×

กทม. ประชุมร่วมหน่วยสาธารณูปโภค ตั้งเป้าแก้ปัญหาฝาบ่อพักให้เสร็จภายใน 24 ชม. เมื่อรับแจ้งเหตุ เตรียมใช้ฝาบ่อแบบใหม่กันขโมย

โดย THE STANDARD TEAM
07.05.2024
  • LOADING...

วันนี้ (7 พฤษภาคม) ที่ห้องประชุม สำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบ่อพักที่ไม่เรียบร้อย และการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชนร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค

 

ณรงค์กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานสาธารณูปโภค ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การประปานครหลวง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือมาตรการเตรียมการป้องกันแก้ไข หลังเกิดเหตุประชาชนพลัดตกบ่อพักบริเวณซอยลาดพร้าว 49 เขตวังทองหลาง

 

รวมถึงการแก้ไขปัญหาร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้น กฟน. ได้เตรียมมาตรการป้องกันไว้แล้ว ได้แก่ ในเรื่องของการก่อสร้าง มีมาตรการการตรวจสอบเป็นรอบระยะเวลาว่าสภาพของบ่อพักหรืองานก่อสร้างในส่วนใดที่ยังไม่เรียบร้อยและไม่ปลอดภัย ซึ่งเห็นร่วมกันว่ามาตรการการตรวจสอบเหล่านี้ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้บ่อพักและผิวจราจรมีสภาพที่สมบูรณ์ตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ กฟน. ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบฝาบ่อพักที่ไม่ใช่ฝาเหล็ก และไม่สามารถนำไปขายได้ แต่มีความสามารถในการรับน้ำหนักได้แข็งแรงและปลอดภัย และนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง ส่วนเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue ที่ กทม. ได้แจ้งไป ทาง กฟน. รับไปดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง

 

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่ามาตรการก่อสร้างต่างๆ ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ซึ่งแนวทางทั้งหมดที่หน่วยงานรายงานมา กทม. ได้รับไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน ทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ทาง กฟน. แจ้งว่ายินดีและพร้อมให้ความช่วยเหลือ

 

สถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในโครงการก่อสร้างของ กฟน. ว่า กฟน. ได้นำ AI เข้ามาใช้ตรวจสอบในจุดที่มีการก่อสร้างเพื่อมอนิเตอร์ผิวจราจรเป็นหลัก โดยจะตรวจสอบจุดที่มีความเสี่ยงถนนทรุด ลดการทำงานในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขทันที ขณะนี้ได้นำร่องบริเวณถนนพระรามที่ 3 และอยู่ระหว่างการทดลองใช้ หากดำเนินการได้ดีจะขยายผลไปยังพื้นที่ก่อสร้างอื่นต่อไป

 

ด้าน ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า กฟน. มีโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายหลายจุดในพื้นที่ กทม. เช่น ถนนพระรามที่ 3, ถนนวิทยุ และถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งทางสำนักการโยธา กทม. จะเข้าไปตรวจสอบและกำกับให้เป็นไปตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ. 2551 อย่างใกล้ชิด

 

ณรงค์กล่าวต่อว่า ในเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่ กทม. ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ทั้งหมดและประชาชนต้องร่วมกัน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต้องรีบแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้ กทม. เร่งประสานแจ้งหน่วยงานแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมา กฟน. ก็ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ในเรื่องของการสื่อสารบางช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานกลับมาว่าผลการแก้ไขว่ามีความเรียบร้อยหรือสมบูรณ์หรือไม่ เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันดูแล โดยภาพรวมของ กทม. จะมีระบบที่เกี่ยวข้องคือระบบระบายน้ำที่มีความยาวท่อรวม 6,800 กิโลเมตร และระบบระบายน้ำจะมีบ่อพักที่ต้องเปิดบำรุงรักษากว่า 5 แสนบ่อ กทม. ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตช่วยกันดูแลและตรวจสอบ หากพบเห็นเหตุชำรุดหรือฝาบ่อพักหายจะรีบดำเนินการแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง

 

กฟน. เตรียมนำฝาบ่อพักรูปแบบใหม่มาใช้ ลดปัญหาฝาเหล็กสูญหาย และเสียงดัง

 

กฟน. รายงานการตรวจสอบบ่อพักในผิวจราจร ซึ่งปัจจุบันมีบ่อพักในพื้นที่ กทม. จำนวน 1,877 บ่อ มีทั้งบ่อที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการตรวจสอบจุดฝาบ่อทั้งหมด รวมถึงในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและสมุทรปราการ พบว่าฝาบ่อเหล็กที่เหลือทั้งหมดอยู่ในสภาพดี ส่วนฝาบ่อชั่วคราวก็เป็นไปตามมาตรการที่ได้เสนอเจ้าของพื้นที่ไว้แล้ว สำหรับรูปแบบการรายงานการตรวจสอบฝาบ่อพักชั่วคราวทั้งหมดจะมีทั้งการตรวจสอบรายวันในช่วงเช้าและบ่าย และการสุ่มตรวจโดยผู้บริหาร

 

กรณีพบปัญหาจะมีทีมแก้ปัญหาเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบโดยวิธีสแกน GPR ในช่วงกลางคืนด้วย โดยมีการรายงานสถานะของบ่อพักผ่าน Google Maps ทั้งนี้หลังเกิดเหตุประชาชนตกลงในบ่อพัก ทาง กฟน. ได้เข้าไปดูแลครอบครัวผู้ประสบเหตุทันที โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาของ กฟน.

 

ในอนาคต กฟน. จะนำฝากลมคอนกรีต UHPC ปิดบ่อพักไฟฟ้าใต้ดิน (UHPC Manhole Cover) มาใช้ เพื่อลดปัญหาฝาเหล็กถูกขโมย และปัญหาฝามีเสียงดังเมื่อรถวิ่งผ่าน โดยจะมีส่วนผสมของคอนกรีตและไฟเบอร์ สามารถนำไปแทนที่ฝาเหล็กเดิมได้ทันที จากการทดสอบความคงทนพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าฝาเหล็ก ทดลองติดตั้งที่ถนนชัยพฤกษ์แล้วยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด และหากต้องการย้ายจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะเพื่อช่วยทุ่นแรงและเกิดความปลอดภัยสำหรับคนทำงาน นอกจากนี้จะนำกล้อง AI มาตรวจสภาพผิวจราจร นำร่องถนนพระรามที่ 3 เพื่อตรวจสอบถนนทรุด

 

กฟน. ได้รายงานข้อร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 พบมีเรื่องร้องเรียนจำนวน 537 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานในพื้นที่ทางเท้าและผิวจราจร มลภาวะจากการทำงาน และความปลอดภัย ซึ่งแนวทางแก้ไขได้กำชับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ. 2551 และควบคุมการคืนสภาพผิวจราจรชั่วคราว-ถาวรอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงทราบก่อนดำเนินการก่อสร้างทุกครั้ง ทั้งนี้หากได้รับแจ้งปัญหา กฟน. จะพยายามเข้าพื้นที่เพื่อแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X