ในยุคความปกติใหม่ หรือ New Normal นี้ หลายคนเริ่มมีการปรับตัวและเปิดใจใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้นอย่างการช้อปปิ้งออนไลน์และการชำระเงินออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนั้นการปรับตัวนี้ยังถูกเร่งปฏิกิริยาด้วยการมาของโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานและหนักขึ้นเรื่อยๆ เป็นระลอก โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังทำการล็อกดาวน์อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีความไม่ปลอดภัยอย่างมากที่จะออกไปซื้อของนอกบ้านด้วยตัวเอง
จากการปรับตัวเข้าสู่ New Normal ที่มากขึ้นนี้ ทำให้ Facebook และ Bain จับมือกันสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้คนจำนวน 16,000 คนใน 6 ประเทศอย่าง ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยประมาณการออกมาได้ว่า ตั้งแต่ที่มีการเริ่มต้นระบาดของโควิดที่ผ่านมา มีจำนวนนักช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคาดการณ์ว่าจำนวนของนักช้อปออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 350 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายไปถึง 380 ล้านคนในปี 2026
รวมถึงยังวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในปีนี้จะมีสัดส่วนผู้คนที่มีอายุเริ่มต้นตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมากถึง 70% ใช้งานช้อปปิ้งออนไลน์ใน 6 ประเทศที่ทำการสำรวจ ทั้งยังเสริมว่าประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้รวดเร็วมากที่สุด โดยคาดว่าจะมีนักช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จาก 144 ล้านคนในปี 2020 เป็น 165 ล้านคนในปี 2021
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่า ‘ส่วนใหญ่แล้วจะช้อปปิ้งทางออนไลน์เป็นหลัก’ เพิ่มขึ้นจาก 33% ในปี 2020 เป็น 45% ในปีนี้ โดยคำตอบส่วนมากจะมาจากทางสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ในด้านค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของการช้อปปิ้งออนไลน์ เพิ่มขึ้นถึง 60% จาก 238 ดอลลาร์ต่อคน (ราวๆ 7,911 บาท) ในปี 2020 เป็น 381 ดอลลาร์ต่อคน (ราว 12,664 บาท) ในปีนี้ นอกจากข้อมูลของนักช้อปแล้ว ยังให้ข้อมูลของฝั่งร้านค้าปลีกออนไลน์อีกว่า จากส่วนแบ่งตลาดร้านค้าทั้งหมด (นับรวมร้านแบบดั้งเดิมที่มีหน้าร้านให้จับต้องสินค้าจริงได้ หรือ Brick and Mortar) โดยร้านค้าออนไลน์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปีที่แล้ว เป็น 9% ในปีนี้
โดยตัวเลขเหล่านี้ถือว่าเติบโตไวกว่าจีน อินเดีย และบราซิล อีกด้วย โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอัตราการเติบโตเทียบเท่าประเทศเหล่านี้ได้ โดยมีอัตราเติบโต 14% ต่อปี โดยไม่ต้องพึ่งผลกระทบจากโควิด
การเติบโตอย่างรวดเร็วของการช้อปปิ้งออนไลน์ ส่งผลให้การใช้งานบริการด้านการเงินออนไลน์ (Fintech Services) เติบโตตามไปด้วยกัน อย่างบริการ ‘ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง’ หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี ก็ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า มีจำนวนคนถึง 37% ที่ตอบว่าสะดวกใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลในการชำระเงินมากที่สุด และคนอีกจำนวน 28% สะดวกใช้เงินสด 19% สะดวกใช้บัตรเดบิตและเครดิต และอีก 15% สะดวกชำระเงินโดยการโอนผ่านธนาคาร ซึ่งการเติบโตเหล่านี้จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งจากการเติบโตเหล่านี้ และกำแพงการควบคุมจากทางภาครัฐเองที่ลดลง ทำให้เงินลงทุนของภาคเอกชนและการร่วมทุนหลั่งไหลเข้ามาสู่ภาคเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตถึง 88% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี และโดยเฉพาะภาคส่วนผู้ให้บริการด้านการเงิน หรือ Fintech มีสัดส่วนเงินลงทุนถึง 56%
อ้างอิง: