×

เกาหลีใต้ทุบสถิติเกิดต่ำสุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เหตุสภาพสังคมกดดันผู้หญิงมีลูกช้าลง

โดย THE STANDARD TEAM
27.08.2022
  • LOADING...
การมีลูก

เกาหลีใต้ทำสถิติอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลกอีกครั้งในปีที่แล้ว แม้รัฐบาลจะพยายามอย่างหนักที่จะทำให้แนวโน้มการเกิดของประชากรที่ลดลงต่อเนื่องมานานหลายปีพลิกกลับมาดีดตัวขึ้นก็ตาม

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า อัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์หนึ่งคน ลดลงเหลือ 0.81 ในปี 2021 ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้า 0.03% และเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันที่ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลง 

 

เทียบกับประเทศหรือภูมิภาคอื่นของโลก ในปี 2021 อัตราการเจริญพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1.6 และอยู่ที่ 1.3 ในญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศในแอฟริกาที่มีอัตราการเจริญพันธุ์สูงที่สุดในโลกนั้น ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 5 หรือ 6 ทั้งนี้ การรักษาจำนวนประชากรให้คงที่ ประเทศหนึ่งๆ จะต้องมีอัตราเจริญพันธุ์ที่ 2.1 และหากตัวเลขสูงกว่านั้นจะหมายถึงการเพิ่มขึ้นของประชากร

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนทารกแรกเกิดในเกาหลีใต้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 แสนคน ลดลง 4.3% จากปีก่อนหน้า ตามข้อมูลสำมะโนประชากรของเกาหลีใต้ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ของประเทศลดลงต่ำกว่า 3 แสนคน

 

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วในหลายๆ ประเทศที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่และอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง โดยอัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 และในปี 2020 อัตราการเสียชีวิตในเกาหลีใต้แซงหน้าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรก ซึ่งบ่งชี้ถึงจำนวนประชากรที่ลดลง 

 

สถิติแสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้หญิงเกาหลีใต้มีลูกช้าลง โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่ให้กำเนิดบุตรในปี 2021 อยู่ที่ 33.4 ปี เพิ่มขึ้น 0.2 ปีจากปีก่อนหน้า 

 

ในขณะเดียวกันประชากรของเกาหลีใต้ยังมีอายุเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งบ่งชี้ถึงการลดลงของจำนวนประชากรเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงจะทำให้ประเทศไม่มีกำลังมากพอที่จะมาช่วยสนับสนุนกลุ่มประชากรสูงอายุที่กำลังขยายตัว ทั้งในแง่ของการจ่ายภาษีและการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ และบริการช่วยเหลือฉุกเฉินภายในบ้าน

 

ณ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีอยู่ 16.8% ในขณะที่ประชากรอายุ 14 ปีหรือต่ำกว่า มีอยู่เพียง 11.8% 

 

สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเกาหลีใต้ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ระหว่างปี 2020 และ 2021 ในขณะที่ประชากรวัยทำงานหรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี ลดลง 0.9% ระหว่างปี 2020 และ 2021

 

ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ปัจจัยที่ทำให้การเกิดลดลงนั้นพบว่าคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่เรียกร้องให้คนทำงานหนัก ค่าจ้างที่หยุดนิ่ง ค่าครองชีพแพงขึ้น หรือราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้น

 

ผู้หญิงเกาหลีใต้หลายคนบอกว่า พวกเธอไม่มีเวลา ไม่มีเงิน หรือไม่มีอารมณ์ที่จะออกเดต เพราะพวกเธอให้ความสำคัญกับอาชีพการงานมาเป็นอันดับแรก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีการแข่งขันสูง โดยผู้หญิงเกาหลีใต้มักเผชิญกับวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่และความไม่เท่าเทียมทางเพศ 

 

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกมาตรการหลายมาตรการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้บิดาและมารดาลางานได้พร้อมกันเพื่อช่วยกันเลี้ยงดูบุตร และขยายสิทธิวันลาสำหรับบิดาโดยได้รับค่าจ้าง (Paid Paternal Leave) นอกจากนี้ยังมีการออกแคมเปญรณรงค์ให้ผู้ชายมีบทบาทในการเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้านมากขึ้น อีกทั้งในบางพื้นที่ของประเทศยังมีการแจกคูปองสำหรับลูกคนใหม่ เพื่อสนับสนุนการมีบุตรเพิ่มอีกด้วย

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X