วันนี้ ( 23 มกราคม) สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย และ วีระ สมความคิด ประธานยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคเสรีรวมไทย และพรรคเสรีรวมไทย ที่ยื่นร้อง กกต. ให้ตรวจสอบ 5 ประเด็นเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ว่าเป็นการกระทำใส่ร้ายด้วยความเท็จทำให้เกิดความเสียหาย เข้าข่ายผิดมาตรา 101 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าในประเด็นที่สมชัยและวีระกล่าวหา ว่าการประชุมในวันดังกล่าวได้มีการขนคนมาร่วมประชุมอาจผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้น มองว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิบุคคลในการรวมกลุ่มทำอะไรก็ได้ รวมถึงจัดตั้งพรรคการเมือง การบอกว่าการขนคน มีการให้ทรัพย์สิน เข้าข่ายจูงใจ จึงต้องให้ กกต. ตีความว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรับรู้หรือไม่
ส่วนการแจกหมวก แจกเสื้อ สนธิญาเห็นว่าในการประชุมดังกล่าวพรรคได้มีการเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นทรัพย์สินของพรรค ดังนั้น ใครที่จะนำมาแจกจ่ายก็ต้องพึงระวัง และวันนั้นเป็นการประชุมใหญ่ของพรรคมีการรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสมาชิกพรรค พรรคต้องการความสวยงามจึงมีการแจกเสื้อและหมวกให้กับผู้ที่มาร่วมงาน เพราะต้องการสื่อให้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้ เมื่อถึงเวลาจะเดินทางกลับหากมีการคืนสิ่งเหล่านั้นให้กับพรรคก็ไม่มีปัญหา สำหรับการปราศรัยของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ไม่ขอก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากให้ กกต. พิจารณาว่าสิ่งที่ไตรรงค์ถูกกล่าวหาจากสมชัยจริงหรือไม่ อย่างไร
สนธิญายังกล่าวอีกว่า การที่สมชัยอ้างว่ามีการเชิญนักร้องมาร้องเพลงช่วงพักการประชุมของพรรค เข้าข่ายจัดมหรสพนั้น เคยสอบถาม กกต. หลายคน ได้รับคำยืนยันว่าก่อนที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะได้เบอร์ที่ใช้หาเสียง การแห่กลองยาวไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ถ้าได้เบอร์แล้วแห่ออกมามีสิทธิที่จะโดนใบแดง ดังนั้นการที่นักร้องขึ้นมาร้องเพลงก็ต้องให้ กกต. วินิจฉัยว่าเป็นการจัดมหรสพหรือไม่
ส่วนที่กล่าวหาว่าในการประชุมใหญ่ไม่มีการเซ็นชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม เห็นว่าไม่ว่าจะมีการเซ็นหรือไม่ไม่จำเป็นต้องรายงานใครให้ทราบ ยกเว้นรายงานให้ กกต. ทราบเท่านั้น ซึ่งในวันที่มีการจัดงานทราบว่าพรรคได้มีการเชิญ กกต. ส่วนหนึ่งไปร่วมสังเกตการณ์อยู่แล้ว
“สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเชื่อว่านายสมชัยได้นำความรู้สึกโกรธ เกลียดชัง ไม่ชอบ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นการส่วนตัว เนื่องจากเมื่อปี 2561 พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. สร้างความโกรธเคืองโกรธแค้นให้กับนายสมชัยมาเป็นลำดับ” สนธิญากล่าว
สนธิญายังยกตัวอย่างการกระทำของสมชัยที่เห็นว่าเข้าข่ายโกรธแค้นเกลียดชัง พล.อ. ประยุทธ์ ว่าเช่นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่ไม่ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งตนได้เข้าไปตอบโต้ว่าถ้าหากรัฐบาลอยู่เกินกว่าระยะเวลาที่ระบุ สมชัยพร้อมที่จะยุติการต่อว่ารัฐบาลหรือไม่ โดยหากรัฐบาลอยู่ไม่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์จริง ตนก็พร้อมจะยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน แต่ปรากฏว่าสมชัยก็ไม่ได้รับคำท้าและยังมีการบล็อกเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน รวมทั้งการยุบสภาก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่สมชัยระบุไว้
นอกจากนี้วันที่ 23 ธันวาคม 2565 สมชัยได้โพสต์ข้อความระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติถูกยุบ เพราะได้กล่าวว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรค ซึ่งก็ไม่จริง เพราะขณะนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และแม้ขณะนี้ที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นสมาชิกพรรคแล้ว ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังไม่ได้มีการประกาศว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงคนเดียว การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของสมชัยเกี่ยวกับ พล.อ. ประยุทธ์ สร้างความเคลือบแคลงให้สังคมเกิดความสงสัย ซึ่งไม่ทราบว่าทั้งสมชายและวีระกระทำในนามบุคคลหรือในนามพรรค จึงอยากให้ กกต. ตรวจสอบ
หากพบว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล มาตรา 101 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนถ้าพบว่าพรรครู้เห็นเกี่ยวข้อง กกต. จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค