×

เกาหลีใต้เลิกฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้ประชาชนอายุต่ำกว่า 50 ปี หวั่นลิ่มเลือดอุดตัน เปลี่ยนใช้ Pfizer แทน

02.07.2021
  • LOADING...
AstraZeneca

สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคระบาดของเกาหลี (Korea Disease Control and Prevention Agency: KDCA) ประกาศปรับเปลี่ยนข้อแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิดของ AstraZeneca โดยจะให้วัคซีนชนิดอื่นแทน สำหรับประชาชนในกลุ่มอายุต่ำกว่า 50 ปี เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่แม้จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถือเป็นความเสี่ยงที่เป็นไปได้

 

จองอึนคยอง (Jeong Eun-kyeong) กรรมาธิการ KCDA กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (1 กรกฎาคม) ว่าการปรับเปลี่ยนวัคซีนดังกล่าว ซึ่งเพิ่มกลุ่มอายุจากเดิมที่กำหนดไว้ 30 ปี เป็นต่ำกว่า 50 ปี มีผลบังคับใช้ในทันที 

 

ขณะที่ประชาชนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 50 ปีหรือมากกว่านั้น จะได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ต่อไป เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันถึงประสิทธิภาพและประโยชน์ของวัคซีนที่ชัดเจนว่าดีกว่า เมื่อเทียบกับการฉีดให้ประชาชนในกลุ่มอายุต่ำกว่า 50 ปี 

 

สำหรับชาวเกาหลีใต้อายุต่ำกว่า 50 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca โดสแรกแล้ว พบว่ามีจำนวนประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 แบบผสม โดยเป็นวัคซีนจากบริษัท Pfizer แทน 

 

ท่าทีของ KCDA มีขึ้นหลังจากที่เกาหลีใต้ประกาศข้อแนะนำด้านสาธารณสุขในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่นามา ระบุว่าประโยชน์ของวัคซีนจาก AstraZeneca นั้นมีมากกว่าความเสี่ยง หากฉีดให้แก่ประชาชนที่อายุตั้งแต่ 30 ปีหรือมากกว่า 

 

ซึ่งหลังจากนั้น ทางการเกาหลีใต้ยืนยันว่า พบกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำในชายอายุประมาณ 30 ปี จำนวน 2 ราย โดยทั้งสองรายได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca โดสแรกแล้ว และ 1 คนอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนอีกคนอาการทรงตัวและกำลังอยู่ระหว่างการรักษา

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับเปลี่ยนข้อแนะนำในการฉีดวัคซีน AstraZeneca จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยวัคซีนจาก AstraZeneca ที่เกาหลีใต้สั่งซื้อมาจำนวน 20 ล้านโดสนั้นถูกใช้จนเกือบหมดแล้ว และเริ่มตั้งแต่เดือนนี้จะเปลี่ยนมาใช้วัคซีนจาก Pfizer เป็นวัคซีนหลัก

 

ภาพ: Photo by Jung Yeon-Je-Pool/Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X