1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนทำงาน หลังจากการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดรับสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 25-31 ตุลาคม 2566 ซึ่งกำหนดจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00-16.00 น.
โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 รวมถึงนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส. พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งสิ้น 24 ล้านคน และจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 12 ล้านคน
โดยก่อนหน้านี้เพจพรรคก้าวไกลออกมาเปิดเผยตัวเลขผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมหรือบอร์ดประกันสังคมเพียง 82,000 คน จากผู้ประกันตน 12 ล้านคน คิดเป็น 0.69% คือไม่ถึง 1% ของจำนวนทั้งหมด
แน่นอนหลายคนอาจเกิดคำถามว่า ‘บอร์ดประกันสังคม’ มีไว้ทำอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร วันนี้ THE STANDARD จะพาไปดูว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากสำหรับคนที่ทำงานมีเงินเดือนและต้องจ่ายเงินเข้าประกันสังคมทุกเดือน โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนี้
ผู้ประกันตน ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม-สิงหาคม 2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง)
นายจ้าง ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม-สิงหาคม 2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจหรือกรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว
หน้าที่บอร์ดประกันสังคม บทบาทหน้าที่ของบอร์ดประกันสังคม สามารถเสนอความเห็นและนโยบายต่อรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งจากข้อมูลระบุว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนสะสมในกองทุนฯ เมื่อปี 2565 อยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท และในปี 2566 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 2,345,347 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของ GDP
บอร์ดประกันสังคม ประกอบด้วย
- ฝ่ายรัฐบาล ปลัดกระทรวงแรงงาน 1 คน และกรรมการ 6 คน
- ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 คน
- ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน หรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 7 คน
ไทม์ไลน์ในการเลือกบอร์ดประกันสังคม
- 12-31 ตุลาคม 2566 ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทางเว็บไซต์ประกันสังคม
- 25-31 ตุลาคม 2566 รับสมัครเลือกตั้ง
- 1-7 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร พร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้สมัครทราบ
- 8-10 พฤศจิกายน 2566 ผู้สมัครคัดค้านความเห็นเจ้าหน้าที่
- 10 พฤศจิกายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- 11 พฤศจิกายน – 14 ธันวาคม 2566 การขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- 21 พฤศจิกายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัคร
- 22-26 พฤศจิกายน 2566 การขอเพิ่มชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
- 4 ธันวาคม 2566 ประกาศเพิ่มชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
- 24 ธันวาคม 2566 วันลงคะแนนเลือกตั้ง
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนผู้จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมจะได้เข้าคูหาเลือกตัวแทนที่จะมาจัดการเงินกองทุนนี้ ทว่าสิ่งการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ส่อเค้าวิกฤต จากตัวเลขผู้ประกันตนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย ซึ่งการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 33 ปี จากเมื่อก่อนที่จะใช้วิธีการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาต่อไปเมื่อลงคะแนนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมแล้วเสร็จจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรตามมาหรือไม่ หรือแตกต่างจากการสรรหากรรมการเข้ามาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เราเห็นแน่ๆ คือประชาชนให้ความสนใจกับเรื่องนี้น้อยมาก หรืออาจเพราะการสื่อสาร หรือปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างที่เรามองข้ามไปทำให้คนเมินเฉยต่อสิทธิของตัวเองในการรักษาสิทธิที่ควรจะได้รับ อย่าลืมว่า ‘ประกันสังคมเป็นสิทธิของเราทุกคน’