×

มหาเศรษฐีต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยที่นำโดย ‘เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์’ กำลังลงทุนปั้นยูนิคอร์นต่างๆ มากมาย

19.10.2021
  • LOADING...
มหาเศรษฐี

ในปัจจุบันอัตราการดิสรัปชันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจไหนที่ไม่มีการปรับตัวต่างพากันล้มหายไปเป็นจำนวนมาก ในยุคแห่งการดิสรัปชันนี้เอง เหล่ามหาเศรษฐีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางรายกำลังส่งเสริมและทุ่มเงินลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ด้านเทคโนโลยี เพื่อหวังว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำให้พวกเขาได้ในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจเดิมกำลังพยายามรับมือกับผลกระทบของโรคระบาด ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการ และธุรกิจการผลิต

 

บริษัทโฮลดิ้งต่างๆ ของเจ้าสัวจากประเทศไทยอย่าง ธนินท์ เจียรวนนท์ ไปจนถึง แลนซ์ โกคงเว่ย ของฟิลิปปินส์ กำลังเข็นเงินหลายล้านดอลลาร์ทุ่มลงไปยังบริษัทที่มีอนาคต หรือจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับบริษัทร่วมทุนใน Silicon Valley กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ด้วยการลงทุนที่ล้นหลาม อาณาจักรธุรกิจห้างร้านแบบดั้งเดิมของเจ้าสัวเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไปสู่โลกใหม่อย่างอีคอมเมิร์ซ และการแปลงเป็นดิจิทัลมากขึ้นเป็นการปูทางสำหรับกระแสรายได้ใหม่ หลังจากถูกล็อกดาวน์และข้อจำกัดด้านการเดินทางนานหลายเดือน ซึ่งธุรกิจใหม่นี้จะให้ทายาทของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร ในบางกรณีผู้นำองค์กรอาจเป็นถึงทายาทรุ่นที่ 3 ที่ยังมีอายุน้อย

 

วิชาล ฮาร์นาล หุ้นส่วนผู้จัดการของ 500 Startups เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายแรกในบริษัทเรียกรถยักษ์ใหญ่อย่าง Grab และมาร์เก็ตเพลสออนไลน์อย่าง Carousell กล่าวว่า “มีกระแสเงินจากครอบครัวมหาเศรษฐีอีกมากมายเข้ามาลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้น หลังจากที่มีตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีมากมายประสบความสำเร็จให้เห็น รวมทั้งโรคระบาดก็เร่งการแข่งขันนั้นให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีกด้วย”

 

กลุ่มบริษัทซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายทศวรรษกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบาก เนื่องจากรัฐบาลยังคงต่อสู้เพื่อควบคุมการติดเชื้อโควิด เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียก็ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของปี 2021 ในภูมิภาคลงเหลือ 3.1% โดยกล่าวว่า “การเติบโตของเอเชียยังคงเปราะบางต่อการระบาดใหญ่อยู่”

 

แม้ว่าโควิดจะทำลายการท่องเที่ยวและการค้าปลีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภูมิภาคนี้ก็ถือเป็นภูมิภาคที่ตลาดอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่ง บริษัทร่วมทุนต่างๆ ทำสถิติมีจำนวนการร่วมทุนกันมากถึง 393 ดีลในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 โดยระดมทุนได้รวม 4.4 พันล้านดอลลาร์จากการลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามผลสำรวจแยกของ Cento Ventures

 

โดยบรรดาเจ้าสัวผู้นำในการแข่งขันลงทุน ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทไทยอายุ 100 ปี ประกอบไปด้วยธุรกิจอาหารเกษตรไปจนถึงการค้าปลีกและโทรคมนาคม ประธานอาวุโสของกลุ่มบริษัทคือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำอาณาจักรธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย

 

บริษัท CP Group ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นผู้นำการลงทุน Series C ในสตาร์ทอัพอย่างบริษัท Ascend Money ในเดือนกันยายน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทการเงินของ แจ็ค หม่า อย่าง Ant Group Co. ซึ่งร่วมกันสร้างยูนิคอร์นฟินเทคแห่งแรกของประเทศไทยด้วยมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 50 ล้านบาท เครือซีพียังได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในเดือนเดียวกัน เพื่อจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละกองทุนมีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.3 พันล้านบาท

 

เยว่จุนเจียง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ CP Group กล่าวว่า “CP Group ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ คลาวด์ และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ยุคทองของการเปลี่ยนแปลง โดยที่องค์กรต่างๆ กำลังอัปเกรดตัวเองด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ รวมถึงการระบาดใหญ่ได้เร่งให้สิ่งต่างๆ แปลงเป็นดิจิทัลมากขึ้น”

 

ทางด้านของอินโดนีเซีย บริษัทร่วมทุนอย่าง Intudo Ventures ระดมทุนได้ 115 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.8 พันล้านบาท เพื่อปิดกองทุนที่สามในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งนักลงทุนในกองทุนนี้ประกอบด้วยครอบครัวชาวอินโดนีเซียมากกว่า 30 ครอบครัว และกลุ่มบริษัทต่างๆ ในเครือ 

 

บริษัทการเงินอย่าง Plug and Play Tech Center เป็นบริษัทผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพ หรือบริษัทระยะเริ่มต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเคยสนับสนุนและลงทุนในยูนิคอร์นมากกว่า 20 ราย รวมถึง Google Inc. และ PayPal Holdings, Inc. โดย Plug and Play Tech Center ได้ลงนามในพันธมิตรมากกว่า 12 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุกิจที่ควบคุมโดยครอบครัวมหาเศรษฐี ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัทก่อสร้าง ไปจนถึงบริษัทพลังงานของฟิลิปปินส์อย่าง Aboitiz Power Corp. ในฟิลิปปินส์, CP Group ของไทย และ Astra International ของอินโดนีเซีย

 

แม้ว่าการประเมินมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอาจดูน่าดึงดูดใจ แต่กลุ่มบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงบางอย่างเมื่อพวกเขาต้องปรับเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยบริษัทเทคโนโลยีในระยะแรกๆ มักจะเผาผลาญเงินสดจำนวนมากก่อนที่จะแสดงสัญญาณของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในธุรกิจ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ยังต้องการการสนับสนุนและคำแนะนำมากกว่าบริษัทแบบดั้งเดิม นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทเหล่านี้ยังต้องดิ้นรนกับการแข่งขันของนักลงทุนที่มีกระเป๋าเงินที่ใหญ่กว่าและมีประสบการณ์ที่ยาวนานกว่าอย่างกองทุนเพื่อความมั่งคงและกองทุนร่วมลงทุนต่างๆ 

 

แต่ธุรกิจครอบครัวมหาเศรษฐีจำนวนมากก็ไม่สะทกสะท้านกับความท้าทายเหล่านี้ บางคนได้เริ่มโครงการนำร่องกับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีไปแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อลงทุนในบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต รวมถึงพวกเขากำลังเดินหน้าทำข้อตกลงและความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบอัตโนมัติในการผลิต ไปจนถึงนวัตกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงฟินเทค เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และยานยนต์ไฟฟ้า

 

ชอว์น เดห์ปานาห์ รองประธานบริหารของ Plug and Play และหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมองค์กรและการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “พวกเขากำลังประเมินสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา เช่น โรคระบาด และพวกเขาต้องการพัฒนาแนวคิดใหม่เพื่อความอยู่รอด บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นฟันเฟืองที่เร่งความเร็วการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในหมู่สตาร์ทอัพ ณ ตอนนี้”

 

แม้แต่บริษัทน้ำมันและก๊าซที่รัฐเป็นเจ้าของของประเทศไทยอย่างบริษัท ปตท. ก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นกัน ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท Plug and Play และในเดือนนี้ และหนึ่งในหน่วยงานของบริษัทได้ร่วมมือกับกองทุน 500 Startups เพื่อจัดตั้งกองทุนมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ หรือ 836 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจระยะเริ่มต้นในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถช่วยให้กลุ่มบริษัทต่างๆ ขยายธุรกิจของตนเองได้

 

กลุ่มซีพี ทรู คอร์ป ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับ 2 ของไทย ทุ่มเงิน 17 ล้านดอลลาร์ หรือ 568 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์รวมบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Park ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่ตั้งของกิจการร่วมค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่าง Google และ Mitsubishi Corp. เช่นกัน

 

Tech Park นี้ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจาก Silicon Valley มีการตกแต่งพื้นที่ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาและความบันเทิงต่างๆ รวมถึงยังมีพื้นที่สำหรับนำเสนอธุรกิจเพื่อระดมเงินทุนอีกด้วย คาดว่าจะขยายตัวในปีหน้า

 

การลงทุนดังกล่าวจะช่วยเร่งวงจรของนวัตกรรมและสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีในตลาดกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย กล่าวโดย วินนี ลอเรีย หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง Golden Gate Ventures ในสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทร่วมทุนซึ่งเป็นหุ้นส่วนของทรู ดิจิทัล พาร์คในกรุงเทพฯ และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันรู้สึกประทับใจมากที่ได้พบปะกับผู้นำของครอบครัวมหาเศรษฐีชาวไทย พวกเขากำลังมาถูกทางแล้ว และกำลังถามคำถามที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีสร้างและขยายธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี”

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X