×

บันทึกความเปลี่ยนแปลงและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติผ่านภาพ Landscape ด้วยสายตาของ ‘รชฏ วิสราญกุล’ [Advertorial]

30.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • อ.รชฏ วิสราญกุล เป็นช่างภาพที่อยู่ในวงการภาพถ่ายเมืองไทยมายาวนานกว่า 40 ปี
  • หัวใจของภาพ Landscape คือการบันทึกความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นตลอด 365 วัน
  • ช่างภาพต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้ ทั้งจากภาพคนอื่น ภาพยนตร์ และภาพวาด เพื่อหามุมมองและทำความเข้าใจเบื้องหลังที่มาของความสวยงามในทุกรูปถ่าย

 

รชฏ วิสราญกุล คือช่างภาพที่คร่ำหวอดในวงการถ่ายภาพเมืองไทยมายาวนานกว่า 40 ปี ผลงานภาพถ่ายส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง คือการบันทึกความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติผ่านงานรูปแบบ Landscape แนวสารคดีที่ถ่ายทอดทั้งความยิ่งใหญ่และสวยงามผ่านเลนส์และกล้อง Sony

 

ปัจจุบัน รชฏ วิสราญกุล เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากสายตาที่มองผ่าน View Finder เพื่อบันทึกเหตุการณ์ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราสนใจมุมมอง ความคิด และความรู้ทั้งหมดจากภาพถ่ายและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านจากอดีตถึงปัจจุบัน THE STANDARD ได้มีโอกาสพิเศษพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอง

 

หัวใจของภาพ Landscape คือการนำเสนอธรรมชาติ

 

 

“หลังจากที่ท่องเที่ยวถ่ายภาพมาตลอด ผมอาจจะโชคดีอย่างหนึ่งคือ ได้มีโอกาสทำอาชีพที่ชอบ เพราะเราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ชอบอุปกรณ์ ชอบเดินทางท่องเที่ยว หัวใจของภาพ Landscape คือการบันทึกภาพเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของสถานที่นั้นๆ ความยิ่งใหญ่ของปฐพี ภูเขา ทุ่งหญ้า ทะเล”

 

 

การเดินทางเพื่อบันทึกความเป็นไปของธรรมชาติและโลกในแต่ละพื้นที่ ทำให้เขาได้ศึกษาในแต่ละพื้นที่อย่างจริงจัง ศึกษาภูมิทัศน์ทั้งหมด ศึกษาสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล ศึกษาความพิเศษในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละพื้นที่ มีหน้าฝน หนาว ร้อน ใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง เช้า-เย็น ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสวยงามของ Landscape นั้นๆ

 

“สำหรับพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกเราถ่ายมา 30-40 ปี มันก็ไม่เบื่อ ผมว่าเป็นธรรมดาของช่างภาพทุกคน วันนี้พระอาทิตย์ขึ้นมีแสงระเบิด พรุ่งนี้ก็แตกต่างกันไป มันไม่ซ้ำกันเลย แล้วทุกครั้งที่เราไปเที่ยวทะเล หรือแม้กระทั่งขับรถในกรุงเทพฯ เราจะพบกับแสงทไวไลท์ ต้องหาที่จอดรถถ่ายภาพทันที

 

“บางทีเราไปอยู่บนยอดเขา เห็นพระจันทร์ขึ้น ท้องฟ้าสีสวย บางทีพระจันทร์ก็ค่อยๆ แหว่งหายไป เราก็จินตนาการไป เปรียบเหมือนชีวิตของคนเราว่า พระจันทร์มันเต็มดวง บางทีก็สมหวัง บางทีชีวิตมันก็แหว่งหายไปในช่วงเวลาที่เราลำบากบ้าง บางทีมันก็เป็นอารมณ์ของช่างภาพ ทำให้เราจินตนาการ อันนี้คือประสบการณ์จากการเดินทาง”

 

Landscape คือการบันทึกความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

 

 

“ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ใช้กล้อง Sony ไปถ่ายภาพที่มองโกเลีย ก็มี Landscape หลายภาพที่ถ่ายที่นั่น คือเป็นช่วงหิมะเริ่มลง เป็นฉากกว้าง เห็นภูเขาแนวยาว มีคนต้อนฝูงแพะ อพยพย้ายถิ่น ในภาพนั้นก็แสดงให้เห็นว่าพอฤดูกาลนั้นมาถึง คนที่ใช้ชีวิตอยู่ใน Landscape เขาจะต้องย้ายถิ่น พอฤดูกาลเปลี่ยนมันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา เขาจะต้องย้ายฝูงสัตว์ไปหาแหล่งอื่นๆ ที่มีน้ำมีอาหาร”

 

รชฏ วิสราญกุล เล่าถึงความหมายของภาพถ่ายไว้ว่า “บางทีในรูปมันต้องเล่าเรื่อง ความสวยงามของธรรมชาติ ในธรรมชาติมันมีชีวิต เขาดำรงอยู่อย่างไรแต่ละชนเผ่า เราต้องดูองค์ประกอบที่เล่าเรื่อง คอนเทนต์ในรูป มันจะเล่าด้วยตัวของมันเอง”

 

ในพื้นที่แตกต่างกัน จุดสนใจก็แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น หากถ่ายภาคเหนือ ทุ่งบัวตองออกดอก เราก็จะมองเห็นความสวยงามของดอกไม้ กับการถ่ายภาพที่ไอซ์แลนด์ แล้วถ่ายภาพเห็นลำธาร มีน้ำตกเป็นจุดสนใจของภาพ หรือภูเขาที่มีหิมะน้ำแข็งปกคลุม เราก็เน้นความสวยงามของพื้นที่ นี่คือความหลากหลายของ Landscape

 

เสน่ห์ของการถ่ายภาพสำหรับ อ.รชฏ คือการสังเกตทุกอย่างรอบตัว

 

 

“พอเรารักการถ่ายภาพ เราจะเริ่มสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว ช่วงที่เราเดินทางเราก็จะสังเกตหรือเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทาง ที่จริงการถ่ายภาพ ถ้าชอบ เราจะเห็นทุกอย่างรอบตัวเลย อย่างเวลา มันทำให้เราเป็นคนช่างสังเกต บางที่เราเห็นคนเดินข้ามถนนพร้อมกับแสงอาทิตย์ช่วงเช้า-ช่วงเย็นมันสาดมา มีเงาทอดมา

 

“ขึ้นรถเมล์อาจจะเห็นผู้คนที่นั่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามที่มีแสงทอดผ่านเข้ามาทางหน้าต่าง สีหน้ากำลังดูโทรศัพท์มือถือ บางคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็เศร้าหม่นหมอง มีความกังวลใจ เมื่อเราสังเกตก็จะทำให้สามารถบันทึกภาพพวกนี้ออกมาได้”

 

สำหรับ อ.รชฏ การเดินทางคือการต่อเติมจินตนาการจากการดูหนัง อ่านหนังสือ ที่พูดถึงสถานที่ต่างๆ เมื่อได้มีโอกาสออกไปพบเห็น ผจญภัย สัมผัสความยากลำบาก ความสูงชัน ความหนาวเหน็บ ในสถานที่ต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตของเขา เป็นความหลงใหลในความสวยงามของธรรมชาติ

 

“เราอยากไปแต่ละจุด เช่น เทรกกิ้งที่เนปาล เราต้องฟิตร่างกาย เพราะไปสถานที่แบบนี้ ที่สูงและอากาศบาง เราต้องพยายามรักษาสุขภาพรักษาชีวิตไว้ให้ได้ และที่สำคัญต้องฟิตให้ยกอุปกรณ์ถ่ายภาพไหวด้วย”

 

พัฒนาการของเทคโนโลยีกล้อง ทำให้เรามีความคล่องตัวและสามารถเก็บภาพที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

 

 

