×

สมพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพิ่มกลไกให้สิทธิประชาชนต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2021
  • LOADING...
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์

วันนี้ (23 มิถุนายน) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน นำเสนอหลักการและเหตุผลในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ​4 ร่างในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้มีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับมีบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ หลายเรื่องยังขาดความชัดเจนและยังมีปัญหาได้แก่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ ทั้งสิทธิในการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีอื่นๆ เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองก็ยังขาดสาระสำคัญ ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นบังคับใช้มีบทบัญญัติที่จำกัด และการดำเนินการของพรรคการเมืองอย่างเป็นอุปสรรค และเป็นภาระของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น 

 

สมพงษ์กล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองจะต้องไม่มีบทบัญญัติใดที่ทำให้เกิดภาระแก่พรรคการเมืองมากจนเกินไป เพื่อเป็นการแก้กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันที่มีบทบัญญัติหลายอย่างทำให้เกิดปัญหาและปฏิบัติได้ยาก และการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการควบคุมพรรคการเมืองมากจนเกินไป แทนที่จะเป็นเพียงการกำกับดูแล ซึ่งในหลายเรื่องเป็นภาระแก่พรรคการเมืองเกินความจำเป็น 

 

ขณะที่การตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนเกินไป และการยุบพรรคการเมืองนั้นจะกระทำได้อย่างจำกัด และจะต้องปรากฏหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น 

 

สำหรับสิทธิในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข รัฐธรรมนูญควรบัญญัติให้ชัดเจนว่า บุคคลควรมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน และได้รับหลักประกันสุขภาพโดยทั่วหน้า เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

 

ขณะที่สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร และการกระทำอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ และวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับไม่ได้บัญญัติไว้เลย

 

นอกจากนี้ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่จะเรียกเอกสารหรือเชิญบุคคลเข้ามาแถลงข้อเท็จจริง ให้ความคิดเห็น ก็ไม่สามารถที่จะขอบคุณหน่วยงานขององค์กรฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระได้ ทำให้หน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ทำให้ระบบการตรวจสอบไม่เกิดการถ่วงดุล ส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพ จึงสมควรปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการให้มีความเหมาะสม นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้วจะทำให้นานาชาติได้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น และให้ความสำคัญกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

 

ดังนั้น เพื่อให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีความชัดเจนและเกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีกลไกในการต่อต้านการทำรัฐประหารไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีระบบการถ่วงดุลที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ 

    

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์   

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising