×

สมชายเชื่อ ส.ว. ใช้หลักความรับผิดชอบต่อ 3 สถาบันหลักของชาติโหวตเลือกนายกฯ เผยไม่สบายใจปมแก้ ม.112

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2023
  • LOADING...
สมชาย แสวงการ

วันนี้ (11 กรกฎาคม) สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่มีข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้นสื่อตามมาตรา 98(3) และไปกระทบต่อคุณสมบัติของการเป็น ส.ส. และแคนดิเดตการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88, 89 ซึ่งหากพิธาได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมา ก็จะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือ กกต. จะต้องส่งศาลพิจารณาโดยเร็ว

 

สำหรับเสียงการลงมติของ ส.ว. สมชายกล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละท่านว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และ ส.ว. มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ ดังนั้นในการให้ความเห็นชอบ ส.ว. จึงควรเทียบเคียงกับหลักเดิมเช่นการสรรหาองค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องฟังข้อมูลก่อน เช่น การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าจะมีกี่คน อาจมีเพียงพิธาคนเดียว หรือข้อมูลจาก กกต. ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และการตัดสินใจให้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละท่าน เชื่อว่าทุกท่านมีวุฒิภาวะในการเลือกนายกรัฐมนตรี นโยบายในการเข้าไปทำหน้าที่ดูแลประชาชนทั้ง 77 ล้านคน เชื่อว่า ส.ว. จะใช้ดุลพินิจได้อย่างดี ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรให้รอดูวันที่ 13 กรกฎาคมนี้

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่ ส.ว. จะร่วมกันงดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น สมชายกล่าวว่า การงดออกเสียงในที่นี้มีอยู่ 2 กรณี คือ งดออกเสียงเพื่อยังไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีขณะนี้ เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นที่สุดก่อน และการงดออกเสียงอีกหนึ่งกรณีคือ ไม่เห็นด้วยให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับกระแสข่าวที่ว่า ส.ว. กว่า 90% จะงดออกเสียงให้พิธานั้น สมชายกล่าวว่า ไม่ทราบในเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าใครประเมิน และทุกครั้งที่ทราบข่าวการประเมิน ก็เห็นว่า ส.ว. จะโหวตให้พิธา

 

“ส.ว. ใช้ดุลพินิจและความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง รับผิดชอบต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ผมย้ำว่าเป็นความรับผิดชอบ รวมถึงประชาชนด้วย การที่เราจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้เลือกในระบบประธานาธิบดี ถ้าเราเลือกประธานาธิบดีก็จบ แต่เราเลือกในระบบที่รัฐสภาเป็นผู้เลือก คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาจากสภาเสนอ” สมชายกล่าว 

 

สมชายยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงเหตุการณ์เปลี่ยนผ่าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 ปีแรกให้ ส.ว. มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ส.ว. ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ว่า ถ้าเราเลือกไปแล้ว ไปทำหน้าที่พาประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ไม่มีปัญหาใด เราก็เห็นด้วย แต่ถ้าเลือกไปแล้วมีปัญหาที่พาประเทศไปสู่วิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งพลิกฟ้าข้ามแผ่นดิน ส.ว. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะโหวตอย่างไรจะเป็นการจารึกในประวัติศาสตร์ว่า ท่านเป็นผู้ทำให้เกิดเรื่องนี้ ดังนั้น ส.ว. จึงต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ เนื่องจากเวลาการขานชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีต้องขานเป็นสาธารณะว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ 

 

สำหรับกรณีที่มี ส.ว. สายทหาร เดินหน้าล็อบบี้หาคะแนนเสียงให้พิธานั้น สมชาย กล่าวว่าไม่ทราบในเรื่องนี้ 

 

ซึ่งหากโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ รอบแรกไม่ผ่าน จะต้องมีรอบที่ 2 หรือไม่นั้น สมชายกล่าวว่า ในเรื่องนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะใช้ประเพณีในการปกครองแบบใด ส.ว. นั้นยอมรับว่ามีความกังวล เพราะทราบข่าวว่าจะขอโหวตไปเรื่อยๆ ในเรื่องนี้สมควรจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด

 

เมื่อถามว่า หากมีการเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีท่านอื่นที่ไม่ใช่พิธา ส.ว. จะโหวตให้หรือไม่นั้น สมชายกล่าวว่า ในเรื่องนี้ ส.ว. ไม่เกี่ยว และจะไม่ยุ่งกับขั้วใดขั้วหนึ่ง ให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองไปตกลงกันเอง ซึ่งหากเสนอพิธาได้แล้วจบ หรือจะเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน, หรือ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ก็ให้ว่ากันไป หรือจะเปลี่ยนมาเสนอ อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ส.ว. จะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องนั้น 

 

“เมื่อพิจารณาองค์ประกอบแล้วประเทศชาติเจริญก้าวหน้าไปได้ มีความมั่นคง ปลอดภัย ไม่นำประเทศไปสู่วิกฤตอันตรายและความสุ่มเสี่ยงใดๆ ส.ว. ก็ให้ความเห็นชอบ แต่เมื่อสุ่มเสี่ยง ก็ต้องถามในสภา หากยังยืนยันจะต้องนำสิ่งนั้นมาพิจารณา” 

 

ทั้งนี้ สมชายกล่าวด้วยว่า ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ค่อยสบายใจ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากพิธายืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขและจะเดินหน้าตั้งคณะกรรมการศึกษาไว้ก่อน ก็ขอถามกลับว่า พรรคก้าวไกลทั้ง 151 คนที่เหลือคิดแบบเดียวกันหรือไม่ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องยังคิดแบบเดียวกันหรือไม่ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยกระทบหมวด 1 และ 2 กระทบต่อพระราชอำนาจ หรือองค์กรอิสระทั้งหมดที่พรรคก้าวไกลเคยมีแนวนโยบายออกมาว่าจะยุบองค์กรอิสระตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญลงไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X