กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Antidumping and Countervailing Duties: AD/CVD) ครั้งใหม่ สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าจาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และไทย โดยกำหนดอัตราภาษีสูงถึง 3,521%
การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันและความท้าทายเพิ่มเติมต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าแผงโซลาร์ราคาถูกจากต่างประเทศมาโดยตลอด
ผลสอบสวนชี้ ผู้ผลิตอาเซียนได้เปรียบแบบไม่เป็นธรรม
ภาษีดังกล่าวเป็นผลสรุปจากการสอบสวนทางการค้าที่ดำเนินมานาน 1 ปี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตามคำร้องของผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผลการสอบสวนพบว่า ผู้ผลิตใน 4 ประเทศอาเซียนข้างต้น ได้รับประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจากการอุดหนุนของรัฐบาล และส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต (การทุ่มตลาด)
แม้มาตรการนี้จะช่วยปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐฯ แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ที่พึ่งพาแผงโซลาร์นำเข้าราคาถูก และยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภาคส่วนนี้ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและการเมืองในวอชิงตัน
มาตรการภาษี AD/CVD ล่าสุดนี้ จะถูกนำมาใช้เพิ่มเติมจากกำแพงภาษีเดิมที่เคยประกาศใช้ในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอยู่ก่อนแล้ว โดยภาษีใหม่นี้มีจุดประสงค์เพื่อชดเชยมูลค่าความเสียหายจากการอุดหนุนและการตั้งราคาที่ไม่เป็นธรรม ตามการประเมินของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
การตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของนโยบายส่งเสริมการผลิตในประเทศ ซึ่งทั้งรัฐบาลทรัมป์และไบเดนต่างพยายามผลักดัน บริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์รวมถึง Hanwha Q Cells และ First Solar Inc.
แม้ว่ามาตรการจูงใจและความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของไบเดน จะช่วยดึงดูดการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแผงโซลาร์ใหม่ๆ ในสหรัฐฯ แต่ผู้ผลิตในประเทศก็ยังคงกังวลว่าโรงงานเหล่านี้อาจตกอยู่ในความเสี่ยงจากคู่แข่งต่างชาติที่ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าตลาด
Tim Brightbill ที่ปรึกษาหลักของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตโซลาร์ที่ยื่นคำร้อง กล่าวว่า “นี่คือชัยชนะที่ชัดเจนสำหรับภาคการผลิตของอเมริกา ผลการสอบสวนยืนยันสิ่งที่เราทราบกันมานานแล้วว่า บริษัทโซลาร์ที่มีฐานในจีนกำลังบิดเบือนกลไกตลาด กดราคาเพื่อแข่งขันกับบริษัทสหรัฐฯ และส่งผลให้แรงงานอเมริกันต้องสูญเสียอาชีพ”
อัตราภาษีแตกต่างกันไป กัมพูชาโดนหนักสุด
สำหรับอัตราภาษีเฉพาะนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีสำหรับกัมพูชาสูงถึง 3,521% เนื่องจากกัมพูชาตัดสินใจไม่เข้าร่วมกระบวนการไต่สวน
ส่วนประเทศอื่นๆ มีอัตราดังนี้ เวียดนามเผชิญอัตราภาษี 395.9% ไทย 375.2% และมาเลเซีย 34.4%
สำหรับบริษัทรายใหญ่ที่ถูกปรับขึ้นภาษีเช่น Jinko Solar ถูกปรับขึ้นภาษีส่งออกจากฐานผลิตในเวียดนาม 245% และจากมาเลเซีย 40% Trina Solar ถูกขึ้นภาษีส่งออกจากไทย 375% และจากเวียดนามมากกว่า 200% ส่วน JA Solar ถูกขึ้นภาษีส่งออกจากเวียดนามราว 120%
ข้อมูลจาก BloombergNEF ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้าอุปกรณ์โซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 77% ของการนำเข้าแผงโซลาร์ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของผู้ผลิตโซลาร์จีนในตลาดหุ้นเมื่อวันอังคาร (22 เมษายน) ไม่ได้ปรับตัวลงรุนแรงนัก เนื่องจากตลาดคาดการณ์การตัดสินใจนี้ไว้อยู่แล้ว และหลายบริษัทได้เริ่มย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศที่ไม่ถูกเก็บภาษี เช่น อินโดนีเซียและลาว
BofA Global Research ให้ความเห็นว่า อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจไม่ส่งผลกระทบทางการเงินมากนัก โดยเฉพาะหลังมีการใช้มาตรการภาษีตอบโต้กันก่อนหน้านี้
BloombergNEF คาดว่า อินโดนีเซียจะมีกำลังการผลิตโซลาร์จากต่างชาติเพิ่มเป็นกว่า 20 กิกะวัตต์ภายในกลางปีนี้ จากเดิมเพียง 1 กิกะวัตต์เมื่อสิ้นปี 2022 ขณะที่ JA Solar ระบุว่า กำลังติดตามสถานการณ์ภาษีสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และกำลังเร่งขยายฐานการผลิตทั่วโลก รวมถึงโรงงานในโอมานที่จะเปิดดำเนินการภายในสิ้นปี 2025
แต่ก็มีความกังวลว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และลาว อาจตกเป็นเป้าหมายการสอบสวนรอบใหม่ในปลายปีนี้ อ้างอิงจากบันทึกของ Roth Industries
ทั้งนี้ การบังคับใช้ภาษีใหม่นี้ยังต้องรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Trade Commission: USITC) ในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า ว่าการนำเข้าดังกล่าวสร้างความเสียหายหรือคุกคามอุตสาหกรรมในประเทศจริงหรือไม่
สถานการณ์นี้คล้ายกับเมื่อราว 12 ปีก่อน ที่สหรัฐฯ เคยใช้มาตรการภาษีกับแผงโซลาร์จากจีน ทำให้ผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี สำหรับการสอบสวนครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นจากคำร้องเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วโดย American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอย่าง First Solar, Hanwha Q Cells และ Mission Solar Energy LLC
อ้างอิง: