×

#ผ้าอนามัยไม่มีภาษี โซเชียลมีเดียเดือด หลังราชกิจจาฯ ประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง สรรพสามิตยืนยัน VAT ไม่เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2021
  • LOADING...
ผ้าอนามัยไม่มีภาษี

วันนี้ (22 กรกฎาคม) โซเชียลมีเดียได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็น #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ภายหลังราชกิจจานุเบกษาได้มีการออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือนเป็นเครื่องสำอาง ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 โดยอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข

 

โดยในหมายเหตุท้ายประกาศได้ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากบทนิยามคำว่า ‘เครื่องสำอาง’ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงเป็นเครื่องสำอาง และมีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

การออกประกาศครั้งนี้ได้เกิดปรากฏการณ์สะท้อนถึงความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับประชาชนบนสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากกังวลว่ากฎกระทรวงนี้จะทำให้ภาษีของผ้าอนามัยแบบสอดเพิ่มขึ้นในอัตรา 30% 

 

แต่ทว่าการออกประกาศให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางนั้น ถูกเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติออกหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2561 แล้ว และทำให้มีประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้มาก่อน ต่อมาเรื่องนี้ได้ถูกชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าเป็นเพียงแค่การออกประกาศเพื่อจัดหมวดของผ้าอนามัยแบบสอด ที่ตกหล่นจาก พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 เท่านั้น 

 

เนื่องจากในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดคำนิยามของ ‘เครื่องสำอาง’ ไว้ว่า (1) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏหรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ นั้นให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย (2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ (3) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง  

 

โดยในปัจจุบันนั้นมีผ้าอนามัยอยู่ 2 ชนิด คือผ้าอนามัยแบบใช้ภายนอกและชนิดสอดใส่ ซึ่งผ้าอนามัยแบบใช้ภายนอกถูกจัดเป็นเครื่องสำอางอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและใช้ภายนอกร่างกาย แต่ผ้าอนามัยชนิดสอดต้องใช้สอดเข้าไปในร่างกาย จึงอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่กลับไม่เข้าข่ายของบทนิยามให้เป็นเครื่องสำอางตามมาตรา 4 ดังกล่าว จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงให้กลับมาครอบคลุมถึงผ้าอนามัยแบบสอดเท่านั้น

 

ล่าสุด ลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต  ออกมายืนยันว่า กรมสรรพสามิต ไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบัน กรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม  ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8%

 

ปัจจุบันผ้าอนามัยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เท่านั้น ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือมีเพดานการจัดเก็บภาษี 30% ตามที่เป็นข่าว เพราะสินค้าผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบ ก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย

 

นอกจากนั้น ผ้าอนามัยยังเป็นหนึ่งใน 46 สินค้าควบคุมตามการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 จากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อกำหนดให้ราคาสินค้าและบริการตามประกาศถูกควบคุมให้สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ โดยมีการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายเอาไว้

 

ในอีกด้านหนึ่ง สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การออกประกาศดังกล่าวจากราชกิจจานุเบกษา ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยเพิ่ม แต่เป็นเพราะเหตุผลทางเรื่องการแบ่งประเภทสินค้า เนื่องจากผ้าอนามัยแบบสอดไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอาหารและยา จึงนำไปใส่ไว้ในด้านของเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นประโยชน์ในด้านการกำกับดูแลและการจดแจ้ง เนื่องจากกลุ่มยาจะถูกกำกับไว้เข้มข้นกว่า ไม่สามารถโฆษณาได้ ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน แต่กลุ่มของเครื่องสำอางจะสามารถโฆษณาได้โดยไม่เกินจริงหรือเป็นเท็จ

 

อย่างไรก็ตาม การออกประกาศในครั้งนี้ได้ทำให้ประชาชนหันมาสนใจถึงประเด็นของราคาผ้าอนามัยอีกครั้ง และที่ผ่านมาก็ได้มีกระแสการเรียกร้องให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าปลอดภาษีมาโดยตลอด จนไปถึงประเด็นว่าผ้าอนามัยควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดหาให้ประชาชนได้ใช้ฟรี เช่นในประเทศสกอตแลนด์ เนื่องจากผ้าอนามัยเป็นสิ่งของจำเป็นและมีราคาสูงอยู่แล้ว ทำให้ผู้ที่มีประจำเดือนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง ไม่ต่างจากการถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเนื่องจากเกิดมาแล้วมีประจำเดือน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising