วานนี้ (10 เมษายน) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2568 โดยมี พล.ต.อ. ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า องค์การ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงภาพลักษณ์และประเพณีอันดีงามของชาติไทย จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และบรรยากาศที่ดีงามตลอดช่วงเทศกาล โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ดังนี้
- มาตรการด้านการข่าวและการป้องกันเหตุ: ให้ทุกหน่วยติดตามสถานการณ์ในพื้นที่และภาพรวมอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนและบริหารจัดการมาตรการรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การซักซ้อมการปฏิบัติ การแสดงกำลัง (Show of Force) การตรวจค้น และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การละเล่นต่างๆ จะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยให้จัดชุดปฏิบัติการพร้อมระงับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที รวมถึงกำหนดแผนเผชิญเหตุ พื้นที่ทางการแพทย์ และกองอำนวยการร่วมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยเหลือผู้พลัดหลง หรือทรัพย์สินสูญหาย
- มาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่จัดงาน: ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีพื้นที่จัดงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศถึง 71 แห่ง เช่น ในกรุงเทพมหานคร 20 แห่ง (เช่น ถนนข้าวสาร, สนามหลวง, ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่), ชลบุรี 6 แห่ง, เชียงใหม่ 7 แห่ง, ภูเก็ต 2 แห่ง และนครราชสีมา 1 แห่ง โดยกำชับให้ทุกพื้นที่เตรียมแผนปฏิบัติการและแผนเผชิญเหตุที่ชัดเจน มอบหมายผู้รับผิดชอบพื้นที่ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่และสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลพื้นที่รับผิดชอบและซักซ้อมการปฏิบัติอย่างละเอียด กรณีมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ให้สามารถตัดสินใจระงับหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันความหนาแน่นจนอาจเกิดอันตรายต่อประชาชน นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ระบบการสื่อสาร เส้นทางหลัก-รอง-ฉุกเฉิน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณงาน กำหนดจุดรับ-ส่ง จุดจอดรถ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน
- มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม: เน้นย้ำการเปิดสัญญาณไฟวับวาบ การตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะต้องสงสัย การตั้งจุดตรวจจุดสกัด โดยผู้บังคับบัญชาต้องลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการ “ตำรวจร่วมใจ ยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชน” (ฝากบ้าน 4.0) ร่วมกับสายตรวจ จราจร และฝ่ายสืบสวน เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำรอย โดยผู้บังคับการ ผู้กำกับการ และหัวหน้าสถานีตำรวจต้องรับผิดชอบในพื้นที่อย่างชัดเจน พร้อมทั้งวางแผนและคัดกรองบุคคลเพื่อป้องกันการนำอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธเข้ามาในพื้นที่จัดงานอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 21-30 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศ โดยเน้นเป้าหมายความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และบุคคลตามหมายจับ สามารถจับกุมและตรวจยึดอาวุธปืนได้ 5,398 กระบอก เครื่องกระสุน 39,069 นัด และจับกุมบุคคลตามหมายจับได้ 18,746 ราย นอกจากนี้ ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้ระดมกวาดล้างอาชญากรรมในช่วงวันที่ 7-9 เมษายน 2568 สามารถจับกุมชาวต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายได้รวม 8,687 ราย
- มาตรการด้านการจราจร: ในเส้นทางที่ประชาชนใช้จำนวนมาก จะต้องมีการปรับแผนการเร่งระบายรถอย่างต่อเนื่อง เตรียมพื้นที่พักรถ ประสานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จุดชาร์จรถไฟฟ้า และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือรถเสีย ซ่อมแซม ยกรถ และขอคืนพื้นที่การจราจร
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศเพื่อดูแลการจราจร โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณรถยนต์เดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานครในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2568 มากกว่า 7 ล้านคัน (เพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์ปี 2567 ที่มีประมาณ 6.8 ล้านคัน)
โดยคาดว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 และจะมีปริมาณรถออกมากที่สุดในวันที่ 12 เมษายน 2568 (คาดการณ์ 670,000 คัน) ส่วนปริมาณรถที่จะเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ มากที่สุดคือวันที่ 16 และ 17 เมษายน 2568 (คาดการณ์วันละ 580,000 คัน) ทั้งนี้ ตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ (admit) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยเฉพาะในช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2568
นอกจากนี้ยังสั่งการให้สำรวจจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากปัจจัยสภาพถนนที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา รวมถึงกำหนดช่องทางเดินรถขึ้นและล่อง ควบคุมหรือห้ามเลี้ยวรถในทางร่วมทางแยกบางสาย ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเดินรถในบางเส้นทาง พร้อมกำชับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก โดยเน้นหนัก 5 ข้อหา ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถย้อนศร และให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับซ้ำภายในสองปี และสอบสวนขยายผลกรณีผู้ขับขี่เป็นเด็กหรือเยาวชนด้วย
- มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์: กำชับโฆษกของแต่ละหน่วย โดยเฉพาะในพื้นที่จัดงาน กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางหลวง ให้ประชาสัมพันธ์เส้นทาง การปฏิบัติตนในพื้นที่จัดงาน การกระทำที่สุ่มเสี่ยงและฝ่าฝืนกฎหมาย การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ การบริหารจัดการพื้นที่ และการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการใช้รถใช้ถนน และเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสอบถามเส้นทางจราจร สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599, สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 และสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง