ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ที่หลังจากประกาศว่าบริษัทจะยุติการดำเนินงานบางส่วน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งส่งผลกระทบให้มีพนักงานจำนวน 89 คนต้องถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน และจะได้รับเงินชดเชยเพียง 16% ซึ่งไม่มีความถูกต้องตามหลักกฎหมายแรงงาน จนทำให้มีพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากประกาศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดวันนี้ (4 กรกฎาคม) มานิตา วิสุทธิประภา พร้อมด้วย ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ และพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 79 คน ได้เข้ายื่นจดหมายต่อกระทรวงแรงงานเพื่อร้องขอความเป็นธรรมกับบริษัท โดยใจความในจดหมาย สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวคนสำคัญของประเทศ ได้โพสต์เนื้อหาผ่านเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว โดยมีเนื้อหา ระบุว่า
“เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4
“เรื่อง ร้องเรียนนายจ้าง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
“ข้าพเจ้า นางสาวมานิตา วิสุทธิประภา กับพวก รวม 79 คน ซึ่งปรากฏตามรายชื่อที่แนบมาพร้อมหนังสือนี้ ขอร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยนายจ้าง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ซึ่งได้มีการจัดประชุมบริษัทผ่านโปรแกรม Zoom ในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 เวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้พนักงานทราบถึงการปิดกิจการ การเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และเงินชดเชยที่จะจ่ายให้แก่พนักงาน จำนวน 16% จากเงินชดเชยที่ต้องได้รับทั้งหมด โดยให้มีผลทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และไม่ได้มีการจัดสรรเวลาให้พนักงานได้มีข้อซักถามหรือเจรจาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแจ้งปิดกิจการอย่างกะทันหันโดยไม่ได้มีสัญญาณใดๆ บอกล่วงหน้า อีกทั้งยังวิตกกังวลว่าเงินชดเชยเพียง 16% นั้นจะไม่สามารถเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัวได้ในอนาคต โดยนายจ้างได้ให้พนักงานทุกคนรับเอกสารการเลิกจ้างในวันรุ่งขึ้นทันที และหากพนักงานท่านใดยินยอม ให้ลงนามในเอกสารหนังสือตกลงยอมรับ และรับเงินสดได้ที่แผนกการเงิน
“อนึ่ง ในเอกสารหนังสือตกลงยินยอมดังกล่าว มีข้อความที่ระบุว่า “พนักงานจะรับทราบและตกลงยอมรับการเลิกจ้างและพอใจในเงินจำนวนดังกล่าว และไม่ติดใจเรียกร้องเงิน ทรัพย์สิน และ/หรือประโยชน์อื่นใดจาก บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด” ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการชี้นำให้พนักงานสิ้นสภาพในการเรียกร้องเงินชดเชยตามสิทธิที่ควรจะได้รับ และยินยอมรับเงินที่นายจ้างเสนอให้โดยไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้อีก
“ในวันสุดท้ายของการปฏิบัติงาน พนักงานทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้การส่งมอบงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แม้ว่าจะเศร้าเสียใจกับการรับทราบจำนวนเงินที่ทางบริษัทชี้แจงมาให้ในเอกสารของตนก็ตาม ทุกคนยังคงรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเองอย่างเต็มความสามารถภายในระยะเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ จากพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด 89 คน มีผู้ลงนามยินยอมรับเงินชดเชยจำนวน 16% ไปแล้ว 10 คน โดยพนักงานอีก 79 คนต่างมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ขอยอมรับเงินชดเชยจำนวนดังกล่าวที่บริษัทเสนอให้ และจะขอเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมายต่อไป
“ดังนั้น ข้าพเจ้า นางสาวมานิตา วิสุทธิประภา กับพวก รวม 79 คน ซึ่งปรากฏตามรายชื่อที่แนบมาพร้อมหนังสือนี้ ขอร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ให้ดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้นายจ้าง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ต่อไป
“ตัวแทนอดีตพนักงาน บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด กับพวก รวม 79 คน”
อ้างอิง: