×

บทสรุปการเมืองร้อนเขย่าประชาธิปไตยเกาหลีใต้

04.12.2024
  • LOADING...
เกาหลีใต้

ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล ช็อกคนเกาหลีใต้ทั้งประเทศและผู้คนทั่วโลกด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในช่วงกลางดึกวันที่ 3 ธันวาคม จนเกิดความกังวลว่าจะสะเทือนระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้

 

แต่ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา รัฐสภาเกาหลีใต้ประชุมฉุกเฉินและลงมติยกเลิกประกาศของประธานาธิบดี ทำให้สถานการณ์ดูเหมือนจะกลับคืนสู่ความปกติอีกครั้ง

 

ล่าสุดยุนถอนประกาศของตัวเองแล้ว หลังถูกกดดัน ขณะที่ฝ่ายค้านเดินหน้ากระบวนการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง

 

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นศึกการเมืองภายในที่ดุเดือด ขณะเดียวกันก็สะท้อนรากฐานประชาธิปไตยอันแข็งแกร่งด้วย

 

และนี่คือบทสรุปเหตุการณ์วุ่นวายและบททดสอบที่ท้าทายประชาธิปไตยเกาหลีใต้มากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980

 

ทำไมยุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึก

 

ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมือง ยุนซอกยอล วัย 63 ปี ประกาศกฎอัยการศึกในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 45 ปี มีการเคลื่อนกำลังตำรวจและทหารออกมารักษาความสงบเรียบร้อย และวางกำลังรอบรัฐสภาในกรุงโซล จนมีผู้ประท้วงออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจเป็นจำนวนมาก

 

ในการแถลงออกอากาศผ่านโทรทัศน์ทั่วประเทศ ยุนอ้างเหตุผลการประกาศกฎอัยการศึกว่า เพื่อปกป้องประเทศจาก ‘ภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ’ ซึ่งในตอนแรกทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือจริงๆ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย

 

แต่ต่อมาก็มีความชัดเจนว่า การตัดสินใจของยุนเป็นเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ เพื่อตอบโต้หรือกำราบฝ่ายค้าน

 

พรรค People Power Party ของยุนแพ้การเลือกตั้งทั่วไปให้กับพรรค Democratic Party เมื่อต้นปี ทำให้สูญเสียเสียงข้างมากในสภา และทำให้ยุนผลักดันกฎหมายและนโยบายต่างๆ ได้อย่างยากลำบาก

 

นอกจากนี้ฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในสภายังคัดค้านร่างงบประมาณที่รัฐบาลเสนอ แถมยังพยายามตัดลดรายจ่ายลง ซึ่งยุนไม่เห็นด้วย นักวิเคราะห์มองว่า เมื่อยุนถูกบีบจนไม่มีทางออก จึงตัดสินใจเลือกใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นแท็กติกในการป้องกันการถูกโจมตีทางการเมือง

 

ซึ่งก็ชัดเจนว่าการตัดสินใจของยุนถูกต่อต้านจากคนรอบข้าง แม้แต่คนในพรรคของเขาเองด้วย ไม่นานหลังจากประกาศกฎอัยการศึก บรรดาสมาชิกรัฐสภาก็โหวตคว่ำด้วยจำนวน สส. 190 คนที่เดินทางมาสภาจากทั้งหมด 300 คน หนึ่งในนั้นคือ ฮันดงฮุน หัวหน้าพรรค People Power Party ที่เป็นพรรคของยุนเอง

 

และหลังจากที่ประธานสภาประกาศว่ากฎอัยการศึกของประธานาธิบดีถูกยกเลิกก็มีรายงานว่าทหารได้ถอนกำลังออกจากรัฐสภา ท่ามกลางความยินดีของประชาชน

 

จากนั้นในไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ยุนตัดสินใจยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกของตัวเอง ท่ามกลางแรงกดดันจากประชาชนในประเทศให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

 

ทั้งนี้ กฎอัยการศึกเป็นกฎชั่วคราวที่ออกโดยทหารในยามฉุกเฉิน หากรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ประกาศกฎดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1979 ในเหตุการณ์ที่ พัคจองฮี ผู้นำเผด็จการถูกลอบสังหาร และเกาหลีใต้ก็ไม่เคยประกาศกฎอัยการศึกอีกเลยนับตั้งแต่ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปี 1987

