาดคิด และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดทั้งสองบริษัทจึงจำใจต้องยกธงขาวอำลาวงการธุรกิจประกันภัยเพียงเท่านี้ พร้อมความเจ็บปวดจากทุกฝ่าย ทั้งเจ้าของ ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า และลูกค้า ปิดฉากบริษัทประกันภัยเก่าแก่ และกลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของแวดวงประกันภัยในประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X