×

สมศักดิ์โชว์ 5 นโยบายเร่งรัด ยอมรับ สธ. ได้งบ 68 น้อยและไม่เพียงพอ แต่ต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดย THE STANDARD TEAM
20.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (20 มิถุนายน) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ​ ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณา​ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอในวันที่ 2

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขว่า ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้วิพากษ์งบประมาณของกระทรวง ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของงานสาธารณสุข โดยผู้อภิปรายหลายคนยังเห็นว่างบประมาณของกระทรวงน้อยเกินไป ซึ่งรัฐบาลขอยืนยันว่า ได้ผลักดันให้เพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่เพียงพอตามที่ สส. ได้อภิปราย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

สมศักดิ์กล่าวอีกว่า เรื่องการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ก็ขอขอบคุณที่ห่วงใยเรื่องงบประมาณน้อย แต่การดูแลเด็กยังมีงบประมาณจากอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่จากกรมอนามัยเพียงอย่างเดียว โดยตนทราบว่ายังเกี่ยวข้องกับ สปสช. ที่ต้องดูแลความสมบูรณ์ของทารกด้วย ซึ่งมีเด็กเกิด 4.5 แสนคน แต่มาใช้บริการตรวจความสมบูรณ์ 1.8 แสนคน

 

ดังนั้นกระทรวงก็ต้องบูรณาการให้ครบถ้วน รวมถึงแก้ปัญหาการมีบุตรน้อยด้วย เพราะปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1.2 คน ทั้งที่ควรมี 2.1 คน

 

สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องยาเสพติด ตนมารับหน้าที่ตรงนี้ ก็ได้เปลี่ยนแนวทางให้สันนิษฐานว่า ยาบ้า 1 เม็ด เป็นผู้เสพ แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เพิ่มว่า ต้องสอบสวนด้วย ถึงจะได้รับสิทธิบำบัด เพื่อจะได้รู้ว่าผู้ค้าคือใคร เพื่อขยายผลไปสู่การยึดทรัพย์ ส่วนกระทรวงก็มีหน้าที่บำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยเข้าบำบัดปีละ 1.1 แสนราย แต่ถ้าใช้กฎหมายครบก็จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ส่วนกรณีรถกู้ภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ก็กำลังดู เพราะได้รับทราบว่ารถกู้ภัยยังไม่ครบทุกตำบล จึงจะพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฉ. กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงตนได้เข้าไปเยี่ยมพบว่าบางครั้งมีปัญหารถปลอมเข้ามา จึงจะแก้ด้วยการให้กรมการขนส่งทางบกทำทะเบียนพิเศษให้

 

ส่วนการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เราทำแผนไว้แล้ว โดยในปี 2577 ประเมินว่าควรมีแพทย์เพิ่มอีก 41,000 คน พยาบาล 57,000 คน พร้อมเห็นด้วยว่าบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก จึงพร้อมสนับสนุนให้นำข้าราชการกระทรวงออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานหนัก รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็เป็นกำลังสำคัญ ตนจึงอยากทำกฎหมายให้ อสม. มีความยั่งยืนและมีที่ยืน จึงขอให้ สส. ช่วยกันทำให้ อสม. มีความยั่งยืนด้วย

 

สมศักดิ์ยังอภิปรายถึงงบประมาณปี 2568 ในสัดส่วนของกระทรวง ที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความยั่งยืน โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ 34,100 ล้านบาท ครอบคลุม 6 หน่วยงาน โดยที่มีนโยบายเร่งรัดทั้งสิ้น 5 ด้าน ได้แก่

 

1. การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว วงเงิน 167,753 ล้านบาท เพื่อยกระดับสุขภาพและสิทธิประโยชน์ เพื่อประชาชนกว่า 47 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ได้รับสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ดังนี้

 

  • ปรับค่าเหมาจ่ายรายหัว จาก 3,472 บาท เป็น 3,844 บาท
  • เพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่ใช้บริการสาธารณสุข เช่น โรคเอดส์ โรคไตวาย โรคเรื้อรัง วงเงิน 1,101 ล้านบาท
  • การเบิกจ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) วงเงิน 1,067 ล้านบาท
  • การขยายสิทธิประโยชน์ การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสีโปรตอน การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ วัคซีนป้องกันมะเร็ง HPV การคัดกรองมะเร็ง และการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต

 

2. การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดอย่างบูรณาการ วงเงิน 1,330 ล้านบาท โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดงและสีส้มที่มีอาการป่วยทางจิตเวชอย่างรุนแรง รวมถึงมีการบำบัดผู้ป่วยในสีเหลืองและสีเขียว เป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาในระยะยาว ซึ่งดำเนินการภายใต้หน่วยงานของกระทรวง เช่น กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ

 

3. พัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ (อสม.) วงเงิน 2,520 ล้านบาท โดยการยกระดับการให้บริการการแพทย์ขั้นปฐมภูมิในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และกองทุนพัฒนาชุมชนในระดับอำเภอ จำนวน 2,700 แห่ง

 

“อสม. เป็นเรื่องของความสมัครใจที่จะย้ายตัวเองจากกระทรวงไปอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. มีคนย้ายไปก็มีคนอยากกลับ คนที่อยู่ก็อยากย้ายไป คงยังไม่ได้สอบจบสิ้นง่ายๆ เพราะยังมีความเห็นบางอย่างที่แตกต่างกันอยู่บ้าง” สมศักดิ์กล่าว

 

สมศักดิ์กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ อสม. ที่สนับสนุนงานเชิงรุกของกระทรวง ได้มีการจัดทำคำของบประมาณปี 2568 วงเงิน 25,800 ล้านบาท ทั้งยังเร่งรัดการจัดทำ พ.ร.บ.อสม. ด้วย เพื่อเป็นการติดอาวุธให้กับ อสม. ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือพื้นฐานทางการแพทย์ รวมถึงอบรมความรู้ เพื่อตอบสนองการดำเนินการให้บริการปฐมภูมิเชิงรุกอีกด้วย

 

4. การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประกาศนโยบาย IGNITE THAILAND ของนายกรัฐมนตรี ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมและการบริการแพทย์อย่างครบวงจร พร้อมทั้งยังยกระดับแพทย์การแพทย์แผนไทย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสุขภาพ

 

สมศักดิ์ยกรายงานของ Global Wellness Institute ซึ่งประเมินมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์และสมุนไพรของไทยอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่เศรษฐกิจสมุนไพรไทยมีการหมุนเวียนมากกว่า 52,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ในปี 2570 มูลค่าเศรษฐกิจสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยจะอยู่ที่ 104,000 ล้านบาท

 

เนื่องจากมูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนแบ่งของสมุนไพรนั้น กระทรวงได้กำหนดงบประมาณปี 2568 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ วงเงิน 905 ล้านบาท ในการยกระดับการแพทย์แผนไทย 3 ด้าน ได้แก่

 

  • ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยในระบบบริการสุขภาพ ให้คำนึงว่า ‘เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ’
  • ใช้สมุนไพรร่วมกับการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด โดยผลิตนวัตกรรม เช่น ยาเม็ดฟู่ ยาอดยาบ้า ซึ่งมีส่วนผสมของกระท่อม กัญชา และเถาวัลย์เปรียง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง และรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาต
  • การยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการนวดไทย สปาไทย และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยของบประมาณปี 2568 ทั้งสิ้น 80 ล้านบาท

 

5. การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาล วงเงินกว่า 10,298 ล้านบาท, เพิ่มนวัตกรรมการรักษา และเครื่องมือทางการแพทย์ขั้นสูง วงเงิน 1,720 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลเฉพาะทางรักษาโรคมะเร็ง จำนวน 8 แห่ง, โรงพยาบาลด้านยาเสพติด 7 แห่ง และโรงพยาบาลสถาบันเฉพาะอีก 7 แห่ง

 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวิชาการและการบริการผู้ป่วยที่ซับซ้อน วงเงิน 48 ล้านบาท เพื่อทำวิจัยการรักษาผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการดูแลผู้สูงอายุ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X