จากกรณีที่มีข่าวรายงานถึงแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีองค์การระหว่างประเทศแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าวนั้น ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ในหลักการแล้ว รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนให้คนไทยเดินทางไปทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้วีซ่าผิดประเภท เพราะจะทำให้แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ รวมทั้งความยากลำบากในการดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุต่อว่า ไทยได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยรัฐบาลไทยต้องการให้คนไทยเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้องผ่านระบบ EPS (Employment Permit System) โดยที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยใช้กฎหมายสกัดกั้นไม่ให้คนไทยลักลอบเดินทางไปทำงานตั้งแต่ต้นทางที่ประเทศไทย รวมทั้งมีการปราบปรามเว็บไซต์ จำนวนกว่า 50 เว็บไซต์ ที่ล่อลวงคนไทยไปทำงาน อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ไม่ให้คนไทยไปทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการให้คนไทยได้เดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ในรูปแบบแรงงานตามฤดูกาล (Seasonal Workers) ซึ่งจะทำให้ทางการของทั้งสองประเทศบริหารจัดการแรงงานได้อย่างดี โดยใช้แนวทางเช่นเดียวกับกลุ่มคนงานไทยเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์อีกด้วย
ธานีระบุว่าการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสองประเทศในการคัดกรองคนที่จะเดินทางไปทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีการยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่องโหว่ให้คนไทยลักลอบไปทำงานได้ และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศสกัดกั้นการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ ก็มักจะเกิดกระแสความไม่พอใจของผู้เดินทาง
ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกนโยบายให้แรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้รายงานตัวกลับประเทศต้นทางโดยสมัครใจ ในปี 2561-2562 และปี 2562-2563 โดยล่าสุด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงตุลาคม 2563 มีแรงงานไทยผิดกฎหมายรายงานตัว และเดินทางกลับไทยแล้วประมาณ 10,060 คน
ก่อนหน้านี้ มูลนิธิ Thomson Reuters เผยข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2015 มีแรงงานชาวไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้อย่างน้อย 522 คน โดยเสียชีวิตสูงสุดในปีนี้ถึง 122 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 84% นั้นเป็นแรงงานเถื่อนที่ไร้เอกสาร และ 4 ใน 10 ของแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่เสียชีวิตนั้นถูกบันทึกว่า ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่เหลือพบว่า เสียชีวิตจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ หรือการฆ่าตัวตาย โดยข้อมูลดังกล่าวได้จากสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโซล ผ่านการยื่นคำร้องตามหลักเสรีภาพในการร้องขอข้อมูล
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า ในช่วงปี 2015-2018 มีแรงงานชาวไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้ 283 คน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ
ข้อมูลการเสียชีวิตของกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยในเกาหลีใต้ ทำให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) แสดงความกังวล และกำลังติดตามตรวจสอบสถานการณ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการสืบสวนชะตากรรมของแรงงานผิดกฎหมายกลุ่มนี้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: