×

ค่าแรงขั้นต่ำเกาหลีใต้ใกล้แซงหน้าญี่ปุ่น หลังรัฐบาลเตรียมปรับเพิ่มอีก 2.5% เป็น 9,860 วอน หรือ 265 บาทต่อชั่วโมง

20.07.2023
  • LOADING...
ค่าแรงขั้นต่ำ

ค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้กำลังจะแซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว หลังรัฐบาลแดนโสมขาวเตรียมประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 2.5% เป็น 9,860 วอน หรือ 7.80 ดอลลาร์ (265 บาท) ต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเป็นค่าเงินเยนจะเทียบเท่ากับ 1,086 เยน สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1,072 เยนต่อชั่วโมง

 

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ากระทรวงการจ้างงานและแรงงานของเกาหลีใต้จะมีการประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากตัวแทนในฝั่งลูกจ้าง นายจ้าง และฝ่ายบริหารได้ใช้เวลาหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันนานถึง 109 วัน 

 

ในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา สหภาพแรงงานเกาหลีใต้เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 12,210 วอนต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อนหน้า โดยให้เหตุผลเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขณะที่ฝ่ายบริหารต้องการตรึงค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้ที่ระดับเดิมคือ 9,820 วอนต่อชั่วโมง โดยในท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถตกลงกันได้ที่ตัวเลข 9,860 วอนต่อชั่วโมง

 

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2024 ที่ระดับ 2.5% ของเกาหลีใต้ถือว่าเป็นระดับที่มีความแรงไม่มากหากเทียบกับในปีก่อนหน้า ที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้นถึง 5% ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มชะลอตัวลง และจุดยืนของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดียุนซอกยอล ที่ค่อนข้างโปรภาคธุรกิจ หรือสนับสนุนภาคธุรกิจ 

 

สำนักข่าว Nikkei ระบุว่า เงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมของเกาหลีใต้ดีดตัวกลับมาอยู่ในระดับสูงที่ 6.3% หลังจากลดลงสู่ระดับ 2.7% ในเดือนมิถุนายน โดยราคาของสินค้าและบริการ เช่น อาหาร และสาธารณูปโภคยังปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ก่อนหน้านี้ค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลีใต้มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 42% ในช่วง 5 ปีที่รัฐบาลของประธานาธิบดีมุนแจอิน ซึ่งมีนโยบายโปรแรงงาน หรือสนับสนุนภาคแรงงาน ทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ 

 

ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารจำนวนมากในเกาหลีใต้ต้องปรับตัวตาม โดยลดจำนวนการจ้างพนักงานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แท็บเล็ตสั่งอาหาร และหุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟอาหารเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising