×

ษัษฐรัมย์แนะ แยกประกันสังคมออกจากระบบราชการ ก่อนล้มละลายในอีก 27 ปี

16.07.2025
  • LOADING...
กราฟแนวโน้มเงินประกันสังคมหมดในอีก 27 ปี – แสดงการคาดการณ์ล้มละลายจากนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

กองทุนประกันสังคมกำลังเข้าขั้นวิกฤต เสี่ยงเงินหมด ‘ล้มละลาย’ หรือ ‘ถังแตก’ ในอีก 27 ปี ทั้งยังต้องเผชิญวิกฤตศรัทธา ซ้ำเติมความเชื่อมั่นที่กำลังดิ่งลงเรื่อยๆ ษัษฐรัมย์แนะแยกออกจากระบบราชการ เร่งสร้างความโปร่งใส ฟื้นฟูความเชื่อมั่น

 

ความท้าทายกำลังก่อตัวขึ้นกับกองทุนประกันสังคมในหลายด้าน ไม่ว่าจะมาจากสังคมสูงวัย ผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำ หรือความไม่โปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณส่วนต่างๆ ที่ไม่ยึดโยงกับผู้ประกันตน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลผู้เชื่อว่าประกันสังคมยังมีหวัง และสามารถฟื้นตัวได้ แม้ต้องเสี่ยงล้มละลายในอีก 27 ปี

 

รศ. ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ในรายการ Exclusive Interview ถึงความท้าทายต่างๆ ที่ประกันสังคมต้องเผชิญ รวมถึงวิกฤตต่างๆ ที่รออยู่ พร้อมด้วยแนวทางในการรับมือ และข้อเสนอแยกประกันสังคมออกจากระบบราชการ

 

รศ ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เสี่ยงล้มละลายใน 27 ปี ยังไม่วิกฤต ชี้มีเวลาให้ปรับตัว

 

ถ้าภาครัฐไม่ทำอะไร ปล่อยกองทุนประกันสังคมไว้เฉยๆ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยประเมินไว้ว่าเงินประกันสังคมจะหมดลงภายใน 27 ปี ทั้งจากปัญหาสังคมสูงวัย และจำนวนแรงงานถดถอย นับเป็นวิกฤตที่น่ากังวลใจ หากภาครัฐไม่สามารถแก้ไขได้

 

อย่างไรก็ตาม ษัษฐรัมย์มองว่า เป็นธรรมดาของกองทุนบำนาญทุกแห่งทั่วโลก ที่จะต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือมีจำนวนประชากรเกิดน้อยลง เพราะแรงงานที่น้อยลงย่อมหมายถึงเงินสมทบของผู้ประกันตนที่น้อยลงตามไปด้วย ซึ่งษัษฐรัมย์มองว่ายังไม่ใช่วิกฤต

 

ไม่เพียงเท่านั้น ษัษฐรัมย์ยังมองในแง่ดีว่า ไทยยังเหลือเวลาอีกมากในการปรับเปลี่ยนแก้ไข ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 27 ปี ไทยสามารถเพิ่มกลไกอุดหนุนของภาครัฐ หรือแม้แต่เพิ่มเงินสมทบได้เลยตั้งแต่วันนี้ ผ่านการปรับปรุงประกันสังคมให้มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ ษัษฐรัมย์ จึงชี้ว่าปัญหาของประกันสังคมไทยทุกวันนี้ อยู่ที่วิกฤตความเชื่อมั่น เนื่องจากประกันสังคมยังไม่มีความโปร่งใสมากพอ รวมถึงยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ Informal Economy มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างครอบคลุมในไทย

 

ษัษฐรัมย์กล่าวว่า แรงงานในภาค Informal Economy ส่วนใหญ่ไม่มีค่าจ้างประจำ แต่เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทว่าต่างกับไทยตรงที่ ภาครัฐประเทศอื่นๆ มีการขยายความคุ้มครองประกันสังคมภาคบังคับแก่แรงงานกลุ่มนี้ด้วย ประกันสังคมในประเทศต่างๆ จึงสามารถปรับตัวได้

 

ษัษฐรัมย์จึงชี้ว่า นอกจากความท้าทายด้านประชากรสูงวัยแล้ว ไทยกำลังเผชิญความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ กฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคมไทย ที่มีเงื่อนไขแบบเดิมมาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งยังไม่มีความคุ้มครองสภาพการจ้างงานที่ครอบคลุมมากพอ

 

ประกันสังคม งบสูงกว่ากระทรวงเกรดเอ 

 

สำนักงานประกันสังคมมีสถานะเป็นเพียงกรมหนึ่งของกระทรวงแรงงาน ที่มักถูกมองว่าเป็นกระทรวงเกรดซี เพราะเป็นกระทรวงที่เต็มไปด้วยปัญหาร้องทุกข์ การจ้างงานไม่เป็นธรรม การเลิกจ้าง หรือการปรับขึ้นค่าแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ประกันสังคมดูไม่น่าสนใจเท่าไรนักในสายตาคนทั่วไป

 

อย่างไรก็ตาม ษัษฐรัมย์ชี้ว่า สำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรซึ่งดูแลกองทุนประกันสังคม ที่มีสินทรัพย์มหาศาลเป็นมูลค่ากว่า 2.7 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2567 โดยจะมีเงินเข้าจากทั้งฝั่งนายจ้างและผู้ประกันตนข้างละ 90,000 ล้านบาท รวมกันเป็น 180,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีเงินสมทบจากรัฐบาลอีก 50,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินเข้าต่อปีรวมกันสูงถึง 230,000 ล้านบาท

 

สำหรับขาออก กองทุนประกันสังคมจะมีการจ่ายสิทธิประโยชน์ รวมถึงสำรองไว้เป็นเงินบำนาญในอนาคตอีกราว 100,000 กว่าล้านต่อปี คิดเป็นเกือบ 50% ของรายได้ต่อปี ขณะเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมยังมีช่องให้สำรองเงินไว้เป็นงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการได้สูงถึง 10% ของรายได้ต่อปี เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งษัษฐรัมย์ชี้ว่าเยอะกว่างบประมาณของกระทรวงขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวงอุตสาหกรรมเสียอีก

 

ษัษฐรัมย์กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีงบประมาณต่อปีที่สูงกว่าประเทศขนาดเล็กอย่างกัมพูชา หรือเนปาลเสียอีก ทั้งยังเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใหญ่กว่ากองทุนวายุภักดิ์ ซึ่งมีมูลค่าราว 6.7 พันล้าน หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้ งบประมาณมูลค่ามหาศาลที่กล่าวมา แม้จะมีความสำคัญมาก แต่กลับเป็นงบที่ไม่ถูกชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร มีเพียงเงินสมทบจากรัฐบาล 50,000 ล้านบาท รวมถึงเงินสมทบจากข้าราชการเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของประกันสังคม

 

กลไกการบริหารของประกันสังคมไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะเลย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าจัดซื้อจัดจ้าง จึงทำให้งบประมาณที่ใช้ไปกับโครงการต่างๆ มักถูกตั้งข้อกังขาจากผู้จ่ายเงินสมทบประกันสังคมอยู่เสมอ ดังที่เกิดขึ้นกับงบประมาณในการจัดทำปฏิทิน 8 ปีย้อนหลัง ซึ่งรวมแล้วไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท

 

แบ่งกลุ่มสินทรัพย์ ขจัดผลตอบแทนต่ำ

 

ที่ผ่านมา ประกันสังคมมีผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลังประมาณ 2-3% ต่อปีเท่านั้น ถือว่าต่ำมากถ้าเทียบกับกองทุนบำนาญอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาผลตอบแทนการลงทุนต่ำ 

 

ษัษฐรัมย์ชี้ว่า ประกันสังคมจำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่อง SAA ซึ่งประกอบด้วย Strategic, Asset และ Allocation โดยจะเป็นแผนระยะ 5 ปี ที่มีการกำหนดสัดส่วนแผนการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์แต่ละประเภท (Asset Class) ที่แตกต่างกันไป 

 

ก้าวต่อไปของประกันสังคมจึงเป็นการปรับสัดส่วนการลงทุน ให้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะมีระยะถึงปี 2570 เพื่อมีการประเมินแผนการว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่

 

จึงเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่แผนการดังกล่าวสามารถเพิ่มรายได้จากการลงทุนได้มากถึง 70,000 ล้านบาทในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผลตอบแทนมากกว่า 5% ตามเป้า ซึ่งษัษฐรัมย์ชี้ว่า หากมีผลตอบแทนในระดับนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถยืดอายุกองทุนให้ยาวขึ้นได้อีก 5-7 ปี

 

เงินที่ได้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้กองทุนมีความยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน เช่น เมื่อต้องนำเงินไปขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก็จะช่วยสร้างความเป็นธรรม ความเชื่อมั่น และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเป็นผู้ประกันตนมากขึ้นได้อีกด้วย 

 

สินทรัพย์นอกตลาด อนาคตสำคัญของกองทุนประกันสังคม 

 

การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Equity) นับอนาคตสำคัญของกองทุนบำนาญทั่วโลก เนื่องจากมีพื้นที่การลงทุนที่หลากหลาย ช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้หลายทาง ต่างจากตลาดหุ้นไทยที่ษัษฐรัมย์มองว่าเล็กเกินไปสำหรับกองทุนประกันสังคม

 

ษัษฐรัมย์เปรียบกองทุนประกันสังคมในตลาดหุ้นไทยเป็นดั่งปลาวาฬที่อยู่ในบ่อ หมายความว่า หากกองทุนประกันสังคมขยับเพียงนิดเดียว ก็จะสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งตลาด ไม่ว่าจะซื้อหรือขายหุ้นอะไรก็ไม่มีทางได้ในราคาที่เหมาะสม 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ษัษฐรัมย์ยังเผยผลการศึกษาที่สำคัญของทีมประกันสังคมก้าวหน้า ซึ่งพบว่า สินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่มีผลตอบแทนในระดับตัวเลขสองหลัก (Double Digit) มักไม่ค่อยถูกนำเข้าตลาดเท่าไรนัก เนื่องจากองค์กรต่างๆ ต้องการเก็บผลกำไรไว้เอง ข้อดีของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดจึงช่วยให้ประกันสังคมคาดหวังผลตอบแทนในระดับ 12-20% ต่อปีได้ไม่ยาก

 

อย่างไรก็ตาม ษัษฐรัมย์ย้ำเตือนว่าข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องพึงระวังคือ ราว 95% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เป็นของเน่า และมีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นของดี ถึงแม้อย่างนั้น ประกันสังคมก็สามารถหาพาร์ตเนอร์การลงทุนมาช่วยแบกรับความเสี่ยงไปด้วยกันได้

 

ยกตัวอย่างเช่น การร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด่วนของสหภาพยุโรป กองทุนประกันสังคมอาจเลือกลงทุนในสัดส่วนเพียง 20-30% ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องถือมากถึง 80-90%  

 

ข้อดีของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดคือ ช่วยให้ประกันสังคมสามารถเปิดเผยแผนการลงทุนได้โดยไม่ทำให้ตลาดผันผวน เพราะสินทรัพย์นอกตลาดดำเนินผ่านกระบวนการเจรจา ราคาสินทรัพย์ส่วนมากจึงค่อนข้างตายตัว ยิ่งการประเมินราคาเป็นไปอย่างเปิดเผยและรอบคอบเพียงใด ษัษฐรัมย์ชี้ว่าก็จะช่วยป้องกันความผิดพลาดของการลงทุน ดังที่เกิดขึ้นกับโครงการซื้อตึก ‘SKYY9’ ได้

 

ฉะนั้น การมีพาร์ตเนอร์ลงทุนที่น่าเชื่อถือ จะเป็นกลไกช่วยบริหารและป้องกันความเสี่ยงได้ดี เพราะแม้กองทุนประกันสังคมจะมีขนาดใหญ่มากในประเทศ แต่ถ้าเทียบกับกองทุนอื่นๆ ทั่วโลก กองทุนประกันสังคมกลับมีสถานะเทียบเท่ากองทุนสถาบันรายย่อยเท่านั้น 

 

ถึงแม้อย่างนั้น ษัษฐรัมย์เผยว่า กองทุนประกันสังคมยังไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเพิ่มเติมแม้แต่น้อย นับตั้งแต่เริ่มปรับ SAA ใหม่ เนื่องจากทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่อยู่ในอนุกรรมการ ต้องการที่จะสร้างกลไกบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมให้สำเร็จเสียก่อน ซึ่งษัษฐรัมย์ยอมรับว่าประกันสังคมเองยังไม่มีความคุ้นเคย รวมถึงมีความชำนาญ ในสินทรัพย์กลุ่มนี้เช่นกัน

 

วิกฤตศรัทธา โจทย์ใหญ่ประกันสังคม

 

ทุกวันนี้ผู้ประกันตนไม่รู้สึกศรัทธา รวมถึงไม่รู้สึกยึดโยงกับประกันสังคมอีกต่อไป จากการบริหารงบประมาณที่ไม่โปร่งใส รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น จนหลายคนรู้สึกเหมือนถูกปล้นเงินไปต่อหน้าต่อตา แม้คณิตศาสตร์ประกันภัยจะคำนวณไว้ว่าต้องรอถึง 27 ปี กองทุนประกันสังคมจึงจะล้มละลาย แต่ษัษฐรัมย์กล่าวว่า ถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่นแล้ว 2 สัปดาห์ก็อยู่ไม่ถึง

 

ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน 50 ล้านบาทไปกับการผลิตปฏิทิน หรือนำรถยนต์ที่ซื้อมากว่า 100 ล้านบาท ไปบริจาคแบบไม่สนความรู้สึกเจ้าของเงิน แม้รถยนต์ดังกล่าวจะผ่านการใช้งานมาแล้ว 5-8 ปี แต่ษัษฐรัมย์มองว่ามูลค่าอย่างน้อยก็คงเหลือไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปแปลงเป็นสิทธิประโยชน์ได้ดีกว่าการให้คำอธิบายว่าบริจาคแล้วได้บุญ

 

นอกจากนี้ ยังมีสูตรการคำนวณบำนาญผิดพลาด จนทำให้เงินบำนาญของผู้ประกันตนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนสร้างความเจ็บแค้นใจแก่ผู้ประกันตนเป็นจำนวนมาก ซึ่งษัษฐรัมย์เข้าใจดีว่าประกันสังคมไม่ได้ต้องการปล้น เพียงแต่สูตรการคำนวณถูกออกแบบมาดีไม่พอ และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข

 

ทั้งนี้ ษัษฐรัมย์เสนอให้ปฏิรูประบบประกันสังคมออกจากระบบราชการ ให้มีกลไกการบริหารของตัวเอง มีการตรวจสอบ เปิดเผยบันทึกการประชุม เปิดเผยพอร์ตการลงทุนที่สามารถเปิดเผยได้ให้ประชาชนเห็น ซึ่งจะแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส  รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น และช่วยฟื้นคืนศรัทธาจากประชาชนได้ไม่ยาก

 

ปฏิรูปประกันสังคม ต้องพึ่งพรรคการเมือง

 

เนื่องจากประกันสังคมเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงาน และมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดโดยตำแหน่ง ษัษฐรัมย์ชี้ว่า จะแยก พ.ร.บ. ประกันสังคมให้อยู่นอกระบบราชการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจำเป็นต้องอาศัยอำนาจในระดับรัฐสภา หรือแม้แต่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งบอร์ดประกันสังคมไม่อาจทำได้ 

 

ษัษฐรัมย์วาดฝันอยากให้ประกันสังคมมีกลไกบริหารจัดการที่แยกส่วนออกจากระบบราชการ แต่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐแบบเดียวกับสื่อสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอส แต่ความเป็นไปได้ต่างๆ เหล่านี้กลับถูกพูดถึงจากรัฐบาลน้อยมาก

 

ด้วยเหตุนี้ ษัษฐรัมย์จึงเชิญชวนให้พรรคการเมืองทุกพรรคนำประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนในระบบกว่า 16 ล้านคน ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนเสียงให้กับทุกพรรคการเมืองได้อย่างมหาศาล

 

วอนภาครัฐอย่าเมินเฉย 

 

เนื่องจากประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ และมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก ษัษฐรัมย์จึงวอนขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเข้ามาบริหาร อย่ามองว่ากระทรวงแรงงานเป็นเพียงเค้กก้อนหนึ่งในการแบ่งสรรอำนาจ แต่ขอให้ภาครัฐมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising