ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ที่มี ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค และเป็นประธานในที่ประชุมวันนี้ โดยมีวาระสำคัญคือ การเลือกกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ หลังจากที่ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคไปก่อนหน้านี้
โดยที่ประชุม ส.ส. และสมาชิกพรรคได้เลือก สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เขต จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และเลือก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. เป็นเลขาธิการพรรค มี อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เป็นโฆษกพรรคคนใหม่ แทน ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ที่ขึ้นเป็นรองหัวหน้า สัดส่วนกรรมการบริหารพรรคตำแหน่งอื่นๆ คือ รองหัวหน้าพรรค 15 คน รองเลขาธิการพรรค 7 คน เหรัญญิก 1 คน นายทะเบียน 1 คน และกรรมการบริหารอีก 2 คน รวมทั้งหมด 29 คน
สำหรับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 7 พรรคการเมือง เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เวลานี้จะต้องทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้าน’ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป
คำถามที่สำคัญต่อกลไกระบอบรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้คือ แล้วฝ่ายค้านจะมีใครเป็นหัวหอกนั่งเก้าอี้ ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร’ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 106 วางหลักไว้ว่า คุณสมบัติของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะต้อง
- เป็น ‘หัวหน้าพรรคการเมือง’ ที่ได้เป็น ส.ส. ในสภาฯ โดยมาจากพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในซีกฝ่ายค้าน
- ต้องไม่มีสมาชิกในพรรคไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา ซึ่งผู้ที่จะมีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
และนี่คือเหตุผลหลักที่พรรคเพื่อไทยต้องปรับกลยุทธ์การทำงานในสภาใหม่ ด้วยการปรับโครงสร้างพรรค ให้ ส.ส. เป็นหัวหน้า เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน จากนี้ต้องจับตาดูบทบาทการทำงานของสมพงษ์ต่อไป
แต่แน่นอนแล้วว่า ยุคผลัดใบของเพื่อไทยอีกหน คนกุมบังเหียนตัวจริงคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะรายชื่อกรรมการบริหารส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนสนิทของบ้านลาดปลาเค้านั่นเอง