วงการนาฏศิลป์ไทยมีข่าวสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยเช้าวันนี้ นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) แจ้งว่า นางส่องชาติ ชื่นศิริ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครรำ) ปี 2535 ได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคชรา สิริอายุรวม 99 ปี 9 เดือน
สำหรับกำหนดการในวันนี้ เวลา 17.00 น. จะมีการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลา 9 วัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ และสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 17-23 เมษายน 2561 เวลา 19.00 น. และเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะเป็นผู้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท
สำหรับประวัติของ ครูส่องชาติ ชื่นศิริ ศิลปินแห่งชาติ เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2461 เป็นศิลปินผู้มีความสามารถชั้นสูงในทางศิลปะด้านละครรำ เป็นผู้รำกระบวนรำแม่บทใหญ่ ซึ่งสถาบันการศึกษาใช้เป็นแบบเรียน ‘แม่ท่า’ ในการสอนนาฏศิลป์ไทยในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปถึงชีวิตของครูในอดีต เมื่อครูจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขณะนั้นอายุ 12 ปี บิดาได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระยาสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน สุนทรนัฎ) ซึ่งในวงการละครโขนมักเรียกว่า ท่านเจ้าคุณสุนทร หัดรำครั้งแรกตามแบบโบราณ ได้ประมาณปีเศษจึงได้ออกแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการประกอบพิธีไหว้ครูประจำปีที่บ้านเจ้าคุณสุนทรฯ และมีการแสดงละครฉลอง และได้รับคัดเลือกให้แสดงเป็นตัว ‘นางบุษบา’
ต่อมาครูได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ และเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียน ได้รับการคัดเลือกให้หัดเป็นตัวพระ เริ่มแสดงเป็นตัว ‘พระนเรศวร’ ในละครเรื่อง พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ของหลวงวิจิตรวาทการเป็นครั้งแรก ในโรงละครชั่วคราวของกรมศิลปากร ซึ่งสร้างโดยเอาไม้ไผ่มาทาเสา เอาผ้าใบมุงหลังคา จนได้รับฉายาว่า ‘พระเอกโรงไม้กระบอก’ จากนั้นได้แสดงละครรำบ้าง ละครแบบหลวงวิจิตรวาทการบ้าง เช่น ตัวหลวิชัย ตอนเผาพระขรรค์ พราหมณ์เกศสุริยง ในเรื่องสุวรรณหงส์ ตัวระบำในชุดต่างๆ ฯลฯ และได้รับบทเป็นพระเอกมาโดยตลอด หลวงวิจิตรวาทการจึงบรรจุเป็นศิลปินให้ทันทีเมื่อมีโอกาส
เมื่อประมาณปี 2482 ครูส่องชาติ เป็นผู้รำกระบวนรำแม่บทใหญ่ ซึ่งครูลมุลกับครูมัลลี (หมัน) ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้น (ท่าเชื่อม) จากหนังสือตำราฟ้อนรำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นครั้งแรก ในละครเรื่องสุริยคุปต์ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ และใช้เป็นแบบเรียน ‘แม่ท่า’ การสอนนาฏศิลป์ไทยมาจนทุกวันนี้เกือบทุกสถาบัน
ครูส่องชาติ เป็นศิลปินผู้มีความสามารถรอบตัว จดท่ารำทุกกระบวนรำของครูโบราณได้อย่างแม่นยำหลายรูปแบบ มีทั้งละครรำ ละครพันทาง และละครแบบหลวงวิจิตรวาทการ โดยแสดงเป็นตัวพระ ตัวนาง และระบำเบ็ดเตล็ดมากมายเกินกว่า 1,000 ครั้ง มีลีลาการแสดงเป็นที่ประทับใจและเป็นที่กล่าวขานชื่นชมของผู้ชมและผู้บังคับบัญชาในอดีตเสมอมา ทั้งยังถ่ายทอดพัฒนาลีลาท่ารำของครูโบราณให้กับลูกศิษย์มาตลอด เป็นที่ยกย่องอย่างสูงในแวดวงศิลปะการแสดงด้านละครรำ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ
อ้างอิง: