×

กองทุนประกันสังคมตั้งเป้าผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี ลดความเสี่ยงเงินกองทุนหมดใน 30 ปี

24.10.2024
  • LOADING...
กองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคม ตั้งเป้าเพิ่มผลตอบแทนระยะยาวเป็นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี มุ่งเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศจาก 32% เป็น 47% ภายในปี 2570 ลดความเสี่ยงเงินกองทุนหมดในปี 2592 

 

จากงานประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับ กองทุนประกันสังคม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมกองทุน 2.6 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย เงินสมทบ 3 ฝ่าย ซึ่งนำไปลงทุนสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท รวมกับผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 990,220 ล้านบาท 

 

จากการประเมินแนวโน้มเงินกองทุนไปในอนาคตพบว่า หากกองทุนประกันสังคมยังดำเนินงานเช่นเดิม เงินกองทุนจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 6 ล้านล้านบาทในปี 2585 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือศูนย์ในปี 2597 

 

“การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบน้อยลง และกลับกันก็มีผู้สูงอายุที่กองทุนประกันสังคมต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น”​ พิพัฒน์กล่าว

 

หนึ่งในแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาและลดความเสี่ยงดังกล่าวคือ เพิ่มผลตอบแทนการลงทุนจาก 3.5% ต่อปีเป็น 5% ต่อปี ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 

 

ซึ่งจะทำได้ผ่านการปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบเป้าหมายสัดส่วนการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (SAA) ด้านการลงทุน ฉบับที่ 5 (ระยะ 1 ปี 2568-2570) 

 

โดยปรับสัดส่วนสินทรัพย์มั่นคงต่อสินทรัพย์เสี่ยง จาก 70:30 มาเป็น 65:35 พร้อมปรับสัดส่วนสินทรัพย์ในประเทศต่อสินทรัพย์ต่างประเทศ จาก 68:32 มาเป็น 53:47 โดยสัดส่วนของสินทรัพย์จะเปลี่ยนจากตราสารหนี้ (70%) ตราสารทุน (24%) และสินทรัพย์ทางเลือก (6%) มาเป็น 68%, 17% และ 15% ตามลำดับ 

 

“หลังจากนี้เงินลงทุนของประกันสังคมจะพยายามผลักไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น อย่างตราสารทุนจะลงทุนผ่านกองทุนรวม วันนี้การลงทุนในประเทศไทยให้ผลตอบแทนต่ำมาก หลังจากนี้สมมติว่ามีเงินลงทุน 5 หมื่นล้านบาท จะเลือกไปลงทุนต่างประเทศ 4 หมื่นล้านบาท เราควรจะไปหาตลาดที่เข้มแข็งและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่า” พิพัฒน์กล่าว 

 

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินสำรองมากขึ้นหลังจากปี 2597 ได้แก่ 

 

  1. ปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนจาก 3.5% เป็น 5% ต่อปี ช่วยให้เงินสำรองเพิ่มขึ้น 2.71 ล้านล้านบาท
  2. เพิ่มผู้ประกันตนต่างชาติ 2 ล้านคน ช่วยให้เงินสำรองเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านล้านบาท
  3. ปรับเพิ่มอายุเกษียณขั้นต่ำจาก 55 ปีเป็น 65 ปี โดยทุกๆ 5 ปีปรับเพิ่ม 1 ปี ช่วยให้เงินสำรองเพิ่มขึ้น 3.15 ล้านล้านบาท
  4. ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 2% รัฐบาล 2.25% (รวม 3 ฝ่าย 6.25%) ช่วยให้เงินสำรองเพิ่มขึ้น 13.7 ล้านล้านบาท
  5. ปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างอย่างต่อเนื่องตามค่าเงินเพื่อสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอของผู้ประกันตน 

 

จากข้อเสนอทั้ง 5 แนวทางจะยืดอายุกองทุนออกไปกว่า 35 ปี ถึงปี 2634 และเงินสำรองเพิ่มขึ้น 28.88 ล้านล้านบาท

 

วิกฤตซ้อนวิกฤต (Polycrisis) อาจทำเงินกองทุนหมดเร็วกว่าคาด

 

จากปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘ความคุ้มครองทางสังคมและการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ’ โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการ UNCTAD กล่าวว่า สังคมสูงวัยเป็นวิวัฒนาการด้านประชากรที่ไม่มีใครห้ามได้ แต่เราควรจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า ผลกระทบต่อสังคม รวมถึงการคุ้มครองผู้ยากจน ผู้เปราะบาง และผู้สูงอายุ เราจะทำกันอย่างไร 

 

“ถ้าเพิ่มเงินเข้ามาไม่ได้ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายแทน” ดร.ศุภชัย กล่าว

 

ถ้าเราจะมีการคุ้มครองที่ยั่งยืน เราต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้วย ซึ่งไม่ใช่ภาระของกองทุนประกันสังคมเพียงอย่างเดียว 

 

โดยหลักการของสหประชาชาติแล้ว การประกันและคุ้มครองสังคมมักจะทำกันใน 3 รูปแบบ ได้แก่

 

  1. สังคมสงเคราะห์ 
  2. การดูแลแรงงาน 
  3. การเพิ่มความสามารถในการทำงานให้กับประชาชน 

 

ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน ในระบบสังคมสูงวัย ผู้สูงวัยไม่ใช่ภาระ (Liability) ของระบบ แต่สามารถเป็นสินทรัพย์ (Asset) ได้อย่างดี อย่างในยุโรป ผู้สูงวัยทำงานยาวขึ้น และในบางพื้นที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ 

 

ย้อนกลับมาที่กองทุนประกันสังคมของไทย สำหรับความเสี่ยงที่เงินกองทุนจะหมดในอีก 30 ปี จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับสถานการณ์ 

 

“ปัจจุบันโลกเราเผชิญกับ Polycrisis คือมีวิกฤตทุกรูปแบบเกิดขึ้นพร้อมกัน ทั้งสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม” ทำให้ความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคมไม่แน่นอน เราจึงต้องสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานและปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบอยู่ตลอดเวลา 

 

ทั้งนี้ ดร.ศุภชัย มองว่า โอกาสที่จะหาผลตอบแทนสูงและปลอดภัยในปัจจุบันอาจไม่ได้มีมากนัก อย่างเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำสุดในรอบ 10-20 ปี ขณะที่การว่างงานในยุโรปพุ่งสูงขึ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นการลงทุนควรจะทำอย่างระมัดระวัง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising