×

ผ่ามรสุมผู้ก่อตั้ง SoftBank กับวลีเด็ดปกป้องตัวเอง “พระเยซูคริสต์ก็เคยถูกเข้าใจผิด” หลังบริหารผิดพลาดจนขาดทุน 5 แสนล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
20.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • เป็นประเด็นร้อนฉ่า เมื่อ ‘มาซาโยชิ ซัน’ ผู้ก่อตั้ง SoftBank ปกป้องตัวเองเรื่องการทำให้กองทุนขาดทุน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเปรียบเทียบตัวเองกับบุตรของพระเจ้า กลายเป็นวลีเด็ดว่า “พระเยซูคริสต์ก็เคยถูกเข้าใจผิด” มาก่อน
  • แทนที่จะเทียบกับศาสดาผู้สูงส่ง คู่เทียบที่สูสีกับ ‘มาซา ซัน’ (ฉายาที่สื่อต่างชาติเรียก) ในนาทีนี้คือ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ แห่งเบิร์กเชียร์แฮธาเวย์ต่างหาก แน่นอนว่าทั้งคู่เคยโด่งดังจากการลงทุน แต่วันนี้ชื่อเสียงของทั้ง 2 คนกำลังป่นปี้ไม่เหลือดีเพราะการลงทุนเช่นกัน
  • ถามว่าการเทียบอาการโคม่าของ 2 เซียนการเงินให้ข้อสรุปอะไร คำตอบคือ บทเรียนการลงทุนชั้นยอดที่โลกต้องจดและจำไว้ให้ดี

คำเปรียบเทียบในโลกนี้มีเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ผู้ก่อตั้ง SoftBank กลับเลือกที่จะเปรียบตัวเองกับพระเยซูคริสต์ เมื่อต้องอธิบายถึงกลยุทธ์การลงทุนของตัวเองที่ผิดพลาดจนทำให้กองทุนขาดทุนยับเยิน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 5 แสนล้านบาท

 

การขาดทุนนี้เป็นส่วนของกองทุนวิชันฟันด์ (Vision Fund) อภิมหากองทุนมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ ‘มาซาโยชิ ซัน’ (Masayoshi Son) เป็นผู้ดูแล กองทุนนี้เน้นลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ด้วยปัญหาองค์กรและพฤติกรรมตลาดเปลี่ยน รวมถึงโควิด-19 ทำให้บริษัทที่ได้รับเงินทุนไปไม่ทำกำไร 

 

ภาวะนี้เกิดขึ้นกับบริษัทหลักของมาซาโยชิอย่าง SoftBank เช่นกัน เห็นได้จากการลงทุนในสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีต่อเนื่องหลายปี ทำให้วันนี้ SoftBank Group ก็อยู่ในภาวะขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งให้มาซาโยชิถูกกดดันว่าบริหารกองทุนและบริษัทได้ประสิทธิภาพต่ำ

 

มาซาโยชิ ซัน ไม่ได้กล่าวถึงพระเยซูในที่สาธารณะ แต่กล่าวกับนักลงทุน 3 รายที่ร่วมประชุมและระดมยิงคำถามในวันฝนพรำ สำนักข่าว Financial Times รายงานความเห็นจากนักลงทุน 2 ใน 3 รายนั้นว่า คำพูดเรื่อง “พระเยซูคริสต์เคยถูกเข้าใจผิดและถูกวิจารณ์อย่างหนัก” เป็นคำพูดที่สะท้อนความมั่นใจของ มาซา ซัน (ฉายาที่สื่อต่างชาติเรียก) ว่าโลกจะต้องมองตัวเขาในมุมใหม่ เมื่อโชคชะตาเข้าข้างเขาในวันที่ฟ้าใสกว่าเดิม

 

มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้ง SoftBank

 

ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารของยักษ์ใหญ่บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติญี่ปุ่นวัย 62 ปีผู้นี้ยังไม่ยอมแพ้ ย้ำกับนักลงทุนว่ากองทุนวิชันฟันด์ของเขาจะยืนหยัดรับมือกับ ‘ความท้าทายและความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก’ ต่อไป 

 

ขณะเดียวกันก็ขายฝันว่า ‘รถเต่า’ หรือรถ Beetle ก็ยังเคยไม่ได้รับความนิยมเมื่อเริ่มเปิดตัวครั้งแรก แต่กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง

 

เหม็นขี้ฟันด์! กาลเวลาพิสูจน์ได้จริงไหม

การออกมาขอให้เวลาช่วยพิสูจน์ เป็นสิ่งที่แมลงเม่าว่าเอาได้ว่า ‘เหม็นขี้ฟัน’ จริงอยู่ที่ผ่านมา SoftBank มักถูกขนานนามว่าเป็นเหมือน ‘Berkshire Hathaway แห่งโลกเทคโนโลยี’

 

การเปรียบเทียบนี้เข้าข่ายประจบประแจง เพราะเบิร์กเชียร์แฮธาเวย์นั้นมีประวัติการลงทุนที่ไม่ธรรมดา แต่แล้ววันนี้กาลเวลาก็ทำให้ชื่อเสียงของผู้ก่อตั้งอย่างมาซาโยชิและ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ต้องขุ่นเคือง

 

กรณีของ มาซาโยชิ หรือ SoftBank นั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการดิ่งเหวของราคาหุ้นบริษัทมหาชนที่ถือในพอร์ต เช่น Uber และ Slack รวมถึงการประเมินมูลค่าของบริษัทยูนิคอร์นสตาร์ทอัพที่ลดฮวบ เช่น WeWork, DoorDash และบริษัทโรงแรมที่พักในอินเดียชื่อ Oyo 

 

ในขณะเดียวกันเบิร์กเชียร์แฮธาเวย์ก็ลงทุนผิดพลาดในธนาคารเวลส์ฟาร์โก (Wells Fargo) สุดอื้อฉาว และยักษ์ใหญ่วงการอาหารอย่างคราฟต์ไฮนซ์ (Kraft Heinz) ซึ่งต้องดิ้นรนท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไป 

 

แถมยังมีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เบิร์กเชียร์แฮธาเวย์ได้ทุ่มเงินทุนเกือบทั้งหมดในธนาคารโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีนี้จากความผันผวนของเศรษฐกิจในวงกว้าง

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของฉายา เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา หรือไม่ก็ ปราชญ์แห่งโอมาฮา เขามีชื่อเสียงจากปรัชญาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าและความเป็นอยู่อย่างประหยัด

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังวางเดิมพันสูงมากในธุรกิจการบินช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในสายการบินอย่าง Delta Air Lines, Southwest Airlines, American Airlines และ United Airlines เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั้งหมดทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือของ 2 ซีอีโอเรื่องการลงทุนลงชนิดหมดหน้าตัก

 

สำหรับบัฟเฟตต์นั้นกล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า เป็นความผิดพลาดในการลงทุน และอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 คำพูดนี้คล้ายกับ มาซาโยชิ ที่ยอมรับกับนักลงทุนว่า การลงทุนของ SoftBank ใน WeWork นั้นล้มเหลว โดยโทษตัวเองว่าเป็น ‘คนโง่’ ที่ ‘ตัดสินใจผิดพลาด’

 

มาซาโยชิเสริมว่า การขาดทุนนี้ยังไม่จบ เพราะแผลนี้อาจระบมและเจ็บปวดมากขึ้นในอนาคตสำหรับการลงทุนอื่นของวิชันฟันด์ เพราะมีการประเมินแล้วว่า 15 บริษัทจาก 88 แห่งที่กองทุนนี้ถือครองในปัจจุบันอาจจะล้มละลายก็ได้ในอนาคต

 

 

มือตก หุ้นร่วงติดกันหลายปี

การลงทุนพลาดของทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์และมาซาโยชิ ซัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หุ้นของ 2 บริษัทอ่อนแรงไม่กระเตื้องในช่วงหลายปี 

 

ที่เห็นชัดคือเบิร์กเชียร์แฮธาเวย์ที่มูลค่าหุ้นลดลง 23% ตั้งแต่ต้นปี 2020 ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทชี้ว่าขาดทุน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท สำหรับ SoftBank นั้นมีอาการดีขึ้นในปีนี้ แต่ก็ยังไม่ดีและตกชั้นจากกลุ่ม S&P 500 ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

 

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์และมาซาโยชิ ซันต่างได้รับยกย่องว่าประสบความสำเร็จในการลงทุน มาซาโยชิทำให้ SoftBank มีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 25% ในยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซและตลาดคลาวด์จีนอย่าง Alibaba ในขณะที่บิร์กเชียร์แฮธาเวย์มีหุ้นเกือบ 6% ใน Apple ทำให้หุ้นของผู้ผลิต iPhone กลายเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดที่บิร์กเชียร์แฮธาเวย์ถืออยู่

 

 

ก่อนหน้านี้ทั้ง Alibaba และ Apple ต่างเป็นเพชรที่ยังไม่ถูกค้นพบ จนวันนี้กลายเป็นบริษัทที่มีค่ามากที่สุดในโลก จุดนี้ SoftBank สมควรได้รับความดีความชอบ เพราะการลงทุนครั้งแรกที่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน Alibaba ช่วงปี 2000 ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นมีมูลค่ามากกว่า 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันนี้

 

สำหรับบัฟเฟตต์ซึ่งมักจะหลบเลี่ยง ไม่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ทำให้ไม่ได้ลงทุนใน Apple จนกระทั่งปี 2016 แต่บัฟเฟตต์ก็เปลี่ยนใจ การลงทุนครั้งแรกของบัฟเฟตต์มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 78,000 ล้านดอลลาร์​สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของมาซาโยชิกลับดูย่ำแย่กว่า เพราะมีสัญญาณว่ารอยร้าวระหว่าง SoftBank และ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba ถึงจุดแตกหัก โดย SoftBank ออกแถลงการณ์ว่า แจ็ค หม่าจะโบกมือลาตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร หลังจากปักหลักมานานเกือบ 13 ปีในฐานะผู้อำนวยการ SoftBank

 

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ มาซาโยชิและบัฟเฟตต์ซึ่งต่างก็เป็นมหาเศรษฐีหมื่นแสนล้านล้วนสามารถทำธุรกิจผิดพลาดได้เหมือนกับพวกเราคนเดินดิน 

 

ความล้มเหลวในการเลือกหุ้นของทั้ง 2 เซียน (ที่เกิดขึ้นเป็นบางครั้ง) นี้เองที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่จึงควรท่องให้ขึ้นใจว่าการลงทุนมีความเสี่ยง 

 

ดังนั้น อย่าประมาท จงศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้ดี

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X