เกาหลีใต้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 17 ปี จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่ฉุดภาคการส่งออกหดตัวลงอย่างหนัก
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้ติดลบ 3.3% ในไตรมาสที่ 2 (เมษายนถึงมิถุนายน) ขณะที่ไตรมาสแรกหดตัว 1.3% โดยเป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในทางเทคนิค และยังเป็นการติดลบรายไตรมาสที่มากที่สุดนับจากปี 1998
ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอน GDP เกาหลีใต้มาจากภาคการส่งออก ซึ่งติดลบถึง 16.6% เป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1963 ขณะที่ภาคการส่งออกถือเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของ GDP ทั้งหมด
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีการเปิดเผยในเวลาไล่เลี่ยกัน ประกอบด้วยตัวเลขการนำเข้า ซึ่งหดตัว 7.4% แต่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.4% โดยมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าคงทน เช่น รถยนต์และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน
ด้าน พัคยังซู ผู้อำนวยการธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) กล่าวในการแถลงข่าวว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ในทิศทางขาลงนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 โดยวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เศรษฐกิจทรุดเร็วขึ้น
ขณะที่ ฮงนัมกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ระบุว่า การชัตดาวน์เศรษฐกิจโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สายการผลิตสินค้าในต่างประเทศของบริษัทเกาหลีใต้ เช่น ในเวียดนามและอินเดียหยุดชะงักลง ซึ่งมีส่วนฉุดรั้งภาคการส่งออกในประเทศให้หดตัวลง
ข้อมูลบ่งชี้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีมุนแจอินมีแผนที่จะปรับขึ้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีการขาย เพื่อควบคุมราคาบ้านที่พุ่งพรวดขึ้น โดยเฉพาะในกรุงโซล เมืองหลวง ขณะที่นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ BOK มีพื้นที่ไม่มากในการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม เนื่องจากระดับดอกเบี้ยที่ต่ำได้เพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสภาพคล่องมากเกินไปในตลาดที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ขุนคลังเกาหลีใต้มองในแง่ดีว่า เศรษฐกิจของประเทศอาจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับจีนในไตรมาสที่ 3
“มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นการรีบาวด์แบบจีนในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่การระบาดของไวรัสชะลอตัวลง ส่วนกิจกรรมการผลิตในต่างประเทศ โรงเรียน และโรงพยาบาล จะกลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้ง” ฮงกล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: