วันนี้ (3 กุมภาพันธ์) สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงข่าวข้อเท็จจริงและแนวทางการพิจารณาและการยกเลิกการปล่อยชั่วคราว จากกรณีวันที่ 16 มกราคม 2566 ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกการปล่อยชั่วคราวของ ท. และ อ. ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา
ศาลยุติธรรมขอแจ้งให้ทราบดังนี้
ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลยในคดีอาญา ควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกคดี และศาลถือหลักการไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ
เช่น ความหนักเบาแห่งข้อหา พยานหลักฐานที่ปรากฏ พฤติการณ์แห่งคดี ตลอดจนภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราว การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และการกำหนดเงื่อนไขอย่างใดในแต่ละคดีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาตามกฎหมายภายใต้หลักประกันความอิสระของฝ่ายตุลาการตามมาตรา 188 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งศาลมีระบบตรวจสอบและป้องกันการแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาที่เข้มแข็ง
ในระบบศาลยุติธรรมไม่มีผู้ใดมีอำนาจสั่งการองค์คณะผู้พิพากษาในการวินิจฉัยคดีได้เมื่อมีการขอปล่อยชั่วคราวและเข้าเกณฑ์ที่จะอนุญาต ศาลจะมีคำสั่งปล่อยชั่วคราว โดยวางเงื่อนไขหรือวิธีการที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ให้ผู้ต้องหาปฏิบัติในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การกำหนดข้อห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมบางอย่าง การห้ามเข้าหรือห้ามออกจากสถานที่ การแต่งตั้งผู้กำกับดูแล การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM) หรือการเรียกหลักประกัน เป็นต้น
ดุลพินิจของศาลในการสั่งคดีมีการตรวจสอบตามลำดับชั้นศาลในทางวิธีพิจารณาคดีนี้ หากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ได้
กรณี ท. พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการในลักษณะแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา)
คำสั่งศาลอาญานี้เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่า คดีมีเหตุที่จะออกหมายขังได้ตามกฎหมาย แต่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขให้ ท. ปฏิบัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการไปก่อเหตุต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2565 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ท. ได้ทำกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข ศาลไต่สวนแล้วพบว่า ท. ปฏิบัติผิดเงื่อนไขจริง จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ท. โดย ท. และพิธา ยืนยันรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง
โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา) และให้ตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแล ท.
เงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวศาลกำหนดให้ใช้แก่คดีต่างๆ มามากแล้ว มิใช่เจาะจงใช้เฉพาะแก่คดีนี้หรือคดีกลุ่มนี้ และเป็นการกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การติดกำไล EM ก็ดำเนินการภายใต้ความยินยอมของผู้ต้องหาให้ติดได้ การห้ามออกนอกเคหสถานหรือห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว (ม.108 วรรคสาม)
แม้ ท. จะยินยอมสวมกำไล EM และยอมรับเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน แต่ก็ได้รับอนุญาตจากศาลให้ไปทำกิจธุระหรือแม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามสมควร ซึ่ง ท. ได้ขออนุญาตศาลไปทำกิจธุระรวม 19 ครั้ง ศาลอาญาได้พิจารณาอนุญาตถึง 14 ครั้ง เช่น นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อม ทำบัตรประจำตัวประชาชน ตัดชุดกระโปรงนักศึกษา ซื้อเอกสารประกอบการเรียน ไปเที่ยวจังหวัดระยอง เล่นบอร์ดเกม ฉลองหลังสอบเสร็จ ชมงานศิลปะ โดยศาลไม่อนุญาตเพียง 5 ครั้ง ด้วยเหตุกิจกรรมที่ขออนุญาตไปดำเนินการมีลักษณะที่จะผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว
สำหรับประเด็นเรื่องการนัดไต่สวนกรณีผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของ ท. นั้นเป็นเรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยการคุมขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา นอกจากศาลต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในคดีที่มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจดำเนินการไต่สวน เพื่อให้ทราบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงหรือไม่ และสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ทุกคดีไป
ในกรณีของ ท. ศาลนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาเรื่องการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราววันที่ 1 มีนาคม 2566 แต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ท. และ อ. ยื่นคำร้องขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตนเอง ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไปตามที่ผู้ต้องหาประสงค์ เพราะพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเข้าเกณฑ์เป็นกรณีผู้ต้องหาแสดงเจตนาว่าไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการปล่อยชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหาและผู้กำกับดูแลรับรองกับศาลไว้ได้ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีขึ้น เพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายเมื่อมีการยกเลิกการปล่อยชั่วคราวและศาลมีคำสั่งออกหมายขังแล้ว จึงไม่ต้องมีการไต่สวนอีก
ศาลยุติธรรมขอย้ำว่า กระบวนการไต่สวนและการมีคำสั่งออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราวเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงใดๆ ทั้งเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาดำเนินการไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันทุกคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยเสมอภาคและเป็นธรรม อันจะดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมต่อไป