×

สงกรานต์ 15 ปีย้อนหลัง คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนน 6 พันคน เจ็บอีกเกือบ 4 แสนคน ภาคี สสส. ถกหาทางออก-บังคับใช้กฎหมายจริงจัง

โดย THE STANDARD TEAM
22.04.2022
  • LOADING...
สงกรานต์

วานนี้ (21 เมษายน) มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ป ถอดบทเรียนเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เพื่อระดมความคิดเห็นสื่อมวลชน ในหัวข้อ 2565: สงกรานต์หรือสงคราม แก้ปัญหาอย่างไรในมุมสื่อ จากปัญหาอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท

 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดการเดินทาง อุบัติเหตุจึงเพิ่มขึ้น 6.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปี 2564 ที่น่าเป็นห่วงคือความรุนแรงจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น วัดได้จากการเสียชีวิตคาที่เพิ่มจาก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากความเร็ว 56.8 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   

 

ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับนั้นพบว่า คนที่บาดเจ็บ 1 ใน 4 พบแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือด แต่ภาพรวม 7 วันอันตราย การดื่มแล้วขับที่ทำให้เสียชีวิต ลดลงจาก 21.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 16.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิต   

 

ส่วนยานพาหนะที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นกลุ่มหลัก รองลงมาคือ รถกระบะ ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงต่อจำนวนครั้งการเกิดเหตุ พบว่ารถกระบะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าจักรยานยนต์ถึง 2.18 เท่า ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยเรื่องของความเร็วและการใช้อุปกรณ์นิรภัยร่วมด้วย โจทย์สำคัญที่ต้องหามาตรการป้องกัน คือ แนวโน้มปัญหาความรุนแรงอุบัติเหตุที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในเทศกาลและช่วงปกติ จำเป็นต้องมีมาตรการมาจัดการเรื่องนี้อย่างบูรณาการและเป็นระบบทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ทั้งในด้านกายภาพและด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสื่อมวลชนจะมีบทบาทกระตุ้นส่งสัญญาณให้มีการจัดการและปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เพิ่มบทบาทด่านหน้า คือ ท้องถิ่นชุมชน หน่วยงานองค์กรต่างๆ ในการจัดการความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การลดความเร็ว ไม่ขับจี้ เว้นระยะห่าง ดื่มไม่ขับ และเพิ่มการใช้หมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย

 

ขณะที่ วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ที่ทำงานบุญประเพณีปลอดเหล้าปลอดภัย กล่าวว่า หลายพื้นที่มีการปรับตัวโดยจัดงานประเพณีสงกรานต์เน้นการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง 

 

โดยภาพรวมความปลอดภัยในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ถือว่าดีขึ้น อาจจะเป็นเพราะประเด็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มกลายเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานกล้าที่จะออกมาสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ชุมชนหลายพื้นที่เข้มแข็ง ลุกขึ้นมาออกแบบและจัดการพื้นที่ของตนเอง อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความรุนแรง การทะเลาะวิวาทในหลายพื้นที่ เช่น มุกดาหาร นครราชสีมา และอีกหลายพื้นที่ รวมทั้งธุรกิจน้ำเมายังคงมีอิทธิพลและแทรกแซงนโยบายในหลายพื้นที่ แฝงตัวสนับสนุนหลักกับหน่วยราชการต่างๆ

 

วิษณุกล่าวอีกว่า ปัญหาของสงกรานต์ปีนี้คือหลายพื้นที่ขาดการทำงานเชิงรุกในจุดเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่เล่นน้ำหรือพักผ่อนของคนจำนวนมาก ขาดหน่วยงานหรือกลไกในการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง ขาดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ร้านค้าในพื้นที่ และยังพบว่าธุรกิจแอลกอฮอล์ยังคงเข้ามาส่งเสริมการตลาดโดยจัดให้มีลานเบียร์ในจุดที่ไม่มีการควบคุมดูแล ระยะยาวต้องเปลี่ยนความคิด ทำให้วัยรุ่นเห็นความหมาย คุณค่าที่แท้จริงของงานสงกรานต์ 

 

เพราะพฤติกรรมของเยาวชนมีแนวโน้มจะออกมาใช้ชีวิตเล่นน้ำสงกรานต์ช่วงค่ำ-กลางคืนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจผลประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับ สสส. พบว่า ประชาชนร้อยละ 84 รู้สึกกังวลกับการแพร่ระบาดของโรคโควิดมากที่สุด รองลงมาคือ กังวลเรื่องอุบัติเหตุจากการเดินทาง ร้อยละ 82.7 และกังวลเรื่องการทะเลาะวิวาท ร้อยละ 76.6 กังวลเรื่องคนเมา ร้อยละ 68.6 และมีถึงร้อยละ 97 เห็นว่าการจัดงานสงกรานต์แบบปลอดเหล้าทำให้รู้สึกปลอดภัย  

 

ด้าน ชุติมา บูรณรัชดา รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่เฉพาะช่วงสงกรานต์ แต่เกิดทุกวันตลอดทั้งปี ตายไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ดังนั้นควรให้ความสำคัญกันตลอดทั้งปี นอกจากปัจจัยเรื่องเมาและความเร็วแล้ว ปัญหาการก่อสร้างถนนหนทางทั่วประเทศก่อสร้างตลอดทั้งปีก็มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ทางแก้ที่ยั่งยืนคือการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง จะต้องทำต่อเนื่อง ไม่ทำกันแบบไฟไหม้ฟาง  

 

เช่นเดียวกันกับการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงสงกรานต์ แต่เกิดขึ้นได้ทุกงาน ทั้งงานบวช งานบุญ สาเหตุไม่ใช่มาจากแอลกอฮอล์อย่างเดียว อาจเป็นเพราะนิสัยคนไทยหมั่นไส้กันง่าย พอเหล้าเข้าปากก็ขาดสติ บทบาทสื่อมวลชนจึงทำหน้าที่ในการสะท้อนมุมมอง สะท้อนเหตุการณ์ กระตุ้นเตือนสังคม อย่ามองว่าเป็นเรื่องชาชิน ปัญหานี้อยู่ที่คนรับผิดชอบในระดับโครงสร้าง ระดับนโยบายจะต้องเห็นความสำคัญและเอาจริงเอาจัง

 

ขณะที่สื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจ เช่น วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขมีการสรุปสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลังแล้ว พบว่าคนไทยเสียชีวิตไม่ต่างจากสงครามในยูเครน คือ นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงล่าสุดสงกรานต์ปี 2565 รวม 15 ปี คนไทยตายไป 6,183 คน บาดเจ็บ 391,691 คน ต้องแอดมิตในโรงพยาบาล 73,548 คน ถ้าหากรวมเทศกาลปีใหม่ เทศกาลเข้าพรรษา และทุกๆ วัน คงมีจำนวนมหาศาล  

 

ส่วน ศักดา แซ่เอียว หรือเซีย การ์ตูนนิสต์ของไทยรัฐ เสนอว่าต้องลดพื้นที่เล่นสนุกสงกรานต์ลง แล้วเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้ชุมชนจัดกิจกรรมงานบุญมากขึ้น ชุมชนไหนทำดี ไม่ตีกัน ไม่มีแอลกอฮอล์ ก็ให้รางวัลระดับชาติไปเลย นอกจากนี้ สสส. และภาคีควรทำงานกับผู้นำท้องถิ่นที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากขึ้น

 

ด้าน ประเสริฐ เอี่ยมสนิทอมร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ข่าวอีสานไทยแลนด์ จากจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ควรแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษคดีเมาแล้วขับชนคนตายให้หนักกว่าเดิม และอยากให้กวดขันการดื่มแอลกอฮอล์นอกพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ทั้งก่อนและหลังการจัดงาน ส่วน กาญจนา นิตย์เมธา ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสปริงค์นิวส์ กล่าวว่า การรณรงค์และแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และยั่งยืน ที่ผ่านมาพอเกิดเหตุทุกคนตื่นตัวสนใจ แต่หลังจากนั้นก็กลับไปเหมือนเดิม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X