เป็นเวลา 23 ปี นับจาก ปึ่ง-ณรงค์ฤทธิ์ สุพรรณเภสัช, ปิงปอง-วิศรุตเทพ สุพรรณเภสัช และบิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์ 3 สมาชิกออริจินัลของ Soul After Six ปล่อยอัลบั้มที่มีชื่อเดียวกับวงในปี 2539 ที่มีเพลงอย่าง ก้อนหินละเมอ, รักเก่าๆ, เห็นฉันไหม, หากคิดจะรัก…ก็รัก ฯลฯ
ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร แต่เนื้อเพลงที่ไพเราะราวบทกวี เรียบเรียงดนตรีเสียงประสานด้วยความพิถีพิถันที่พวกเขาตั้งใจรังสรรค์ขึ้นมา ยังคงอยู่ในความทรงจำและมักจะถูกเลือกเปิดขึ้นมาเพื่อเรียกคืนความทรงจำเก่าๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอยู่เสมอ
ล่าสุดพวกเขาได้ชักชวนเพื่อนศิลปินนักดนตรีที่ร่วมงาน ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี กลับมาร่วมเล่นดนตรีให้ทุกคนได้ฟังแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งใน ความทรงจำของก้อนหิน คอนเสิร์ตใหญ่ของวงที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
THE STANDARD POP ชวน หมึก-โรจ ควันธรรม นักจัดรายการวิทยุชื่อดังที่ผูกพันกับสมาชิกวง Soul After Six เป็นเวลาหลายปี มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเริ่มรวมตัวเล่นดนตรีด้วยกันในปี 2534 มนต์เสน่ห์ของเพลงโซลที่พวกเขาหลงใหล ไปจนถึงบรรยากาศสุดพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นในคอนเสิร์ตครั้งนี้
เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องย้อนความทรงจำเก่าๆ กลับไปเปิดเพลงของพวกเขาให้ชุ่มชื่นหัวใจ ก่อนไปร่วมร้องเพลงของพวกเขาอีกครั้งแบบสดๆ ที่จะเป็นความรู้สึกพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะในคอนเสิร์ตแบบสดๆ เท่านั้น
หมึก: สวัสดีผู้อ่าน THE STANDARD POP ทุกท่านนะครับ ผมมารับหน้าที่พูดคุยกับ Soul After Six วงดนตรีที่ผมขอใช้คำว่าดีพร้อม เพลงของพวกเขาได้ใจคนฟัง ถูกพูดถึง ถูกฟังมาโดยตลอด แล้วก็เป็นวงดนตรีที่มีความพิถีพิถันและตั้งใจอย่างยิ่งในการทำงานทางด้านดนตรีให้กับวงการดนตรีของเมืองไทย วันนี้พวกเขากำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ซึ่งหลายต่อหลายคนรอคอยมานานอีกครั้งในรอบ 17 ปี
ปึ่ง: ตอนนั้น Soul After Six เราออกอัลบั้มมา 2 ชุดคือ Soul After Six ในปี 2539 และ The Rhythm ในปี 2545 กับสังกัดเบเกอรี่มิวสิค แล้วเราก็มีคอนเสิร์ตใหญ่ในปีนั้น เล่นกันที่คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว
หมึก: อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางวงตัดสินใจว่าต้องมีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งได้แล้ว หลังจากเวลาผ่านไปนาน 17 ปี
ปึ่ง: ตั้งแต่ปี 2552 ที่วงกลับมารับงานโชว์ตามผับ จนมี เวลา เป็นซิงเกิลใหม่ในปี 2555 ปี 2556 ก็มีอีก 2 ซิงเกิลคือ คนละทางเดียวกัน กับ กลัว แล้วก็มีออกมาเรื่อยๆ จนมาถึงเพลง ในฝัน เมื่อปีก่อน ก็ครบ 5 เพลง
ระหว่างทางก็มีความคิดเรื่องคอนเสิร์ตใหญ่ที่คุยกับหลายๆ คน หลายๆ บริษัท ลงตัวบ้างไม่ลงตัวบ้างในรายละเอียดต่างๆ ทั้งเรื่องเวลา เรื่องสิ่งที่เราอยากทำ จนมาลงตัวกับผู้จัดรายนี้ก็คือทาง Viji Corp ที่เรียกว่าความคิดเห็นตรงกันทุกอย่าง
หมึก: นอกจากการเสพเมโลดี้ เนื้อเพลง ท่วงทำนองที่เพราะ การแยกและเรียบเรียงดนตรีของ Soul After Six เป็นอีกส่วนที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งจรรโลงหัวใจคนฟังเพลงมากๆ เพราะฉะนั้นพาร์ตการเลือกนักดนตรี ดีไซน์ และโชว์ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมอยากเห็นภาพรวมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในคอนเสิร์ต ความทรงจำของก้อนหิน ครั้งนี้ครับ
ปิงปอง: นักดนตรีชุดใหญ่เลยครับ กว่า 80% เป็น Recording Musician ที่เคยอัดเสียงให้เราทั้งนั้นนะครับ และที่มากกว่านั้นคือเหมือนพวกเขาเป็นครอบครัว ไม่ใช่แค่เราไปเลือกคนนั้นคนนี้มาเพื่องานนี้ แล้วครั้งหน้าก็จบกันไป
ปึ่ง: การทำงานแบบนี้ของ Soul After Six ไม่ใช่เพิ่งมาทำเร็วๆ นี้นะครับ เราทำมาตั้งแต่ก่อนออกอัลบั้มชุดแรกในปี 2539 ด้วยซ้ำ ที่สมาชิกทุกคนจะเป็นเหมือนครอบครัว ผมกับปิงปองเป็นพี่น้องกัน บิ๊กก็เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยที่พบกันมาตั้งแต่ปี 2534 แล้วก็มีเพื่อนๆ ที่เข้ามาเล่นดนตรีแจมกันตลอด
พอคิดว่าเราเป็นเด็กชอบเล่นดนตรี เขียนเพลงเอง ก็อยากจะมีอัลบั้มขึ้นมา ทีนี้นักดนตรีที่เราอยากจะให้มาบันทึกเสียงให้ก็คือนักดนตรีที่เรามองว่าเก่ง เราชอบ เราไปตระเวนตามคลับ ตามที่ต่างๆ แล้ว นักดนตรีเหล่านั้นก็ได้มาบันทึกเสียงให้เราทุกอัลบั้มที่ผ่านมา และหลายๆ ท่านร่วมเล่นคอนเสิร์ตตามโชว์ต่างๆ กับเรามาตั้งแต่ปี 2539 ก็จะยืนอยู่ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ครับ
ปิงปอง: มันคือความผูกพันที่มากกว่าการเป็นนักดนตรีอาชีพ เพราะว่าผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอะไรมาด้วยกัน จนมีความเข้าใจในเพลง ในทีมงานทุกคนมากๆ และทุกคนจะมาช่วยกันออกแบบพาร์ตต่างๆ ส่วนเรื่อง Music Director ทุกคนก็ช่วยๆ กัน
หมึก: ใครทำหน้าที่เป็นแกนหลักตรงนี้ครับ
ปึ่ง: ครั้งนี้เราประกาศในทีมกันเลยครับว่าขอความกรุณาทุกคนเป็น Music Director ร่วมกันนะครับ (หัวเราะ) เพราะในทีมเรามีหลายคนที่เป็น Music Director ตามงานใหญ่ที่ถ้าพูดชื่อไปก็รู้จัก แล้วถ้าจะเลือกใครสักคนหนึ่งขึ้นมา อีก 2-3 คนอาจจะงอนก็ได้นะ (หัวเราะ) เลยเป็นการขอความกรุณาร่วมกัน เพราะเล่นกันมาขนาดนี้ ไม่มีใครรู้จักเพลงของ Soul After Six เท่าพวกคุณแล้ว
หมึก: ถ้าทุกวงเป็นแบบนี้กันได้มันชุ่มชื่นหัวใจแน่ๆ โดยเฉพาะ Soul After Six ที่มองดูตัวเอง ประมวลแล้วว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุด
ปึ่ง: เนื่องจากวง Soul After Six มีคนเยอะ เราจะให้ความสำคัญกับคำว่า Seniority และ Discipline สูงมาก ถ้าสองคำนี้หย่อนยานเมื่อไร เราอยู่กันมาไม่ได้ถึงขนาดนี้หรอก แล้วพูดตามตรงว่านักดนตรีที่เล่นให้เราทั้งหมด เขาไม่จำเป็นต้องมาเล่นกับพวกเราเพื่อหาเลี้ยงชีพ
ปิงปอง: ทุกวันนี้เวลาเล่นดนตรีด้วยกัน เราจะนึกถึงความทรงจำเก่าๆ ที่มีความสุข ตอนนั้นเราทำอะไรกันอยู่ ณ วันนี้เรามาอยู่ด้วยกัน เล่นดนตรีด้วยกัน จะบอกว่า Soul After Six อยู่กันมาถึงขนาดนี้ได้เพราะความผูกพันล้วนๆ เลยก็ได้ แล้วผมรู้สึกและสัมผัสได้ว่าเวลาแฟนเพลงไปดูเราแต่ละครั้ง เขาก็สัมผัสถึงเรื่องนี้ได้นะ
หมึก: ไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้อีกแล้วครับ ใครๆ ก็อยากได้สิ่งนี้ทั้งนั้น แต่จะพร้อมได้ทุกคนและทุกวงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่นี่คือสิ่งที่ Soul After Six มี และจะไปโชว์ทุกอย่างในคอนเสิร์ตครั้งนี้
ปิงปอง: คอนเสิร์ตครั้งนี้ชื่อ ความทรงจำของก้อนหิน เพราะมันจะเป็นเรื่องราวของความทรงจำทุกอย่างตั้งแต่ผมเริ่มจรดปากกาเขียนเพลงใส่กระดาษ ทุกฉากจะกลับมาอีกครั้งผ่านความหมายเพลงของที่มีที่มาที่ไปว่าเพลงนี้ถูกวางต่อจากเพลงนี้เพราะอะไร พอเอาเพลงมาเรียงทั้งหมดดูแล้ว ผมคิดว่าเหมือนเป็นการดูหนังเรื่องหนึ่งของพวกเราอยู่เลยครับ
บิ๊ก: อย่างภาพที่ปิงปองบอกว่าจรดปากกาในกระดาษ เพลงของ Soul After Six เริ่มต้นมาแบบนั้นจริงๆ นะครับ เริ่มจากพี่ปึ่งกับปิงปองเป็นพี่น้องกัน เล่นดนตรีด้วยกัน ส่วนผมก็แวะมาหาตอนเย็น แล้วจะมีกระดาษแผ่นหนึ่ง มีเนื้อ มีคอร์ด ปิงปองเล่นเปียโน พี่ปึ่งตีกลอง เพลงไหนพี่ปึ่งแต่งก็สลับมาเล่นเปียโน ผมก็เล่นเบส ล้อมวงกันอยู่ 3 คนแบบนี้โดยข้างหน้ามีกระดาษแผ่นเดียวตั้งแต่วันนั้น
ปิงปอง: แค่กลับมานั่งเรียงเพลงด้วยกัน คิดถึงวันงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แค่นี้ก็มีความสุขแล้วครับ
หมึก: ในพาร์ตดนตรี คราวนี้ถูกดีไซน์อย่างไรบ้างครับ
ปึ่ง: เราเคยทำคอนเสิร์ตใหญ่สเกลแบบนี้นะครับ ในเรื่องแพตเทิร์นก็คงไม่แตกต่างกันมาก เพราะคิดว่าเหมาะและเบลนด์กันได้มากที่สุดแล้ว และเราให้ความสำคัญกับพาร์ตดนตรีจริงๆ อย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโชว์ที่ไหนก็ตาม จะต้องมีสมาชิกอย่างน้อยที่สุด 9 คน ถึงจะเล่นเพลงของ Soul After Six ในแบบของพวกเราได้ และในคอนเสิร์ตนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะเพิ่มมาเป็น 17 คน โดยเฉพาะพาร์ตเครื่องเป่าที่เพิ่มทรัมเป็ตและแซกโซโฟนมาอีกอย่างละ 2 คน
ปึ่ง: เสริมนิดหนึ่งว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเวลา Soul After Six บันทึกเสียงพาร์ตเครื่องเป่า เรา overdub แบบไม่ใช่ไลน์เดียวกันนะครับ คืออัด 2 ครั้ง แต่คนละโน้ต นั่นหมายความว่าสิ่งที่ได้ยินเวลาฟังในอัลบั้มคือเราจำลองเครื่องเป่า 8-9 ชิ้นออกมา มีหลายคนถามผมเข้ามาบ่อยๆ ว่าทำไมเสียงเครื่องเป่าของ Soul After Six ถึงได้หนา ก็ถือโอกาสตอบไว้ตรงนี้เลยครับ
ปิงปอง: เพราะจริงๆ ธรรมชาติของเครื่องเป่า ถ้าให้ 5 คนเป่าโน้ตเดียวกัน ต่อให้คนละ octave มันจะไม่หนาขึ้นเท่ากับเรียบเรียงให้คนละโน้ตมันประสานกันหมด เพราะฉะนั้นเวลาดีไซน์พาร์ตเครื่องเป่า เราจะทำให้มันเบลนด์กันแบบเป็นคู่ ทีนี้เวลาเล่นสดมันไม่มีโอกาส dub บนเวที ไม่มีเทคนิคมาช่วยได้ ทำให้เราต้องเพิ่มพาร์ตเครื่องเป่าอีกหลายคนเพื่อทำให้เสียงที่ได้ยินในคอนเสิร์ตออกมาแบบนั้นจริงๆ
หมึก: ฟังแค่นี้ก็เกิดความกระหายแล้วนะ จะเป่ายังไง จะได้ยินอะไรบ้าง
ปึ่ง: ครั้งนี้คือเต็มที่เลยครับ อย่างช่วงที่เริ่มซ้อมด้วยเครื่องเป่าแบบครบคน ขนาดตัวเองยังรู้สึกเลยนะว่าไม่ได้ยินเสียงแบบนี้มานานแล้ว เพราะเล่นในสเกลที่เล็กกว่านี้มาตลอด เล่นๆ ไปยังมีจังหวะเหวอขึ้นมาเหมือนกันนะว่า โอ้โห หนาขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย (หัวเราะ)
หมึก: ที่ผมฟังไม่ใช่รู้สึกถึงความหนาอย่างเดียวนะ มันมีความเหลื่อมๆ กันอยู่นิดๆ แต่ไม่ตีกันเลย มันสมานสามัคคีกันมากๆ จริงๆ ตรงนี้แสดงออกถึงงานละเอียดที่พิถีพิถันมากๆ ผมไม่แปลกใจเลยพี่ปึ่งบอกว่ามันคือความผูกพันของคนที่มาเล่นดนตรีด้วยกัน และทุกคนมีความสามารถในเครื่องดนตรีที่ตัวเองรับผิดชอบทั้งหมด ต้นทางของเพลงมาดี มีเมโลดี้ที่เพราะ ทุกคนทุ่มเทกันเต็มที่เพื่องานนี้จริงๆ
เหมือนจะจบแต่ยังไม่จบนะครับ (หัวเราะ) ผมขอย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ ช่วงที่คุณ 3 คนเริ่มเล่นดนตรีสนุกๆ กันตอนนั้นก็คงเป็นเพลงคัฟเวอร์ตามปกติ
บิ๊ก: ไม่ครับ เล่นเพลงแต่งเองเลย อย่างที่พูดถึงเรื่องกระดาษตอนแรกๆ วันแรกที่ผมไปหา พวกเขาก็เล่นเพลงที่แต่งเองในกระดาษแผ่นนั้นกันแล้ว (หัวเราะ)
ปึ่ง: ตั้งแต่มัธยมแล้วครับ เพราะที่โรงเรียนของผมคือเซนต์ดอมินิก เราต้องเขียนเพลงเองเพื่อประกวดในงานโรงเรียน วันพ่อ วันแม่ ถ้าอยากขึ้นไปเล่นก็ต้องเขียนเพลงเกี่ยวกับพระคุณพ่อแม่ถึงจะได้ขึ้นโชว์
บิ๊ก: อาจจะมีไปเล่นคัฟเวอร์บ้าง เล่นเพลงฝรั่ง เพลงไทยเพราะๆ บ้าง แต่ก็ไม่เหมือนหรอกครับ เพราะไม่ได้แกะ (หัวเราะ)
หมึก: ที่ถามเมื่อสักครู่ ผมพยายามบีบเข้าไปหาว่าทำไมถึงเป็นโซลที่มันโดนใจทั้ง 3 คน จนกระทั่งมันมาเป็น Soul After Six
บิ๊ก: โดยส่วนตัวไม่ค่อยได้รู้จักเพลงโซลมาก่อนที่จะมาเจอพี่ปึ่งกับปิงปองครับ ผมก็เล่นเพลงทั่วไป ไมโคร อัสนี-วสันต์ คัฟเวอร์ทั่วไปตามปกติ พอมาเจอเพลงอย่างพี่ปึ่งกับปิงปองแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย มันเพราะดีว่ะ ผมไม่เคยเล่น ไม่เคยฟังแบบนี้มาก่อน
ส่วนใหญ่สมัยก่อนคอร์ดก็จะเป็นตรงๆ พอเห็นเพลงพวกเขาก็จะ เอ๊ะ ทำไมมันมีโน้ตแบบนี้มาด้วยวะ มันมีเมเจอร์เซเว่น มันมีเมเจอร์เซเว่นไนน์ มันมีคอร์ดโน้นคอร์ดนี้ ซึ่งเพลงสมัยที่ผมเล่นดนตรีมันไม่มีคอร์ดแบบนี้เลย ยกเว้นเพลงฝรั่งนะครับ ซึ่งผมก็ไม่ค่อยได้เล่นเพลงฝรั่ง ก็เลยไปหาฟังครับ
พี่ปึ่งเป็นคนฟังเพลงเยอะมาก แล้วเราก็ชอบไปฟังดนตรีด้วยกันในที่ต่างๆ คุยกันว่าเพลงนี้เพราะ เพลงนี้เจ๋งนะ ถ้าเราอยากได้เบสแบบนี้ บิ๊กเล่นได้ไหม ปิงปองก็เหมือนกัน จะมาบอกตลอดว่ามีริฟฟ์แบบนี้ ลองเล่นหน่อยสิ แล้วก็เอามาเบลนด์กัน
ปิงปอง: อีกอย่างคือสมัยก่อนที่บ้านเราจัดปาร์ตี้บ่อยนะครับ (หัวเราะ) คนมานั่งดื่มแล้วก็ล้อมวงที่เปียโน กลอง เครื่องดนตรีต่างๆ แล้วก็เล่นเพลงกันไป เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่เพลงโซลอย่างเดียวนะครับ มีเพลงหนึ่งที่เราเคยเล่นอย่าง This Time It’s Forever ของเออร์รอล บราวน์ ที่เป็นเหมือนเพลงเต้นรำในช่วงต้นยุค 90 เราก็เอามาเล่นให้เพื่อนๆ เขาแดนซ์กัน
https://www.youtube.com/watch?v=Yc2fyiRFfRk
ปึ่ง: ปาร์ตี้ไง ปาร์ตี้ (หัวเราะ)
หมึก: โอ้โห ปาร์ตี้ที่บ้านนี่มันคลาสสิกมาก ผมนี่ตัวปาร์ตี้ที่บ้านเลย (หัวเราะ)
ปิงปอง: เหมือนเริ่มจากเอาเพลงพวกนี้มาเล่น เพลงที่พวกเราชอบและไม่ได้ยากมาก จนได้เรื่องคอร์ดมาเยอะพอสมควร ในช่วงนั้นมีหลายเพลงเลยที่น่าจะทำให้เริ่มสั่งสมการฟังเพลง การเล่น การแกะเพลง จนมาสู่การเรียบเรียงเพลงที่จะเป็น Soul After Six ต่อไป
หมึก: เพราะว่าเพลงโซลมีเสน่ห์ของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ในยุคก่อนๆ นักดนตรีที่จะประกาศหรือบอกแนวทางตัวเองว่าข้างในเป็นโซลจริงๆ ค่อนข้างมีน้อยมาก ในมุมของ Soul After Six ก็ไม่ใช่ตัวโซลแบบเพียวๆ แน่ๆ แต่ยังมีองค์ประกอบอย่างอื่นที่ผสมขึ้นมาเป็นโซลแบบ Soul After Six อีกครั้ง
ปึ่ง: เยอะครับ พวกเราเป็นคนที่ฟังเพลงเยอะมาก แล้วก็ลงทุนไปกับมันเยอะ สมัยก่อนจะมีกลุ่มเพื่อนที่ชอบฟังเพลงคนละแนว บางคนชอบเป็นโฟล์กร็อก ก็จะซื้อซีดีของตัวเองมา แล้วเสาร์-อาทิตย์ก็จะมาฟัง มาร้อง มาเล่นดนตรีกัน
พอเจอเพลงที่ชอบ เจอแนวที่ชอบ แล้วบังเอิญด้วยความที่เราชอบดูวงที่เพอร์ฟอร์มหลายๆ ชิ้น ชอบวงที่มีแผงเครื่องเป่า เราก็ไปเจาะฟังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Earth, Wind and Fire ไปตามหาอัลบั้มเก่าๆ Average White Band หรือ Tower of Power ก็ต้องบอกว่า ณ วันที่ Soul After Six ออกอัลบั้มชุดแรก แรงบันดาลใจของเราจริงๆ ก็คือวงดนตรีที่เป็นโซล แจ๊ส ที่มีสมาชิกหลายคน และที่สำคัญต้องมีแผงเครื่องเป่า และตอบโจทย์ว่าทำไม Soul After Six ถึงต้องยืนกันเยอะแบบนี้
หมึก: ในมุมมองของ Soul After Six เพลงโซลไม่ได้ถูกจำกัดว่าจะต้องเป็นโซลผิวดำหรือแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพลงของวงอะไรก็แล้วแต่ที่มีกลิ่นอายของโซลอันไหนถูกใจเรา เราก็เก็บอันนั้น ถูกไหมครับ
ปิงปอง: มันต้องเป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะเราฟังดนตรี ไม่ได้ฟังที่ตัวตนว่าเขาเป็นแบบไหน บางทีเราฟังจากวิทยุ ไม่เห็นตัวเขาหรอกครับ พอไปเห็นจากปกเทป อ้าว เขาไม่ได้ผิวดำนี่นา โซลขาวก็มี จากตรงนั้นก็ทำให้เราค่อยๆ ตามไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นยังไง
ผมว่าดนตรีมันเบลนด์เสียจนบางทีเราอาจจะหาคำตอบยากเหมือนกันนะครับว่าจริงๆ แล้วตัวตนของเขาอยากเป็นอะไร และผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราหาคำตอบว่าตัวตนของเขาคืออะไรไม่ได้ เราหาคำตอบด้วยตัวเองดีกว่าว่าเรามองเขาเป็นอะไรหรือเป็นแนวไหนสำหรับเรา
หมึก: มันไม่จำกัดและไม่ชี้ชัดจริงๆ นะ คุณจะฟังเพลงของ Soul After Six หรือของใครก็แล้วแต่ บางครั้งไม่จำเป็นต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชหาว่าสไตล์ของวงคืออะไร สุดท้ายคุณได้ยินอะไรในนั้น มันก็เป็นในสิ่งที่คุณได้ยินนั่นแหละ
ปิงปอง: อย่างที่ผมพูดไปเมื่อกี้ว่าเราฟังเพลงจากวิทยุ ไม่เห็นใครเลย แต่มีความสุขที่มันดื่มด่ำตรงนั้น ผมว่าจริงๆ แค่นั้นอาจจะพอแล้วก็ได้
หมึก: โอเค ผมว่าพอประมาณนะครับ สุดท้ายผมอยากบอกกับท่านผู้อ่าน THE STANDARD POP ว่าสิ่งที่ผมได้รับ ได้เข้ามานั่งอยู่ในห้องซ้อม แล้วผมไม่รู้จะหาคำพูดอะไรนอกจากมันน่าทึ่งและควรค่าแก่การรับชมเป็นอย่างยิ่ง เพียงแค่การซ้อมวันนี้ที่มีสมาชิกแค่สิบกว่าคนยังออกมาแบบเต็มมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ก้อนหินละเมอ, รักเก่าๆ หรืออะไรต่างๆ นานาที่รู้สึกว่าทำไมมันถึงเพราะมากกว่าที่เราเคยได้ฟัง
และมันจะต้องยิ่งเพราะกว่านี้อีกมากเมื่อสมาชิกทุกคนยืนกันพร้อมบนเวที ซึ่งจะได้รับอรรถรสแบบนี้จากการดูสดในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้เท่านั้นครับ
สัมภาษณ์: โรจ ควันธรรม
เรียบเรียง: ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- คอนเสิร์ต ความทรงจำของก้อนหิน จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา และ www.thaiticketmajor.com
- โดยมีทีมนักดนตรีที่เป็นเสมือนครอบครัวของ Soul After Six มาร่วมสร้างความทรงจำสุดพิเศษ ได้แก่ สู Drumtech, อั๋น Bangkok Connection, ต้น Captain Loma, Marat Yuldybaev, โปรด ธนภัทร, โอสถ ประยูรเวช, วิโรจน์ สถาปนาวัตร ฯลฯ
- พร้อมกับ เบน ชลาทิศ, มาเรียม B5 และบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ แขกรับเชิญพิเศษที่จะมาร่วมสร้างความทรงจำสุดพิเศษในครั้งนี้