จากกรณีเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา สมหญิง บัวบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย จังหวัดอำนาจเจริญ กับพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบแปรญัตติให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดอำนาจเจริญ, ทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่การเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และวิธีการสร้างสนามกีฬาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง สมหญิง บัวบุตร สส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดอำนาจเจริญ กับพวก รวม 12 คน เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามคดีหมายเลขดำที่ อม.18/2565
ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดี สมหญิง บัวบุตร สส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดอำนาจเจริญ กับพวก รวม 12 คน ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี
ล่าสุดวันนี้ (5 กันยายน) ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา สมหญิง บัวบุตร อดีต สส. พรรคเพื่อไทย พร้อมพวก รวม 12 คน ทนายความเดินทางมาศาลฎีกาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยใช้เวลาฟังคำพิพากษา ประมาณ 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ
โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า สมหญิง บัวบุตร อดีต สส. พรรคเพื่อไทย หรือจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 100,000 บาท แต่องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น สส. สมัยแรกเพียง 3 เดือนเศษ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างใด หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 นำคณะครูไปยังสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 เพื่อแจ้งปัญหาการก่อสร้างสนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้มีการบอกเลิกสัญญาในบางโรงเรียน เป็นการระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 3 ปี
ส่วนจำเลยที่ 2 ชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 127/1 กระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จำคุก 5 ปี และปรับ 150,000 บาท
แต่องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน คงกระทำความผิดไปตามเงื่อนไขในชั้นกรรมาธิการว่าจะต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดประกอบการจัดสรรงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎร โดยการประสานงานจาก สส.
ซึ่งจำเลยที่ 2 มุ่งหวังจะให้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย (งบแปรญัตติ) เพิ่มเติมให้แก่หน่วยงานในสังกัดของตนเท่านั้น
ต่อมามีการสร้างสนามฟุตซอลเพื่อประโยชน์ของโรงเรียนจริง โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบกับจำเลยที่ 2 อายุ 71 ปีเศษ ปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นเวลานาน นับว่ามีคุณงามความดีมาก่อน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 3 ปี
ส่วนจำเลยที่ 4-11 ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทและคณะกรรมการที่ยื่นเสนอราคา ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5, 7, 9 และ 11 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 4, 6, 8 และ 10 เป็นเงินคนละ 22,467,500 บาท แต่ในทางนำสืบของจำเลยที่ 4-11 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 5, 7, 9 และ 11 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 4, 6, 8 และ 10 คนละ 14,978,333.333 บาท
ส่วนจำเลยที่ 12 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 จำคุกจำเลยที่ 12 มีกำหนด 2 ปี โดยไม่มีเหตุบรรเทาโทษ เนื่องจากจำเลยที่ 12 เข้าไปมีส่วนสำคัญในการชี้แจงแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง มีการแจกซองเอกสารระบุชื่อโรงเรียน และแผ่นซีดีที่มีข้อมูลการจัดทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง อันบ่งชี้ว่ามีการวางแผนตระเตรียมการล่วงหน้า จนนำไปสู่การกำหนดร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะให้มีในรายการหนังสือเป็นเงื่อนไขในการประกวดราคา ซึ่งเป็นช่องทางอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการกีดกันมิให้บุคคลอื่นเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาได้อย่างเท่าเทียมกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังจากทราบว่า หจก.ต. ชนะการประกวดราคา จำเลยที่ 12 ได้โทรศัพท์ไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนในลักษณะแสดงความไม่พอใจ นับว่าผิดปกติวิสัยของผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันเสนอราคาเป็นอย่างยิ่ง จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 12 มีส่วนพยายามกีดกันผู้ประกอบการอื่นมิให้สามารถแข่งขันราคากับกลุ่มของจำเลยที่ 4 และ 6 ได้อย่างเป็นธรรม