สำหรับยุคที่ ‘โรคซึมเศร้า’ กลายเป็นโรคหนึ่งที่มีคนให้ความสำคัญมากที่สุด ความรู้สึกแรกที่ผมได้รับหลังจากดูซีรีส์ SOS skate ซึม ซ่าส์ ตอนแรกจบ ในฐานะคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้คือ ‘เราโชคดีจริงๆ’
ยอมรับว่าที่ผ่านมาผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับโรคนี้เท่าไรนัก ทั้งยังเคยเป็นคนที่คิดว่าโรคนี้เป็นแค่ ‘ภาวะผิดปกติ’ อย่างหนึ่ง ก็แค่ความเศร้านี่นา เศร้าเหรอ สู้มันสิ ทำใจให้สบาย เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง
จนเริ่มได้ยินถึงความน่าเป็นห่วงของผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้นจากข่าวต่างๆ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสหาข้อมูลเพิ่มเติมบ้าง เริ่มทำความเข้าใจในรายละเอียดบ้าง จนกระทั่งตัวละคร ‘บู’ (เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ทำให้ผมรู้ว่าโรคนี้น่ากลัวกว่าที่เคยรู้จักหลายเท่าตัว
บูทำให้เห็นว่าการต้องตื่นมาทุกเช้าด้วยความรู้สึกไร้ค่า ว่างเปล่า หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่รู้ว่าจะลุกขึ้นมาเพื่ออะไร มันเป็นความรู้สึกที่เลวร้ายมากขนาดไหน เมื่อรู้ว่าตัวเองผิดปกติก็พยายาม ‘บูรณะ’ ตัวเองเหมือนชื่อจริงของเขาเพื่อให้พ้นจากสภาวะแบบนี้ ในซีรีส์เราจะเห็นว่าบูติดกระดาษคำคมปลุกใจไว้เต็มไปหมด แต่แน่นอนว่าประโยคสั้นๆ และสภาพแวดล้อมรอบข้างไม่ได้ช่วยเหลือเขาเลย
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ผมเคยมีโอกาสทำความรู้จักกับคนที่มีภาวะซึมเศร้าทำนองนี้ และเมื่อพบภาวะดังกล่าว สิ่งที่ผมตัดสินใจก็คือการ ‘หนี’ ออกมาจากคนคนนั้นทันที ไม่ต่างอะไรกับที่คนรอบข้างเลือกปฏิบัติกับบู
ยิ่งรู้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีที่หลั่งออกมาจากสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น และไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้ ผมก็แค่คน ‘โชคดี’ คนหนึ่ง ส่วนคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาก็เพียงแค่ ‘โชคร้าย’ กว่าเท่านั้นเอง ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้ภาพตัวผมเองในวันนั้นชัดเจนขึ้นมา และคิดว่าถ้ามีโอกาส ผมจะไม่ใจร้ายกับใครแบบนั้นอีกแล้ว
เราคงไม่โกรธเพื่อนถ้าเขาเหนื่อยและวิ่งได้ช้า เมื่อรู้ว่าเขาป่วยเป็นโรคหอบหืด และคงไม่พยายามบังคับให้เพื่อนกินอาหารทะเล ถ้ารู้ว่าเขาเป็นแพ้อาหารทะเลขั้นรุนแรง วิธีคิดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็ง่ายๆ แค่นั้น ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย
อีกหนึ่งสิ่งที่ SOS บอกเราอยู่ก็คือ การที่จะทำแบบนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนที่บูพบกับ ไซมอน (โทนี่ รากแก่น) และ หมอเบลล์ (แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) ในวันที่ซึมเศร้าแบบสุดๆ สิ่งที่โทนี่ทำเป็นเรื่องง่ายๆ แค่เดินมาพูดคุย ชวนให้ลองเล่นสเกตบอร์ด และปรบมือให้เมื่อเห็นว่าบูทำสิ่งนั้นได้ดี ส่วนหมอเบลล์ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากรับฟังอาการของบูอย่างตั้งใจแบบที่ไม่เคยมีใครยอมฟังเขามาก่อน เพียงเท่านี้ก็เรียกรอยยิ้มที่หายไปกลับสู่ใบหน้าหมองคล้ำของเขาได้แล้ว
ในชีวิตจริงเราอาจจะไม่ได้มีสเกตบอร์ดเหมือนไซมอน และไม่ได้เรียนจิตแพทย์มาแบบหมอเบลล์ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีเหมือนกันคือกำลังใจและความเข้าใจที่สามารถมอบให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ทุกเวลา
ความดีความชอบทั้งหมด นอกจากทีมงานเบื้องหลังที่ทำงานหนักจนเล่าเรื่องได้สมจริงขนาดนี้ ผมขอยกให้นักแสดงแทบทุกคนในเรื่อง โดยเฉพาะ เจมส์ ที่ต้องรับบทเป็นบู ตอนแรกผมแอบเป็นห่วงเจมส์ เพราะต้องแสดงหลังจาก ต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) ใน Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ ที่ทำมาตรฐานไว้สูงมาก แต่ตอนนี้ผมเป็นห่วงต่อมากกว่า เพราะการแสดงของเจมส์อาจทำให้คนเผลอลืมพี่ยิมไปได้เหมือนกัน
โทนี่ รากแก่น ที่ปกติจะรับบทเท่ๆ เก๊กๆ แต่พอมารับบทคนกวนตีน กร้านโลก (ซึ่งนี่ล่ะคือบุคลิกจริงๆ ของโทนี่) เขาก็ทำได้ดี ถึงแม้ยังมีบทไม่มาก แต่ก็ทำให้เราลุ้นได้ทุกครั้งว่าเขาจะนำพาชีวิตบูไปสู่จุดไหน รวมทั้ง แพต ในบทหมอฝึกหัดโลกสวยที่ทำให้โลกของบู (รวมทั้งตัวเองผมด้วย) สดใสได้ทุกครั้งที่ปรากฏตัว ผมไม่รู้หรอกว่าในเรื่องเธอจะมีความสามารถเพียงพอหรือเปล่า แต่อย่างน้อยความตั้งใจที่แสดงออกมาผ่านบทหมอเบลล์ ก็ทำให้เชื่อได้ว่าเธอจะช่วยรักษาอาการป่วยของบูได้จริงๆ
พอทุกอย่างมารวมกัน มันทำให้เรารู้สึกเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของบู แต่เนื่องจากเราเป็นเพียงผู้ชม สิ่งเดียวที่ทำได้มีแค่การติดตามและเอาใจช่วยให้เขาผ่านพ้นภาวะซึมเศร้าครั้งนี้อยู่ห่างๆ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่พวกเราจะช่วยบูได้มากที่สุดคือการนำสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาไปปรับใช้กับผู้คนรอบข้างในชีวิตจริง ให้อย่างน้อยที่สุดมีคนที่เข้าใจและคอยให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างเขาเพิ่มขึ้นมาบ้างก็พอแล้ว
- ‘SOS skate ซึม ซ่าส์’ ซีรีส์ลำดับที่ 3 จาก Project S The Series
- นำแสดงโดย เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ, โทนี่ รากแก่น, แพรว-นฤภรกมล ฉายแสง, แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช
- กำกับโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
- ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 21.45 น. ทางช่อง GMM25