วันนี้ (21 เมษายน) นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า ในช่วงนี้หากไม่จำเป็นควรเลี่ยงไปโรงพยาบาล หากเลื่อนนัดแพทย์ได้ควรเลื่อน หรือควรเลือกพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ (Telemedicine) แทน แต่หากจำเป็นต้องไปควรป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ รวมถึงเลี่ยงสถานที่แออัด ใช้เวลาสั้นๆ และสังเกตรอบตัว อยู่ห่างจากคนไอหรือจาม ส่วนโรงอาหารถ้าเห็นว่ามีปริมาณคนจำนวนหนาแน่น ควรซื้ออาหารกล่องแยกไปนั่งกินในที่ที่ไม่แออัด รีบกินและรีบเลิก เนื่องจากในช่วงนี้มีปริมาณผู้ติดโควิดจำนวนมาก
นพ.ธีระ ระบุต่อว่า ไม่ใช่แค่ประชาชน ญาติ และผู้ป่วย แต่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเองก็ต้องระวังมากๆ ทั้งแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และออฟฟิศด้วย ปีก่อนพุ่งกว่า 2 เท่าจากก่อนสงกรานต์ถึงหลังสงกรานต์ แต่พุ่งต่อเนื่องไปถึง 18 เท่าช่วงต้นเดือนมิถุนายน ดังนั้นอย่าประมาท
ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เป็นไปตามคาด หลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยติดโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นพ.มนูญ ระบุต่อว่า อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ และจมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด คนติดโควิดจะมีอาการเด่นคือ เจ็บคอมาก ไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก คัดจมูกเล็กน้อย จมูกได้กลิ่น ไม่ค่อยไอ ไม่เหนื่อย คนที่มีอาการเช่นนี้ขอให้แยงจมูกตรวจ ATK เอง ถ้าเห็น 2 ขีดแสดงว่าติดโควิด
สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรง เคยฉีดวัคซีนแล้ว และเคยติดโควิดมาแล้ว ไม่ต้องตกใจ ให้รักษาตามอาการ ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส จะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วัน ส่วนคนกลุ่ม 608 คนสูงอายุ มีโรคประจำตัว ไม่เคยติดโควิดมาก่อน หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแม้แต่เข็มเดียว แนะนำให้พบแพทย์ด่วน เพื่อรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
อ้างอิง: