วันนี้ (27 ตุลาคม) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จัดเสวนาในหัวข้อ ‘หมุดประชานิยมอย่างไร ให้การเมืองไทยพัฒนา’ โดย สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวตอนหนึ่งถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า การเสนอนโยบายต่อประชาชนต้องรับผิดชอบ ร่วมกับความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
ทั้งนี้ ตนสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศอยู่ในระดับประเทศที่พัฒนา แต่การดำเนินการทำให้ตนสงสัยในการดำเนินงานของรัฐบาล เพราะไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลจะเริ่มในเดือนเมษายน 2567 เหตุผลเพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะออกในช่วงดังกล่าว และเพราะรัฐบาลไม่มีเงิน ตนมองว่าควรปรับปรุงนโยบายโดยทยอยแบ่งจ่ายเดือนละ 1,000 บาท ให้กับผู้ที่ได้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงประชาชนที่เข้าหลักเกณฑ์ผ่านแอปเป๋าตัง
“รัฐบาลไม่อยากใช้แอปเป๋าตัง เพราะมีกลิ่นอายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่ซูเปอร์แอปพลิเคชันนั้นไม่มีจริง เป็นเพียงหน้ากากที่จะนำไปติดหน้าร้านเท่านั้น แต่แท้จริงยังเป็นแอปพลิเคชันเป๋าตัง ดังนั้นผมเชื่อว่ารัฐบาลจะใช้เป๋าตังต่อแน่นอน ส่วนที่รัฐบาลคิดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกับการวางฐานของเงินดิจิทัล เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ตอนนี้กลับไม่ได้นกสักตัว ผมแนะนำรัฐบาลใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาทซึ่งเป็นงบเพื่อพัฒนาประจำปี ช่วยกลุ่มผู้เปราะบาง หากผมเป็นนายกฯ สัปดาห์หน้าจะสั่งให้เดินหน้าคนละครึ่งและเที่ยวทั่วไทย ทำให้ร้านค้าได้รับทั่วประเทศ พร้อมดูแลกลุ่มเปราะบาง ขณะที่เงินดิจิทัลผมขอให้วางโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืน” สมชายกล่าว
สมชายกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลเลือกจะกู้เงินเพื่อดำเนินการ เชื่อว่าจะมีภาระดอกเบี้ยอีกกว่า 1.4 แสนล้านบาท ทำให้หลายคนปฏิเสธนโยบายดังกล่าว ซึ่งตนเชื่อว่าหากทุกภาคส่วน ทั้ง สส. ฝ่ายค้าน สว. ปฏิเสธการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เพื่อให้เปลี่ยนเป้าหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเหมาะสมมากกว่า
สมชายกล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมเวทีตนได้หารือกับ สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานกรรมการศึกษาโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ทราบว่าขณะนี้รวบรวมรายละเอียดไปกว่า 70% แล้ว อีกไม่นานจะสรุปได้
ขณะนี้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เดินหน้าเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อ สตง. และ ป.ป.ช. ดำเนินการแล้ว หากพบว่าเสียหายต่อเศรษฐกิจร้ายแรงสามารถเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
หากไม่หยุดยั้งและเกิดความเสียหายหรือไม่ลดเพดานอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนที่มีผู้ติดคุกหรือหลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติได้ ดังนั้นมองว่าหากรัฐบาลยอมรับสามารถบอกเลิกพร้อมกับขอโทษประชาชนและนำเงินไปทำอย่างอื่นได้
ขณะที่ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการติดตามในการทำนโยบายของรัฐบาล อยากรู้ว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน หากมาโดยวิธีการกู้เงิน เท่ากับว่าภาระของประชาชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน ขณะนี้ในแง่ความยั่งยืนทางการเงิน หากรัฐบาลกู้เงินจะเกิดภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มภาระต้นทุนของประชาชนในการประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตสูงขึ้น ทั้งนี้ในภาระดอกเบี้ยของประชาชน ปัจจุบันอยู่ที่ 9% ซึ่งเกณฑ์ไม่ควรเกิน 10%
มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ สมชายได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยข้อความระบุว่า ข้อเสนอและทางออกเรื่องแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน เพื่อพิจารณาตัดสินใจ ดังนี้
- แจกเงินพุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อยปรับปรุงยืนยันตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 16 ล้านคน ใช้งบ 1.6 แสนล้าน
- แจกเป็นเงินสดผ่านแอปเป๋าตัง แบ่งเป็น 4-10 งวด
- ใช้งบ 4 แสนล้านบาทที่เหลือ เร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำเป็นทางอื่น เช่น คนละครึ่ง จ้างงาน โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาแหล่งน้ำ แลนด์บริดจ์ SMEs ฯลฯ
- ล้มเลิกโครงการ ขอโทษและอธิบายประชาชน
- ดันทุรังทำผิดกฎหมายอาจถูกดำเนินคดีติดคุกหรือหนีไปต่างประเทศ