วันนี้ (8 ธันวาคม) สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมายื่นคำร้องที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนโยบายพรรคเพื่อไทย สืบเนื่องจากกรณี แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้ประกาศนโยบาย 3 ข้อ ที่ตนมองว่าอาจสร้างผลกระทบระยะยาวในอนาคต และขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (1) (2) (3) หรือไม่
โดยนโยบาย 3 ข้อ ที่มองว่าอาจสร้างผลกระทบระยะยาวในอนาคต และขัดต่อกฎหมายพรรคการเมืองคือ
- นโยบายถมทะเลสมุทรปราการถึงสมุทรสาครเพื่อเพิ่มแผ่นดินใหม่ ในเรื่องนี้ตนมองว่านโยบายนี้เป็นนโยบายเก่าตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากจะทำต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และส่งผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว
- นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ตนมีความกังวลว่าจะทำให้เสียสมดุลทางเศรษฐกิจ หากมองค่าแรงขั้นต่ำในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN ค่าแรงขั้นต่ำก็อยู่ในวงเงินไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ต้องอย่าลืมว่าหากปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ค่าอุปโภคบริโภคก็ต้องปรับขึ้นตามหรือไม่ และนายจ้างจะจ่ายไหวหรือไม่
- นโยบายปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับพนักงานเดิมที่รับเงินเดือน 18,000 บาท เป็นธรรมต่อเขาหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบราชการด้วยอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไรที่กระทรวงแรงงานประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็ต้องมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ทั้งระบบราชการและเอกชนต้องปรับค่าเงินเดือนตาม
สนธิญายังกล่าวอีกว่า นี่คือนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการสกัดกลุ่มบริษัทของประเทศซาอุดีอาระเบียที่กำลังจะนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวน 3 แสนล้านบาทในปี 2566 ใช่หรือไม่ หรือเป็นการสกัดบางบริษัทที่จะเข้ามาผลิตและใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีกจำนวน 3-4 แสนล้านบาท เพราะนี่คือนโยบายการเพิ่มค่าแรง 600 บาทต่อวัน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายบริษัทเหล่านั้นด้วย
“ผมจึงเรียนว่าเป็นนโยบายที่ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างชัดเจน” สนธิญากล่าว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนของสนธิญา มี วรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พยายามเข้ามาสอบถามถึงการร้องเรียนพรรคพลังประชารัฐในประเด็นข้อครหาทางการเมืองต่างๆ เป็นระยะ ตั้งแต่จุดที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกระทั่งตอนยื่นหนังสือ จนช่วงหนึ่งสนธิญาต้องตอบกลับไปว่า “ผมอยู่ข้างรัฐบาล”