×

ส้มป่อย นิยามแม่หญิงล้านนาร่วมสมัย ผิดไหมที่หัวใจอยากมีรัก?

04.11.2021
  • LOADING...
ส้มป่อย

“แม่หญิงล้านนา” 

 

ลืมภาพต๊ะต่อนยอนของผู้หญิงนุ่งซิ่นท่าทางเรียบร้อยและอ่อนหวานที่เคยมีมาให้หมด แล้วเตรียมพบกับ ‘แม่หญิงล้านนา’ ยุคใหม่ใน ส้มป่อย หนังโรแมนติกคอเมดี้ที่นำเสนอภาพลักษณ์สาวเอื้องเหนือที่ต่างออกไป ผลงานของผู้กำกับรุ่นใหม่ อนวรรษ พรมแจ้ และ อรุณกร พิค การันตีความน่าฮักโดย มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ในฐานะที่ปรึกษา และ ก้องเกียรติ โขมศิริ รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ 

 

ว่าด้วยเรื่องของ ‘ส้มป่อย’ สาวลำพูนสุดแสบแต่โสดสนิทประจำหมู่บ้าน ที่ใฝ่ฝันอยากมีแฟนเป็นหนุ่มกรุงเทพฯ เพื่อจะได้ออกจากบ้านเกิดไปใช้ชีวิตศิวิไลซ์ในเมืองกรุง แล้วโชคก็เข้าข้าง เมื่อเธอได้พบกับ ‘แวน’ ยูทูเบอร์สายท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ป้อชายที่ตรงสเปกทุกอย่าง และเมื่อฟ้าเป็นใจให้ขนาดนี้มีหรือที่เธอจะรีรอ สวมวิญญาณ ‘แม่หญิงต้องยิงเรือ’ หวังมัดใจอ้ายแวนให้ได้ 

 

แต่เพราะคนงามแบบส้มป่อยไม่เคยต้องจีบใคร ‘เจ้เหวว’ เพื่อนสนิทจึงพาเธอไปพบกับ ‘แซ้บ’ หนุ่มกวนโอ๊ย ร่างทรงประจำหมู่บ้าน เพื่อช่วยเข้าทรงหาวิธีแก้อาถรรพ์ความโสดให้ แถมยังพาไปปรึกษา ‘ข้าวตู’ ต้นแบบสาวล้านนาเพื่อเติมเสน่ห์สาวเหนือพิชิตใจป้อชายกรุงเทพฯ ให้ได้

 

 

ในภาพรวมต้องบอกว่า ส้มป่อย เป็นหนังที่คอนเซปต์ไม่ได้แปลกตาหรือน่าตื่นเต้นมากมายนัก แต่เราก็ยังสามารถปล่อยใจเพลิดเพลินไปกับความน่ารักของพระนาง และยังสามารถหัวเราะไปกับสีสันของตัวละครในเรื่องได้เรื่อยๆ 

 

อย่างแรกต้องยกความดีความชอบให้ทีมแคสติ้งที่สามารถคัดเลือกนักแสดงที่เป็นชาวเหนือจริงๆ และยังอู้กำเมืองได้จริงๆ ตั้งแต่ น้ำตาล-พิจักขณา วงศารัตนศิลป์ ที่มารับบทเป็น ส้มป่อย, ตี๋-ธนพล จารุจิตรานนท์ ที่รับบทเป็น แซ้ป และ สไปรท์ บะบะบิ มาเสริมความ ‘ต๊าช’ ด้วยบท เจ๊แหวว รวมถึงนักแสดงหลายคนในเรื่องที่ทำให้เราเห็นธรรมชาติของการเป็นคนพื้นถิ่นและสำเนียงแบบเนทีฟสปีกเกอร์แท้ๆ

 

 

นอกจากถิ่นฐานบ้านเกิดและสกิลทางภาษาแล้ว เคมีของคู่พระนาง น้ำตาล และคุณพระเอก ‘ตัวจริง’ (ที่ขอไม่บอกว่าจะเป็นใคร เพราะอยากให้ทุกคนไปดูเฉลยในโรงหนังมากกว่า) ก็ช่างแสบซ่า จนสามารถถ่ายถอดเรื่องราวความรักฉบับล้านนานี้ออกมาได้น่าฮัก และไม่ทำให้เราเกิดความรู้สึกฝืดเคืองแต่อย่างใด

 

ในส่วนของเส้นเรื่อง ส้มป่อย ถือว่าทำได้ดีในฐานะหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่เล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหนือได้อย่างมีสีสีน ทั้งการพูดถึงวันพญาวัน หรือวันปีใหม่เมือง ความเชื่อเรื่องการเข้าทรง งานเลี้ยงผี การฟ้อนเล็บ วิถีชีวิตของผู้คนไปจนถึงอาหารอย่างลาบควายและเหล้าขาว

 

 

ทั้งหมดมาช่วยเสริมให้กับแง่มุมใหม่ๆ ของแม่หญิงล้านนาที่ฉีกขนบเดิมได้อย่างน่าสนใจ ภาพจำของคนในสังคมทำให้เรามองสาวเหนือว่าต้องเรียบร้อยเหมือนเนื้อหาในเพลงล่องแม่ปิง หญิงสาวหลายคนจึงต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ภายใต้คำว่า ‘แม่หญิงล้านนาแท้ๆ’ และทำให้อีกหลายคนต้องถูกตราหน้าว่า ‘ไม่คู่ควรกับการเป็นสาวเหนือ’ 

 

ข้อดีที่น่าชื่นชมคือตัวหนังไม่แปะป้ายว่าพฤติกรรมก๋ากั่นและความมักลาบมักเหล้าของส้มป่อยว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ แต่ก็มีสิ่งที่น่าผิดหวังเล็กน้อยคือหนังให้มุมมองที่ไม่ดีนักกับ ข้าวตู คนที่พยายามทำตัวให้เป็นไปตามครรลองขัดกับนิสัยส่วนตัวบางอย่าง (ที่ไม่ได้ทำร้ายใคร) ว่าเป็นเรื่องผิด ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็น ส้มป่อย หรือ ข้าวตู ก็ตกอยู่ภายใต้จารีตและความคาดหวังของสังคมเหมือนๆ กัน

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เราสนใจในหนังเรื่องนี้ก็คือ การที่นางเอกอยากจะแต่งงานไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเมืองไทยตอนนี้ ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ทำให้ความฝันความหวังทุกอย่างมากระจุกตัวในมหานครแห่งนี้ และคนที่อยากมีชีวิตที่ดีกว่าแบบส้มป่อยจึงต้องเลือกทิ้งบ้านของตัวเองไว้ข้างหลัง เพื่อให้ชีวิตเดินหน้าไปได้ดีขึ้น 

 

และเป็นอีกครั้งที่เราเกิดความรู้สึกเสียดาย ในเมื่อมีประเด็นที่น่าสนใจขนาดนี้ แต่หนังไม่ได้มุ่งไปในทิศทางนั้นเท่าที่ควร จึงทำให้ประเด็นนี้ดูอ่อนลงไปทันตา ซึ่งเราก็สามารถเข้าใจได้ว่าข้อจำกัดของความเป็นหนังโรแมนติกคอเมดี้ก็อาจจะทำให้พูดถึงประเด็นนี้ได้ไม่มากนัก

 

 

แต่อย่างน้อยการเปลี่ยน ‘ภาพลักษณ์’ ให้กับแม่หญิงส้มป่อย ที่ถึงจะยังไม่เข้มข้น แต่ก็นับว่าเพลิดเพลิน เป็นหนังอารมณ์ดี เบาสมอง ให้เราคิดถึงบรรยากาศบ้านเฮา เหมาะแก่การพาครอบครัวไปนั่งไขว้ห้างสัมผัสความน่ารักของพระนาง และบรรยากาศของโรงหนังที่ไม่ได้ไปมานานในช่วงวันหยุดนี้

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ ส้มป่อย ได้ที่

 

https://www.youtube.com/watch?v=GOIrHJRUAYU

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising