×

เปิดตำนาน SOE หน่วยลับยุคสงครามโลก แรงบันดาลใจในเงามืดที่ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง

16.04.2024
  • LOADING...
SOE

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • SOE ที่ไม่ใช่ SEO เป็นหน่วยปฏิบัติการลับที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1940 – หนึ่งปีหลังจากจุดเริ่มต้นของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 – โดยผู้ริเริ่มแนวคิดคือ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสงครามที่ลุกลามไปทั่วโลกครั้งนั้น
  • สิ่งที่ทำให้หน่วย SOE มีชื่อเสียงคือปฏิบัติการลับระดับตำนาน ‘Operation Postmaster’ ซึ่งเป็นปฏิบัติการในเรื่อง The Ministry of Ungentlemanly Warfare ที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นแต่อย่างใด
  • หนึ่งในสมาชิกของ SOE น่าจะทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะมีชื่อของ เซอร์เอียน เฟลมมิง นักประพันธ์ผู้โด่งดังชาวอังกฤษที่มีผลงานระบือโลกอย่าง ‘007’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากหน่วย SOE นั่นเอง

“ฮิตเลอร์ไม่ยอมเล่นตามกติกา แต่เราก็เหมือนกัน” คือบทสนทนาสำคัญที่อยู่ในตอนหนึ่งของตัวอย่างหนังแอ็กชันสุดระห่ำเรื่องใหม่ The Ministry of Ungentlemanly Warfare ที่ชวนให้รู้สึกสนุกและพลอยตื่นเต้นไปกับผลงานเรื่องใหม่ของผู้กำกับฝีมือดีอย่าง กาย ริตชี (Guy Ritchie) ด้วย

 

เพียงแต่สิ่งที่จะถูกบอกเล่าลงบนแผ่นฟิล์มนั้น เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

The Special Operation Executive (SOE) หน่วยปฏิบัติการลับที่จัดตั้งโดย วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีเรื่องราวและบทบาทที่พวกเขาทำมากกว่าที่จะได้เห็นในหนังมากมายนัก

 

กำเนิด SOE

 

ในขณะที่ กาย ริตชี พาทุกคนเข้าไปสู่ช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการต่อสู้กันด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่มีระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ โดยนำส่วนหนึ่งของปฏิบัติการของหน่วย SOE ที่ต้องทำลายเรือดำน้ำของกองทัพนาซีให้ได้ “โดยปราศจากความช่วยเหลือจากกองทัพ” มาบอกเล่าผ่านตัวละครนำอย่าง กัส มาร์ช-ฟิลลิปส์ (Gus March-Phillips) ที่นำแสดงโดย เฮนรี แควิลล์ (Henry Cavill)

 

แต่ภารกิจระห่ำแบบนี้ไม่ใช่ทุกอย่างของ SOE แต่อย่างใด

 

SOE ที่ไม่ใช่ SEO เป็นหน่วยปฏิบัติการลับที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1940 – หนึ่งปีหลังจากจุดเริ่มต้นของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 – โดยผู้ริเริ่มแนวคิดคือ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสงครามที่ลุกลามไปทั่วโลกครั้งนั้น

 

โดยวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งหน่วย SOE ไม่ใช่เพื่อไปรบพุ่งหรือลอบปฏิบัติการในทางทำลายล้างก่อวินาศกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ความรับผิดชอบที่สำคัญไม่ได้น้อยไปกว่ากันคือการลาดตระเวน ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือเหล่านักรบทหารหาญของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับๆ ด้วย

 

ความสุดยอดของหน่วยลับนี้มาจากการผนึกกำลังกันของ 3 หน่วยสายลับของอังกฤษ ได้แก่ แผนก EH (มีหน้าที่ในการสร้างข่าวชวนเชื่อ), Section D (ที่มาจากการก่อตั้งโดยหน่วย SIS/MI6) และหน่วย GS (ก่อตั้งโดยกระทรวงการสงครามอังกฤษ)

 

ผู้นำของ SOE คือ นายพลจัตวา โคลิน กับบินส์ หรือเจ้าของรหัส ‘M’ ซึ่งจะแฝงตัวอยู่ตามบ้านเรือนหรือแฟลตทั่วประเทศอังกฤษ โดยไม่มีที่ตั้งของสำนักงานอย่างเป็นทางการ เพื่อหลบเลี่ยงการตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายนาซีที่พร้อมปูพรมถล่มด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด

 

ปฏิบัติการในตำนาน

 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทำให้หน่วย SOE มีชื่อเสียงคือปฏิบัติการลับระดับตำนาน ‘Operation Postmaster’ ซึ่งเป็นปฏิบัติการในเรื่อง The Ministry of Ungentlemanly Warfare ที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นแต่อย่างใด

 

เพียงแต่ SOE ไม่ได้ถึงกับฉายเดี่ยวขนาดนั้น แต่ร่วมมือกับหน่วย ‘Small Scale Raiding Force’ (SSRF) โดยปฏิบัติการนี้ภารกิจหลักคือไปให้ถึงเกาะเฟร์นันโดโป (Fernando Po) จัดการยึดเรือส่งสินค้า 2 ลำของฝ่ายอักษะที่เป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และแล่นเรือไปต่อให้ถึงเมืองลากอส ประเทศไนจีเรียให้ได้ เพื่อตัดการลำเลียงของฝ่ายอักษะ

 

โดยที่ปฏิบัติการครั้งนี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังของอังกฤษด้วย เนื่องจากหากทำเช่นนั้นจะเป็นการผิดต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับประเทศสเปน

 

เรียกได้ว่าเป็นภารกิจมหาหินของหน่วยเลยทีเดียว

 

แต่ถึงจะยากลำบากแค่ไหน ในที่สุดหน่วยปฏิบัติการ SOE ก็สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จในวันที่ 14 มกราคม 1942 โดยนอกจากจะยึดเรือ 2 ลำที่เป็นเป้าหมายเดิมอย่าง Likumba และ Bibundi ของเยอรมนีได้แล้ว พวกเขายังสามารถยึดเรือส่งสินค้า Duchessa d’Aosta ของอิตาลีที่อยู่ในฝ่ายอักษะได้อีกด้วย

 

ประหนึ่งยิงปืนนัดเดียวได้เรือ 3 ลำเลยทีเดียว

 

แต่นอกเหนือจาก Operation Postmaster แล้ว หน่วยลับ SOE ยังมีปฏิบัติการอีกหลายอย่างตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2

 

แน่นอนว่าผลงานของพวกเขามีส่วนในชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาต่อมา เพียงแต่ปฏิบัติการเกือบทั้งหมดนั้นแทบไม่มีใครที่จะได้รู้เรื่องราว

 

เหล่าวีรบุรุษที่มีอยู่จริง

 

อย่างที่บอกไปว่าในหนัง The Ministry of Ungentlemanly Warfare มีตัวละครนำคือ กัส มาร์ช-ฟิลลิปส์ ที่นำแสดงโดย เฮนรี แควิลล์ ทหารนอกรีตมากฝีมือที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ

 

ตัวละครนี้ก็ไม่ใช่ตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นมา เพราะ ‘กัส’ หรือ กัสตาวัส มาร์ช-ฟิลลิปส์ (Gustavus March-Phillips) เป็นวีรบุรุษที่มีชีวิตอยู่จริง และเป็นผู้นำในปฏิบัติการ Operation Postmaster จริงๆ

 

เพียงแต่ตัวจริงนั้นไม่ได้เป็นทหารนอกรีตแบบในหนัง ในทางตรงกันข้ามนี่คือผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยคอมมานโดที่ 62 ในนาม SSRF ที่ปฏิบัติการร่วมกับ SOE นั่นเอง

 

โดยหลังจากปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ก็ได้รับรางวัล The Distinguished Service Order ที่จะมอบให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเพื่อปกป้องประเทศจากศัตรูด้วย

 

ในขณะที่ตัวละครอื่นในเรื่องอย่าง อันเดอร์ส ลาสเซน (Anders Lassen) ซึ่งแสดงโดย อลัน ริตช์สัน) ที่ใช้ธนูเป็นอาวุธในเรื่องนั้นก็มาจากตัวละครจริงๆ และใช้ธนูเป็นอาวุธได้จริง และเก่งกาจจนได้สมญานามว่า ‘Robin Hood Commando’ เลยทีเดียว

 

แต่ไม่ใช่เฉพาะทหารเท่านั้นที่อยู่ในหน่วยนี้ เพราะ SOE ผู้ปฏิบัติการจริงๆ มีหลายส่วน คนที่ทำหน้าที่เป็น ‘สายลับ’ มีตั้งแต่บุคคลชั้นสูงอย่าง คริสตินา สการ์เบ็ค (Krystyna Skarbek) ที่มียศเป็นถึงคุณหญิงแห่งโปแลนด์ หรือ นูร์ อินายัต ข่าน (Noor Inayat Khan) ที่เป็นบุตรสาวของผู้นำนิกายซูฟี

 

ไปจนถึงเหล่าชนชั้นกรรมาชีพอย่าง วิโอเล็ตต์ ซาโบ (Violette Szabo) และ ไมเคิล ทร็อตโตบาส (Michael Trotobas) หรืออาชญากรในโลกมืด ซึ่งทั้งหมดได้รับการคัดเลือกโดยดูจากความสามารถเฉพาะตัว และความมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะรับภารกิจที่สำคัญโดยไม่สามารถปริปากบอกใครได้แม้แต่คนเดียว

 

แรงบันดาลใจของสายลับ 007

 

หนึ่งในสมาชิกของ SOE น่าจะทำให้หลายคนประหลาดใจ

 

เพราะมีชื่อของ เซอร์เอียน เฟลมมิง นักประพันธ์ผู้โด่งดังชาวอังกฤษที่มีผลงานระบือโลกอย่าง ‘007’ (ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็น James Bond) ซึ่งเบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนคือเฟลมมิงเคยเป็นสมาชิกของ SOE 

 

เพียงแต่เฟลมมิงไม่ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการ Operation Postmaster ด้วย แต่ช่วยงาน SOE ในฐานะหน่วยสืบราชการลับ

 

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง เฟลมมิงเริ่มเขียนนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากในช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในหน่วย SOE และสร้างตัวละครสายลับ ‘ดับเบิลโอเซเว่น’ (007) ขึ้นมาจนกลายเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก ในฐานะสายลับชาวอังกฤษแห่งหน่วย MI6 ที่มีความเก่งกาจและเสน่ห์เหนือใคร

 

สิ่งที่เฟลมมิงไม่เคยบอกแต่เป็นที่เชื่อกันคือ สายลับ 007 น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก กัส มาร์ช-ฟิลลิปส์

 

ส่วน ‘M’ หัวหน้าหน่วย MI6 ในเรื่องก็มาจากนายพลจัตวา โคลิน กับบินส์ ที่ใช้รหัสลับ ‘M’ เหมือนกันกับหน่วย SOE

 

เรียกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลก ปฏิบัติการลับ ความเก่งกาจ และความกล้าหาญของหน่วย SOE นั้น แม้ในช่วงเวลานั้นจะไม่มีใครที่ได้รับรู้ แต่เรื่องราวและแรงบันดาลใจได้ถูกส่งต่อมาถึงคนรุ่นหลังผ่านเรื่องเล่าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงสายลับ 007 ด้วย

 

เช่นเดียวกันกับ The Ministry of Ungentlemanly Warfare ที่แม้จะเป็นหนังแอ็กชันสุดระห่ำขำขันโดยไม่ต้องคิดอะไรมากนัก

 

แต่มันคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง มีปฏิบัติการในตำนานจริงๆ มีวีรบุรุษในเงามืดผู้กล้าจะเสียสละตัวจริง

 

และมันอาจถึงเวลาที่เราจะได้รู้ถึงเรื่องราวที่ไม่เคยได้รับการเล่าขาน และถูกลืมไปนานแล้วของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

 

ภาพ: Wikipedia, Getty Images

อ้างอิง:

FYI
  • The Ministry of Ungentlemanly Warfare คือผลงานที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ Churchill’s Secret Warriors: The Explosive True Story of the Special Forces Desperadoes of WWII ของนักเขียน เดเมียน ลูอิส (Damien Lewis)
  • หนึ่งในนักแสดงของเรื่องอย่าง แครี เอลเวส (Cary Elwes) มีคุณปู่ที่เคยอยู่ในหน่วย SOE จริงๆ และเคยทำงานกับ กับบินส์ หรือ ‘M’ ตัวจริง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X