 

มรสุมเรื่องฉาวถาโถม

 

นอกจากอุปสรรคในการบริหารประเทศแล้ว ยุนยังเผชิญข่าวอื้อฉาว ซึ่งส่วนใหญ่พัวพันกับ คิมกอนฮี ภรรยาของเขา ในข้อกล่าวหาทุจริต โดยก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านมีความพยายามยื่นถอดถอนบุคคลในรัฐบาลหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหน่วยงานตรวจสอบรัฐบาล เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ล้มเหลวในการตรวจสอบสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง

 

“ไม่คิดว่าจะได้เห็นเหตุการณ์แบบนี้ในเกาหลีในศตวรรษที่ 21”

 

อีจุนซัง นักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงโซล เผยกับ BBC ว่า เขารู้สึกโล่งใจที่รัฐสภาผ่านกฎหมายขัดขวางกฎอัยการศึก แต่ก็กังวลว่ามันยังไม่จบเพียงเท่านี้

 

“ประชาชนเกาหลีใต้ทุกคนต่างจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงกังวล นี่คือสถานการณ์เร่งด่วน” จุนซังกล่าว เขาเชื่อว่าอีกเหตุผลที่ยุนซอกยอลประกาศกฎอัยการศึกอาจเป็นเพราะกระแสกดดันจากกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาประท้วงต่อต้านเขามากขึ้น

 

ส่วน ฮงจูเย นักศึกษาอีกคน เผยว่า การประกาศกฎอัยการศึกเป็นสิ่งที่เขาคาดไม่ถึงมาก่อนว่าจะได้เห็นในศตวรรษที่ 21 ในเกาหลีใต้

 

ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์อีกหลายคนที่ไม่ระบุชื่อบอกว่า ประธานาธิบดีพยายามที่จะจำกัดเสรีภาพและสิทธิในการแสดงออกถึงความไม่พอใจในรัฐบาลของพวกเขา และมีบางคนวิตกว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นเกาหลีเหนือ

 

ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ยังเข้มแข็ง

 

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนมองว่า บทสรุปของเหตุการณ์นี้สะท้อนว่ากลไกระบบรัฐสภาเกาหลีใต้ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยที่กองทัพไม่สามารถแทรกแซงได้ ซึ่งหลังจากที่รัฐสภาโหวตยกเลิกกฎอัยการศึก แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งผลต่อประกาศกฤษฎีกาของประธานาธิบดีแค่ไหน แต่ทหารก็ถอนกำลังออกไปโดยที่ไม่มีเหตุนองเลือดรุนแรง

 

ขณะที่ รศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ไม่ใช่การรัฐประหารโดยกองทัพ แต่เป็นการลุอำนาจของประธานาธิบดีที่กำลังเผชิญปัญหาคอร์รัปชันและคะแนนนิยมตกต่ำ จึงฉวยโอกาสใช้การประกาศกฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือหวังว่าจะปราบฝ่ายค้าน

 

“แต่ประชาธิปไตยเกาหลีเดินทางมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปง่ายๆ แล้ว” รศ. ดร.ประจักษ์ ระบุ

 

อนาคตของยุนซอกยอล

 

ตอนนี้มีคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับยุนซอกยอลหลังจากนี้

 

อิมโซจิน ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันนานาชาติว่าด้วยเกาหลีศึกษาแห่ง University of Central Lancashire ในสหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า กระแสความไม่พอใจของประชาชน รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ อาจนำไปสู่การยื่นถอดถอนยุนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

 

“นี่เป็นการตัดสินใจที่สุดโต่งอย่างมากของยุน ฉันคิดว่านี่เป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับเขา ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในหมู่ประชาชนในเกาหลีใต้ และอาจนำไปสู่การยื่นถอดถอนประธานาธิบดีให้พ้นจากตำแหน่ง” อิมให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera

 

ล่าสุดพรรคฝ่ายค้านยืนยันว่าจะเริ่มกระบวนการยื่นถอดถอนยุนซอกยอลออกจากตำแหน่ง

 

ขณะที่สหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของประเทศประกาศนัดผละงานประท้วงจนกว่ายุนจะลาออก

 

ตอนนี้เส้นทางการเมืองยุนซอกยอลดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว

 

ภาพ: Jung Yeon Je / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X