×

‘ตกงาน ยากไร้ ไม่มีกิน’ ภาพสะท้อนปรากฏการณ์ ‘โกดกซา-ตายอย่างโดดเดี่ยว’ ของชาวเกาหลีใต้

20.12.2022
  • LOADING...
ตายอย่างโดดเดี่ยว

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้ เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ชี้ให้เห็นถึงปัญหาอันน่าสลดใจที่เรียกว่า ‘โกดกซา (Godoksa)’ หรือการ ‘เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว’ ของประชากรจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นชายวัยกลางคนหรือสูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง ไร้ซึ่งครอบครัวหรือญาติพี่น้อง

 

ต้นเหตุการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนี้เป็นเพราะอะไร และทำไมมันจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลโสมขาวต้องเร่งหาทางแก้ไข ถึงขั้นออกกฎหมายมาเพื่อหาทางป้องกันและจัดการอย่างจริงจัง 

 

ชีวิตที่เดียวดาย

 

  • ในรายงานที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธ (14 ธันวาคม) ระบุจำนวนประชากรเกาหลีใต้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในปี 2021 มีมากถึง 3,378 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2017 เกือบ 1,000 คน

 

  • ตามกฎหมายเกาหลีใต้ระบุว่า การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว คือการที่บุคคลซึ่งใช้ชีวิตเพียงคนเดียวโดยตัดขาดจากครอบครัวหรือญาติพี่น้อง เสียชีวิตเนื่องจากการฆ่าตัวตายหรือล้มป่วย โดยที่ศพถูกพบหลังจาก ‘ผ่านไประยะหนึ่ง’

 

  • ผู้เสียชีวิตแบบโกดกซา แม้จะพบได้ในหลายกลุ่มประชากร แต่ข้อมูลในรายงานบ่งชี้ว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นชายวัยกลางคนหรือสูงอายุที่เสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น

 

  • จำนวนของผู้ชายที่ต้องทนทุกข์กับการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในปี 2021 นั้นอยู่ที่ 5.3 เท่าของผู้หญิง หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปีก่อนหน้านี้

 

  • ผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในปีที่แล้วกว่า 60% เป็นประชากรในช่วงอายุ 50 และ 60 ปี ขณะที่ประชากรช่วงอายุ 40 และ 70 ปีก็พบจำนวนมากเช่นกัน ส่วนประชากรในวัย 20 และ 30 ปีพบประมาณ 6-8%

 

  • ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาสำคัญ และได้รับความสนใจในระดับประเทศช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแม้รายงานไม่ได้ระบุสาเหตุแน่ชัดของการที่มีประชากรเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มดังกล่าว พบว่ามีทั้งวิกฤตการณ์ด้านประชากร ช่องว่างในสวัสดิการสังคม ความยากจน และความโดดเดี่ยวทางสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด

 

  • ขณะที่รัฐบาลโสมขาวได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและจัดการการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว (Lonely Death Prevention and Management Act) ในปีที่แล้ว โดยกำหนดให้มีการปรับปรุงเนื้อหาทุกๆ 5 ปี เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบายที่จะป้องกันการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

 

  • “ในการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย จำเป็นที่จะต้องรับมือกับการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอย่างจริงจัง” องค์กรวิจัยด้านกฎหมายของเกาหลีใต้ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ และเสริมว่า “รัฐบาลนั้นให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผู้ที่โดดเดี่ยวหรือแยกตัวจากสังคม”

 

ไม้ใกล้ฝั่งที่ยากจน

 

  • เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงญี่ปุ่นและจีน ที่กำลังเผชิญกับภาวะประชากรลดลง 

 

  • ตัวเลขประชากรเกาหลีใต้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนั้นเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง และประชาชนจำนวนไม่น้อยมีบุตรในช่วงที่อายุเริ่มมาก

 

  • อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2015 โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษหลายปัจจัย เช่น วัฒนธรรมการทำงานหนัก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรายได้ที่ไม่พอใช้ ทำให้ประชาชนไม่อยากมีลูก

 

  • ขณะเดียวกัน ประชากรวัยแรงงานที่ลดลงส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะไม่มีแรงงานเพียงพอสำหรับรองรับหรือดูแลประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานในสาขาที่จำเป็น เช่น ด้านการดูแลสุขภาพและการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

 

  • ผลที่ตามมาบางอย่างจากปัญหาเหล่านี้ ทำให้ผู้สูงอายุหลายล้านคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยตนเอง

 

  • จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) พบว่าในปี 2016 มีประชากรเกาหลีใต้กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี เกิน 43% ที่ถูกจัดให้อยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นผู้ยากไร้

 

  • โดยชีวิตของชาวเกาหลีใต้ในวัยกลางคนและโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะยิ่ง ‘แย่ลงอย่างรวดเร็ว’ หากพวกเขาถูกกีดกันจากตลาดแรงงานและไร้ที่อยู่อาศัย

ซึ่ง ซงอินจู นักวิจัยอาวุโสของศูนย์สวัสดิการแห่งกรุงโซล (Seoul Welfare Center) ผู้ทำการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโกดกซาเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่านี่คือ “สาเหตุหลักของการตายอย่างโดดเดี่ยว” 

 

  • ในงานวิจัยของเขา มีการศึกษาวิเคราะห์กรณีการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 9 กรณี และสัมภาษณ์เชิงลึกกับเพื่อนบ้าน เจ้าของบ้าน และพนักงานเจ้าของคดี

 

  • กรณีหนึ่งที่ระบุในงานวิจัย คือแรงงานชายวัย 64 ปีที่เสียชีวิตจากโรคตับอันเนื่องจากแอลกอฮอล์ ภายหลังตกงานเพราะความพิการได้ 1 ปี โดยเขาไม่มีการศึกษา ครอบครัว หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ

 

  • อีกกรณีหนึ่ง เป็นหญิงวัย 88 ปีที่ประสบปัญหาทางการเงินหลังลูกชายของเธอเสียชีวิต โดยเธอเสียชีวิตภายหลังศูนย์สงเคราะห์คนชราที่เธอเข้าร่วมซึ่งแจกอาหารฟรี ปิดทำการไปตั้งแต่เกิดโควิดระบาด

 

  • “ความยากลำบากที่แสดงออกมาก่อนเสียชีวิต โดยผู้ที่เสี่ยงจะเสียชีวิตเพียงลำพัง มีทั้งปัญหาสุขภาพ ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ การขาดการติดต่อและถูกปฏิเสธจากคนรอบข้าง และความยากลำบากในการจัดการกับชีวิตประจำวัน” ซงระบุในงานวิจัย

 

  • เนื้อหางานวิจัยยังสะท้อนในรายงานของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ซึ่งระบุว่า “ผู้ที่มีความเสี่ยงจำนวนมากพบว่าความพึงพอใจในชีวิตของพวกเขาลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการตกงานและการหย่าร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาไม่คุ้นเคยกับการดูแลสุขภาพและงานบ้าน”

 

  • ขณะที่หลายกรณีของผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว อาศัยอยู่ในพื้นที่แคบและสกปรก เช่น ห้องเช่าแบบแบ่งย่อยที่เรียกว่า จกบัง (Jjokbang) ที่ผู้อยู่อาศัยมักจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางร่วมกัน และห้องเช่าใต้ดินที่เรียกว่า พันจีฮา (Banjiha) ซึ่งกลายเป็นข่าวพาดหัวจากกรณีน้ำท่วมจนมีผู้ติดอยู่ภายในและจมน้ำเสียชีวิตเมื่อต้นปีนี้

 

  • ในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล อสังหาริมทรัพย์นั้นมีราคาแพงมาก การเช่าห้องพักลักษณะนี้จึงเป็นทางเลือกที่ประหยัดที่สุด ซึ่งนอกจากสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างย่ำแย่ ที่พักเหล่านี้ยังถูกมองหรือถึงขั้น ‘ตีตรา’ ว่าเป็นสลัมหรือชุมชนแออัด และทำให้ผู้อาศัยหลายคนเสี่ยงที่จะแยกตัวหรือถูกปฏิเสธจากสังคมมากขึ้นด้วย 

 

ปิดช่องว่างของปัญหา

 

  • ความกังวลของสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว กระตุ้นให้เกิดแนวคิดริเริ่มเพื่อป้องกันปัญหาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

  • ในปี 2018 รัฐบาลกรุงโซลได้ประกาศโครงการ ‘เฝ้าดูเพื่อนบ้าน (Neighborhood Watcher)’ ซึ่งสมาชิกในชุมชนจะไปเยี่ยมครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียวในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น ห้องเช่าใต้ดินและห้องเช่าแบ่งย่อย

 

  • ภายใต้แผนนี้ โรงพยาบาล เจ้าของบ้าน และพนักงานร้านสะดวกซื้อ จะมีบทบาทเป็น ‘ยามอาสา’ ที่คอยแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ชุมชนเมื่อไม่พบผู้ป่วยหรือลูกค้าประจำเป็นเวลานาน หรือเมื่อมีการค้างค่าเช่าและค่าธรรมเนียมอื่นๆ 

 

  • ในหลายเมือง เช่น โซล อุลซาน และจอนจู เปิดตัวแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ซึ่งจะส่งข้อความไปยังผู้ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉินโดยอัตโนมัติ หากว่าโทรศัพท์มือถือไม่มีการใช้งานเป็นระยะเวลาหนึ่ง

 

  • ส่วนองค์กรอื่นๆ เช่น โบสถ์และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ยังช่วยสนับสนุนด้านบริการและกิจกรรมชุมชนต่างๆ เช่นเดียวกับการจัดการพิธีศพสำหรับผู้เสียชีวิตที่ไม่มีใครมารับศพหรือไว้อาลัยให้พวกเขา

 

  • ขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและจัดการการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เป็นมาตรการป้องกันที่ครอบคลุมมากที่สุด โดยสั่งการให้รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ต้องกำหนดนโยบายเพื่อระบุตัวตน และช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 

 

  • และนอกจากจัดทำรายงานสถานการณ์ทุก 5 ปีแล้ว เนื้อหา พ.ร.บ. ยังกำหนดให้รัฐบาลโซลต้องจัดทำแผนป้องกันอย่างรอบด้านด้วย ซึ่งส่วนนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

 

ภาพ: Photo by Jean Chung / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising