×

โซเชียลหนุน ‘ทราย สก๊อต’ เพราะไม่เชื่อมั่นรัฐ นักวิชาการ มธ. เสนอ ‘กรมอุทยานฯ’ ใช้ระบบ ‘e-Ticket’ แก้ทุจริตเรื้อรัง

โดย THE STANDARD TEAM
27.04.2025
  • LOADING...
social-support-scott-e-ticket

การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย เมื่อบทบาทของภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น 

 

กรณี ทราย สก๊อต ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนทั้งแรงสนับสนุนและแรงต้านจากหลายฝ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนความหลากหลายของแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นความคาดหวังที่สังคมมีต่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐ

 

เสียงสะท้อนจากสังคมต่อบทบาทของทราย สก๊อต

 

รศ. ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า กระแสแรงหนุนและแรงต้านจากสังคมต่อการทำหน้าที่ของทราย สก๊อต อดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุน แม้อาจไม่เห็นด้วยกับทุกการแสดงออก แต่สะท้อนความต้องการให้เกิดการตระหนักรู้และตรวจสอบการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล

 

แรงหนุนนี้สะท้อนว่าประชาชนเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐและ อส.

 

โอกาสพลิกสถานการณ์ด้วยการเสริมความโปร่งใส

 

“ในปี 2567 อส. มีรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศราว 2,200 ล้านบาท โดยกว่าครึ่งมาจากอุทยานแห่งชาติทางทะเล สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ทางทะเลมีผลประโยชน์สูง แต่สังคมแทบไม่มีโอกาสรับรู้ถึงการจัดสรรรายได้เหล่านี้” รศ. ดร.สุรศักดิ์กล่าว

 

รศ. ดร.สุรศักดิ์ เสนอว่า อส. ควรใช้โอกาสนี้แสดงความโปร่งใส เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากประชาชนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ยกระดับระบบ e-Ticket เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน

 

แม้ว่าปัจจุบันมีการนำระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) มาใช้ในบางอุทยานแห่งชาติ แต่ยังพบข้อจำกัด โดยเฉพาะกับตั๋วหมู่คณะในทัวร์ท่องเที่ยวทางทะเล จึงควรขยายการใช้ e-Ticket ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการทุจริต

 

นอกจากนี้ ควรจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งเป็นสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เพื่อลดแรงจูงใจในการกระทำผิดและเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน

 

แนวคิดอนุรักษ์สุดโต่ง vs. เศรษฐกิจสีน้ำเงิน: เหตุผลความขัดแย้ง

 

รศ. ดร.สุรศักดิ์ อธิบายว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุน ทราย สก๊อต และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รวมถึงผู้ประกอบการและชาวบ้านในพื้นที่ สะท้อนความแตกต่างด้านแนวคิดอนุรักษ์

 

ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์สุดโต่ง (Deep Green) ซึ่งมองว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และต้องฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเข้มงวด ขณะที่อีกฝ่ายยึดแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

 

กำหนดบทบาทภาคประชาชนและภาคเอกชนให้ชัดเจน

 

เพื่อป้องกันความสับสนและลดความขัดแย้งในอนาคต รศ. ดร.สุรศักดิ์ เสนอว่า อส. ควรออกระเบียบหรือแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของประชาชนและภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิด ควรกำหนดว่าควรดำเนินการอย่างไร เช่น การแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนการเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย

 

นอกจากนี้ ควรมีการติดตั้งป้ายข้อกำหนดการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งภาษาไทย อังกฤษ และภาษาอื่นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการมีความเข้าใจตรงกันในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising