หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพแห่งประเทศแอฟริกาใต้ (South African Health Products Regulatory Authority: SAHPRA) แถลงว่ายังไม่อนุมัติการใช้งานวัคซีนโควิด Sputnik V ของรัสเซียในกรณีฉุกเฉินในขณะนี้ โดยอ้างถึงข้อกังวลความปลอดภัยของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวี
การแถลงดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (18 ตุลาคม) โดย SAHPRA ระบุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่าวัคซีน Sputnik V ผลิตขึ้นจากไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ทั้งสายพันธุ์ 26 และสายพันธุ์ 5 (ซึ่งกรมควบคุมโรคของไทยระบุว่าเป็นไวรัสอะดีโนของมนุษย์) หน่วยงานแห่งนี้ยังระบุว่ามีการกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนที่ผลิตจากเวกเตอร์ของไวรัสอะดีโนสายพันธุ์ 5 ในหมู่ประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
โดย SAHPRA ได้ประเมินผลการศึกษาทางวิชาการในอดีต รวมถึงบทความเชิงข้อคิดเห็นที่ปรากฏในวารสารวิชาการ Lancet เมื่อปี 2020 แล้วจึงร้องขอข้อมูลที่แสดงถึงความปลอดภัยของวัคซีน Sputnik V ในพื้นที่ที่มีความชุกและอุบัติการณ์ของเอชไอวีสูงไปยังผู้ยื่นขอใช้งานวัคซีนดังกล่าว ทว่า ผู้ยื่นขอใช้งานวัคซีนไม่สามารถดำเนินการตามคำร้องขอของ SAHPRA ได้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ SAHPRA ยังมีการหารือกับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงสมาชิกชั้นนำของชุมชนวิทยาศาสตร์ในระดับท้องถิ่นและนานาชาติในประเด็นนี้ และยังกล่าวถึงการที่วัคซีน Sputnik V ยังไม่ได้รับการอนุมัติใช้งานในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก ท่ามกลางการมีส่วนร่วมระหว่างกันของทางการรัสเซียและองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง
จากการปรึกษาหารือดังกล่าว และพิจารณาข้อมูล-เอกสารที่เกี่ยวข้อง SAHPRA จึงยังไม่อนุมัติใช้งานวัคซีน Sputnik V ในขณะนี้ โดย SAHPRA กังวลว่าการใช้ Sputnik V ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความชุกและอุบัติการณ์ของเอชไอวีสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ชาย ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม การพิจารณาต่อเนื่องดังกล่าวจะยังคงเปิดให้มีการยื่นข้อมูลความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการยื่นขอใช้ฉุกเฉินได้อยู่
ขณะที่สถาบันวิจัยระบาดวิทยาและจุลชีววิทยา ‘กามาเลยา’ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีน Sputnik V ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสอะดีโนสายพันธุ์ 5 ในประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีนั้น ‘ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง’ และเสริมว่า SAHPRA จะได้รับข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็น นอกจากนี้ มีการทดลองทางคลินิกมากกว่า 250 การทดลอง และสิ่งตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ 75 ฉบับที่ยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนและยาจากเวกเตอร์ของไวรัสอะดีโนของมนุษย์
จนถึงปัจจุบัน แอฟริกาใต้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 20 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35 ของประชากรผู้ใหญ่ในประเทศ
อนึ่ง วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) ตัวอื่นๆ นั้นใช้ไวรัสที่เป็นพาหะต่างกันไป โดยวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ใช้ไวรัสอะดีโนของชิมแปนซี, วัคซีน CanSino ของจีน ใช้ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 5, วัคซีน Johnson & Johnson ใช้ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 26 เป็นต้น
ภาพ: Sergei Malgavko / TASS via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.sahpra.org.za/wp-content/uploads/2021/10/MEDIA-RELEASE-Sputnik-Vaccine_18Oct-2021.pdf
- https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf
- https://www.reuters.com/world/africa/south-africa-regulator-not-authorising-russian-covid-19-vaccine-now-2021-10-18/
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/mixing-russias-sputnik-v-astrazeneca-shots-proves-safe-small-trial-rdif-2021-07-30/