“เมื่อเราอายุมากขึ้น อุปกรณ์มันก็ทันสมัยมากขึ้น หลังจากที่ผมมาใช้ Sony ตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำ Mirrorless ผมใช้ตั้งแต่ตัวแรกๆ มาเป็น A7 หรือ A9 มันทำให้เราจับอุปกรณ์ได้คล่องขึ้น อุปกรณ์เบาลง เลนส์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ที่มันหนักมาก บางทริปที่เราเดินทางมา เราก็จัดใช้เลนส์ได้ลงตัวมากขึ้น ระยะหลังที่เราเดินทางบ่อย เพื่อประหยัดค่าเดินทาง เราก็เลือกใช้สายการบิน Lowcost มากขึ้น ซึ่งไม่มีบริการเรื่องน้ำหนักกระเป๋าให้ เราต้องพยายามจัดชุดกล้องให้เบาและมีขนาดเล็กลง อันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ตอบโจทย์ให้เรามีทางเลือก”

 

ชั่วโมงบินในวงการของ อ.รชฏ ถือว่ายาวนาน และการทำงานมายาวนานทำให้ได้สัมผัสอุปกรณ์มากมาย หลักคิดในการเลือกสรรอุปกรณ์ของอาจารย์คือ การศึกษาสเปกของอุปกรณ์ ทั้งการใช้งาน คุณภาพไฟล์งาน และดูรีวิวเยอะมากพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ก่อนนำไปใช้ถ่ายงานจริง

“สำหรับเรื่องคุณภาพไฟล์ปัจจุบัน จะเอาไปใช้แค่โซเชียลมีเดียหรือเอาไปใช้สำหรับจัดนิทรรศการที่สามารถขยายเป็นภาพขนาด 1 เมตรได้ ผมคิดว่า กล้องส่วนใหญ่ตอนนี้ตอบโจทย์และเกินมาตรฐานที่เราวางไว้มาก ตอนนี้เราต้องดูเรื่องราคา เรื่องน้ำหนัก บางราคาก็แพงไป น้ำหนักบางอันก็รับไม่ไหว ผมแนะนำสำหรับคนที่ถาม อันดับหนึ่งเลย ถ้าคุณรักการถ่ายภาพ พยายามซื้อของที่ดีที่สุดที่คุณสามารถซื้อได้โดยตัวคุณเองไม่เดือดร้อน แล้วก็ไม่เดือดร้อนคนรอบข้างด้วย เพราะคุณต้องไปยืมเพื่อนฝูงหรือขอเงินพ่อแม่ อย่าให้เดือดร้อน เพราะมันจะไม่มีความสุข และมันจะกลายเป็นภาระ”

 

ในมุมมองของ อ.รชฏ เทคโนโลยีได้สร้างนวัตกรรมมากมาย ในขณะเดียวกันก็ทำลายไปหลายอย่างเช่นกัน

 

“สมัยก่อนเราจะเห็นร้านถ่ายรูปเยอะไปหมด ตามตลาด ตามหัวตรอก แต่พอเทคโนโลยีมา พวกนี้ก็ถูกทำลายไปหมด ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็สร้างโซเชียลมีเดียมากขึ้น คนเข้าถึงการถ่ายรูปมากขึ้น”

 

เราไม่สามารถแนะนำมุมมองภาพให้กับใครได้ เพราะทุกคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน

 

ด้วยความแตกต่างของประสบการณ์ อาจทำให้มุมมองในการถ่ายภาพของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ทำให้เราสามารถเห็นผลงานภาพถ่ายที่หลากหลายได้ โดยไม่สามารถตัดสินความสวยงามของมุมมองของแต่ละคนได้ สิ่งที่สามารถแนะนำได้อาจเป็นเพียงเชิงเทคนิคเท่านั้น

 

“สิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาของทุกคนไม่เหมือนกัน คุณเกิดในเมือง คุณอาจจะไม่เคยเห็นทุ่งหญ้า ทุกวันคุณเห็นแต่ตึก คนที่เกิดในพื้นที่อื่นเขาจะมีความทรงจำและประสบการณ์อื่น มีมุมมองความรู้สึกคนละอย่าง เราจึงไม่สามารถเอาความรู้สึกของเราไปใส่ที่เขาได้ เพราะเหมือนกับคุณมีไม้บรรทัด ถ้าหงายฝั่งหนึ่งเป็นนิ้ว อีกฝั่งเป็น เซนติเมตร เพราะฉะนั้นสเกลมันไม่เท่ากัน เว้นแต่ช่างภาพคนนั้นเขามีปัญหาทางเทคนิค มันควรจะถ่ายอย่างไร เราอาจจะแนะนำกว้างๆ ด้านเทคนิคได้ แล้วแต่ว่าเขาต้องการให้เราช่วยอะไร แต่สำหรับจินตนาการภาพควรจะเป็นอิสระของเขา”

 

ในการเป็นช่างภาพ อีกสิ่งสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งนับเป็นมารยาทที่ช่างภาพต้องยึดถือ

“แล้วบางทีมารยาทของช่างภาพอีกอย่างคือ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล เช่น เราไปถ่ายภาพเขา ส่วนใหญ่ผมจะไม่ไปถึงแล้วเอากล้องเข้าไปจ่อหน้าเขา บางทีสถานที่ที่ผมจะไปถ่ายมีชาวนา ชาวพื้นเมือง บางทีเราก็จะไปทำความคุ้นเคยกับเขา

 

“อาจไม่ต้องถึงกับเข้าไปคุยกับเขา แต่ทำความคุ้นเคยกับสถานที่และคนในพื้นที่ ยิ้มทักทายกันบ้าง ถ้าเราอยู่ไกลก็อาจจะถ่ายได้ จัดเขาไว้ในฉาก แต่ถ้าอยู่ใกล้ก็อาจจะเข้าไปขอเขาดีๆ ซึ่งในบางครั้ง ชนพื้นเมืองเขาก็ไม่ให้ แล้วแต่ประเทศ ชุมชนที่เราไป มันจะแตกต่างกันออกไป”

 

ช่างภาพจะพัฒนาตัวเองต่อเนื่องได้จากความขยันที่จะเรียนรู้พื้นฐาน และเรียนรู้จากภาพคนอื่น ภาพยนตร์ และภาพวาด

 

 

สำหรับการพัฒนาฝีมือในการถ่ายภาพนั้นได้ถูกสรุปไว้ง่ายๆ คือ 

1. ต้องศึกษาอุปกรณ์

2. พยายามศึกษาหาแนวทางที่ชอบของตัวเองในการถ่ายภาพ

3. หมั่นเรียนรู้ ช่างสังเกตจากสิ่งรอบตัว

 

“ต้องศึกษา อันดับแรกเลยคือ ศึกษากล้องที่คุณมีก่อน นั่งอ่านคู่มือกล้อง เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่าน เราต้องใช้ให้เป็นก่อน อันหนึ่งที่ง่ายสุดก็คือ พยายามดูรูปคนอื่นให้เยอะๆ ศึกษาดูแล้วหาว่าทำไมเราถึงชอบ ทำไมถึงสวย เขาถ่ายอย่างไร มีอะไรในภาพบ้าง แล้วดูรูปที่เราเลือกดูแล้วชอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพที่ได้รางวัลหรือคนอื่นชอบ บางครั้งดูหนังสือเกี่ยวกับภาพจากช่างภาพดังๆ บางทีเราก็ไม่ต้องชอบทุกคนนะ เพราะว่ามีเยอะ

 

“อีกอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้คือ จากภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่ได้รางวัลเรื่องภาพได้เพราะอะไร จริงๆ ผมเรียนรู้จากการดูหนังเยอะ แม้ว่าจะถ่ายภาพวิดีโอไม่เป็น รวมถึงเราต้องขยันดูภาพเขียนด้วย เข้าพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ภาพเขียนต่างๆ เพราะจริงๆ ก็เป็นหลักการเดียวกัน ถ้าคุณเรียนมาในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับศิลปะต่างๆ ปีแรกๆ คุณจะเรียนเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ เส้นสาย เรื่องของสี มันหลักการเดียวกับการถ่ายภาพ ยิ่งถ้าคุณมีหลักการพวกนี้อยู่แล้ว คุณจะไปได้ไกล”

 

การมีความรู้ถือเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการทำงานทุกอย่าง

 

“เบสิกต่างๆ เหล่านี้ ก็เหมือนการสร้างตึก ยิ่งคุณรู้ลึกเหมือนกับคุณฝั่งเสาเข็ม ยิ่งลงไปลึกและแน่นหนา คุณก็ยิ่งสร้างตึกได้สูง คุณต้องพยายามหมั่นศึกษาแนวทางที่ถูกต้อง คุณก็จะเข้าใจว่าภาพนี้ทำไมต้องวาง Subject ไว้ตรงไหน เพราะอะไร ทิ้งช่องว่างตรงไหน เส้นตรงนี้ต้องมีเพราะอะไร เราจะอธิบายและวิเคราะห์องค์ประกอบของภาพของคนอื่นๆ ได้เช่นกัน”

 

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้การถ่ายภาพเข้าถึงทุกคน และทำให้เราสามารถถ่ายภาพด้วยเทคนิคหรือมุมมองที่ไม่สามารถทำได้ในอดีตได้ เช่น การถ่ายภาพรถ หากเป็นสมัยก่อนอาจเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างง่ายและเป็นไปได้เสมอ

และนอกจากกล้องแล้ว การใช้เลนส์ G Master ทั้ง 2 รุ่น คือ SEL 100400 GM และ SEL 85F14 GM

จากโซนี่ก็ยิ่งทำให้รังสรรค์ภาพถ่ายออกมาได้อย่างคมชัด เก็บรายละเอียดได้อย่างยอดเยี่ยม

 

“วันนี้ทุกคนเป็นช่างภาพได้หมด เพราะเทคโนโลยี แต่สมัยก่อนการเป็นช่างภาพเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก เพราะทุกครั้งที่คุณกดชัตเตอร์ มันมีค่าใช้จ่าย ส่วนสมัยก่อนคุณกดไปครบ 36 รูป บางทีก็ต้องรอหลายวัน ฟิล์มบางชนิดต้องรอเป็นเดือน เพราะต้องส่งไปล้างต่างประเทศก็มี แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าแค่ไหน ช่างภาพที่เก่งจริงๆ ไม่ว่ายุคสมัยใหม่ก็อยู่ได้ ถ้าเขามีเอกลักษณ์ ฝีมือ และไม่หยุดเรียนรู้ นั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของช่างภาพ”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI

 

Sony Meets Art เป็นโครงการที่โซนี่นำเสนอถึงความหลากหลายของศิลปะภาพถ่ายจากช่างภาพมืออาชีพ ที่ถ่ายทอดและเชื่อมโยงเทคโนโลยีที่ทรงคุณค่าของกล้อง Sony Alpha จากมุมมองศิลปินนักถ่ายภาพระดับมืออาชีพทั้งชาวไทยและต่างชาติทั้ง 17 ท่าน เพื่อให้เห็นถึงความละเอียด คมชัด และคุณภาพของไฟล์ที่ได้จากกล้องโซนี่ เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นถึงพลังและความสวยงามของสถานที่ เรื่องราวต่างๆ ที่ได้บันทึกผ่านมุมมองไปกับกล้องคู่ใจ เมื่อเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมกล้องถ่ายภาพมีการพัฒนาและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง เหตุนี้เองก็ทำให้การเคลื่อนไหวและการเติบโตของช่างภาพเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กัน

 

นอกเหนือจากความก้าวล้ำอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว คุณภาพของไฟล์ภาพนั้นยังสำคัญมากต่อการใช้งานของนักถ่ายภาพมืออาชีพ นิทรรศการ Sony Meets Art จะพาทุกท่านไปชมความงามที่ถูกปรินต์ออกมาให้เห็นถึงความละเอียดของไฟล์ภาพ ซึ่งได้เห็นถึงพลังความคมชัดของภาพถ่ายหลากหลายประเภท อาทิ Landscape Fashion, Wildlife ที่ได้บันทึกถ่ายทอด เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินนักถ่ายภาพมืออาชีพ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X