วันนี้ (26 สิงหาคม) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันปัญหาการลักลอบผลิต บริโภค และอันตรายของเหล้าเถื่อนว่า ที่ประชุมรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยได้รับสารพิษเมทานอลหลังดื่มสุราปลอม ตั้งแต่วันที่ 22-26 สิงหาคม มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 28 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย ส่วนที่ยังรักษาตัวอยู่นั้นมีอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 13 ราย ฟอกไต 18 ราย และปั๊มหัวใจ 6 ราย ตาพร่ามัว 14 ราย แต่ที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่าตาบอดถาวรมี 1 ราย
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งลงพื้นที่สำรวจจุดจำหน่ายทั้ง 9 แห่งในเขตคลองสามวา โซนกรุงเทพตะวันออก พร้อมค้นหาผู้สัมผัสร่วมวงยาดองที่ซอยหทัยราษฎร์ 33 พบผู้สัมผัสร่วมวงในชุมชนอีก 3 ราย แต่ไม่มีอาการทั้ง 3 ราย
“หากมีอาการปวดท้อง ปวดหัว ตาพร่ามัว มองไม่เห็น ซึ่งในทางการแพทย์สันนิษฐานว่าสิ่งที่ดื่มไม่ได้ทำมาจากแอลกอฮอล์ปกติ ดังนั้นหากใครบริโภคเข้าไปก็ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะการดื่มสุราปลอมจะมีอาการหลังดื่ม 24-48 ชั่วโมง อาจทำให้ผู้ดื่มไม่รู้ตัว” สมศักดิ์กล่าว
ขณะที่ นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยจากพิษเมทานอลที่ผสมในยาดองว่ามีผู้ป่วยสะสม 28 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย ตอนนี้ รพ.นพรัตนราชธานี รับผู้ป่วย 16 ราย อาการหนัก 12 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ
ทั้งนี้มี 2 รายอาการหนักมาก เสี่ยงที่จะเสียชีวิต ส่วนปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยที่ รพ.นพรัตนราชธานี ยังตรวจไม่ได้ว่าดวงตาและคุณภาพการมองเห็นเป็นอย่างไร แต่มี 1 รายที่อยู่ระหว่างการรักษาที่ รพ.นวมินทร์ ค่อนข้างชัดเจนว่าตาบอดถาวร
“เชื่อว่าช่วง 1-2 วันนี้อาจยังมีผู้ป่วยเข้ามาต่อเนื่อง แต่มีจำนวนลดลง ซึ่งหลังดื่มเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบต่อร่างกายภายใน 24-48 ชั่วโมง เพราะบางรายซื้อไปเก็บไว้เพื่อดื่ม” นพ.เกรียงไกร กล่าว
ว่าที่ ร.ต. ยงยุทธ ภูมิประเทศ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าร้านยาดองสั่งซื้อเหล้ามาจาก สุรศักดิ์ อินสาม ซึ่งเป็นร้านที่อยู่ในเขตสะพานสูง และตรวจสอบพบว่าในเหล้าผสมสารเมทานอลจำนวนมาก และสอบสวนพบว่า สุรชัย อินสาม ซึ่งเป็นน้องชายของสุรศักดิ์ เป็นผู้นำไปขายให้กับร้านยาดอง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาผลิตสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 153 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และส่งตัวให้พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลบางชันเพื่อดำเนินการ จากนั้นขยายไปยังร้านยาดองอีก 18 แห่ง ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 155 ข้อหากระทำการเปลี่ยนแปลงสุรา ตามมาตรา 158 และผู้ซื้อซื้อสุราไป ตามมาตรา 192
อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพสามิตไม่ได้ออกใบอนุญาตให้ซุ้มยาดองจำหน่ายสุรา ถือว่ามีความผิด ปกติสุราที่กรมสรรพสามิตจะออกใบอนุญาตให้จำหน่ายได้ต้องส่งมาตรวจที่แล็บของกรมสรรพสามิตก่อนว่ามีส่วนผสมปลอดภัยผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งรวมถึงสุราชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อออกใบอนุญาตให้จำหน่ายได้ เสียภาษีถูกต้อง จะมีอากรติดที่ขวด ไม่เคยมีการออกใบอนุญาตให้จำหน่ายยาดองตามซุ้มริมถนน จึงถือเป็นสินค้าผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมาได้ออกตรวจซุ้มยาดองที่ลักลอบจำหน่ายสุราไม่ได้รับอนุญาตมาต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – ปัจจุบัน ได้จับกุมดำเนินคดีแล้วกว่า 200 คดี ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าสุราที่ดื่มใช้เอทานอลเกรดสำหรับอาหารและยา ไม่ได้ใช้เมทานอลเกรดอุตสาหกรรมที่ดื่มไม่ได้ ดูได้จากการบรรจุขวดติดอากรอย่างถูกต้อง
นพ.ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สปคม. ร่วมกับกองระบาดวิทยา ประสานหน่วยงานในสังกัด กทม. คือสำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข ทำงานร่วมกับศูนย์ EOC ที่ รพ.นพรัตนราชธานี ซึ่งจากที่ได้รับรายงานว่ามีการส่งยาดองไปใน 4 เขตของ กทม. รวม 18 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม ถ้ายังไม่ได้ดื่มก็ขอว่าอย่าดื่ม เบื้องต้นประสานทาง กทม. ร่วมกับชุมชนแจ้งเตือนไปยังประชาชนใน 4 เขตดังกล่าวที่อาจยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารให้ไม่ให้ดื่ม และเททิ้ง
เมื่อถามว่า นอกจากซุ้มยาดองใน กทม. ที่ระบุแล้ว ยังมีร้านเหล้าหรือซุ้มยาดองจังหวัดอื่นที่รับซื้อเหล้าจากชายสองรายที่เป็นผู้ผลิตเหล้าปลอมผสมเมทานอลหรือไม่ นพ.ไผท กล่าวว่า ซุ้มยาดองตอนนี้ที่มีรายงานคือ 18 แห่งใน กทม. แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่ออาจมีคนที่ซื้อยาดองดังกล่าวแล้วหิ้วไปตามจังหวัดใกล้เคียงได้ ดังนั้นทางกรมควบคุมโรคจึงขีดเส้นพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ได้แก่ ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และนครนายก เพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย โดยกรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ติดตาม
นพ.ไผท กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้า รพ. เป็นลูกค้าร้านยาดองเหล่านี้อยู่แล้ว ดื่มเป็นประจำ ซึ่งการดื่มเป็นประจำอาจทำให้มีปัญหาการทำงานของตับไม่ดีอยู่ก่อนด้วย และเมื่อดื่มเหล้าปลอมเข้าไปจึงยิ่งมีปัญหา ซึ่งเราพบว่าลักษณะการดื่มมีความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะดื่มมากกว่า 1 แก้ว (แก้วเป๊ก) และจากข้อมูลการสอบสวนโรคยังพบว่าร้านยาดองเหล้านี้เพิ่งจะปรับสูตรใหม่ และเกิดปัญหาตามมา โดยส่วนหนึ่งให้ข้อมูลว่าซื้อเหล้ามาจากร้านของผู้ต้องหาสองรายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับข้อหาทำเหล้าปลอม บางส่วนให้ข้อมูลว่าซื้อเหล้ามาจากร้านอื่นก่อนจะมาปรับสูตรใหม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังต้องสอบสวนเพิ่มเติม