×

ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การรับรู้ ความลังเล และการ (ไม่) ยอมรับ

31.03.2022
  • LOADING...
ภูมิคุ้มกันเชิงสังคม

HIGHLIGHTS

  • การทำงานของวัคซีน ตลอดจนความสำเร็จและข้อจำกัดของวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพของมันในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค (Virulence-oriented Immunity) ในมนุษย์เท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงอย่างมากว่าวัคซีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันเชิงสังคม (Society-oriented Immunity) ในการถูกพัฒนา รับรู้ ได้รับการยอมรับ และสามารถกระจายไปอย่างทั่วถึงในสังคมหรือไม่ด้วย
  • ในบทความนี้ ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศออสเตรเลียและไทย ในด้านหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศและกระบวนการการผลิต การจัดหา การให้ข้อมูลและการรณรงค์ ตลอดจนการแจกจ่ายวัคซีนในสังคม และในอีกด้านหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการรับรู้ของผู้คน ทัศนคติ ความกังวลใจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำมาซึ่งความลังเลในการรับหรือการปฏิเสธการรับวัคซีน

ปรากฏการณ์การระบาดและความพยายามยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด เชื่อมโยงกับมิติความสัมพันธ์ที่หลากหลายในสังคม โดยพื้นฐานแล้ว การระบาดของไวรัสเกี่ยวข้องมิติเชิงชีวภาพของเชื้อไวรัส สภาพแวดล้อม ตลอดจนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ แต่นอกเหนือจากมิติเชิงชีวภาพแล้ว การระบาดของไวรัสก็ยังเกี่ยวข้องกับมิติทางกายภาพที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และการสัมผัส ทั้งยังเป็นเรื่องทางเทคนิคโดยเฉพาะการพัฒนา การเก็บรักษา การกระจายวัคซีน ตลอดจนการประเมินปฏิกิริยาของร่างกายต่อเชื้อโรคและวัคซีน และที่สำคัญยังเป็นเรื่องทางสังคมและการเมือง ที่ซึ่งการแพร่กระจายและการยับยั้งการระบาดมักเชื่อมโยงอย่างมากกับความน่าเชื่อถือของการผลิต ความโปร่งใสของข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ความชอบธรรมในการจัดหาและแจกจ่าย ตลอดจนทัศนคติของสาธารณะต่อการจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสังคม

 

เช่นนั้นแล้ว การทำความเข้าใจการระบาดและความพยายามในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด จึงต้องพิจารณาให้เห็นถึงระบบนิเวศหรือความสัมพันธ์ที่เหลื่อมซ้อนและยากที่จะแยกออกจากกันระหว่างปริมณฑลทางชีวภาพ กายภาพ เทคนิค สังคม และความเป็นการเมืองของวัคซีน

 

การทำงานของวัคซีน ตลอดจนความสำเร็จและข้อจำกัดของวัคซีน ในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพของมันในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค (Virulence-oriented Immunity) ในมนุษย์เท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงอย่างมากว่าวัคซีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันเชิงสังคม (Society-oriented Immunity) ในการถูกพัฒนา รับรู้ ได้รับการยอมรับ และสามารถกระจายไปอย่างทั่วถึงในสังคมหรือไม่ด้วย

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศออสเตรเลียและไทย ในด้านหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศและกระบวนการการผลิต การจัดหา การให้ข้อมูล และการรณรงค์ ตลอดจนการแจกจ่ายวัคซีนในสังคม และในอีกด้านหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการรับรู้ของผู้คน ทัศนคติ ความกังวลใจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำมาซึ่งความลังเลในการรับหรือการปฏิเสธการรับวัคซีน ผู้เขียนเสนอว่า วัคซีนแต่ละประเภทดำรงอยู่ ได้รับการยอมรับ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในลักษณะที่หลากหลายออกไป การดำรงอยู่และการทำงานร่วมกับผู้คนในสังคมที่แตกต่างกันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าวัคซีนเหล่านั้นไม่เพียงแต่มีศักยภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคที่ต่างกันเท่านั้น หากแต่มี ‘ภูมิคุ้มกันเชิงสังคม’ ที่ต่างกันไปออกไปด้วย   

 

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นผลผลิตเชิงเทคนิคของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ แต่กระนั้นวัคซีนก็ไม่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากการให้คุณค่าทางสังคมการเมือง

 

 

ระบบนิเวศของวัคซีน

 

วัคซีนถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ที่ผ่านมา การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีน (Vaccination) ถือเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขที่มีความปลอดภัยสูง มีต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงประชากรในโลกที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความเชื่อ อายุ เพศสภาพ ฐานะ และระบบการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงปัจจุบัน วัคซีนถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการกับเชื้อโรคมากมายทั้งในคนและในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ความสำเร็จของวัคซีนนั้นทำให้โรคอย่างฝีดาษหรือไข้ทรพิษกลายเป็นเพียงอดีต และโรคคุดทะราด โปลิโอ มาลาเรีย กำลังถูกขจัดให้หมดไปในเวลาอันใกล้นี้ 

 

ในแง่นี้ วัคซีนจึงมีส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อปกป้องชีวิตของผู้คน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

 

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นผลผลิตเชิงเทคนิคของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ แต่กระนั้นวัคซีนก็ไม่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากการให้คุณค่าทางสังคมการเมือง ในแง่หนึ่ง กระบวนการทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในห้องทดลองเป็นกระบวนการที่สำคัญในการได้มาซึ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสามารถขนส่งแจกจ่ายได้ง่าย แต่นั่นก็เพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดและป้องกันโรคเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จของการป้องกันโรคอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่วัคซีนเหล่านั้นได้รับจัดสรรอย่างเหมาะสม ตลอดจนได้รับการยอมรับจากสาธารณะ และถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสังคมด้วย 

 

ในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัส มาตรการพื้นฐานในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการกักตัวและติดตามผู้ติดเชื้อนั้นถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและเป็นสากล มาตรการที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เคยถูกนำมาใช้ในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น SARS และ MERS ได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด มาตรการดังกล่าวกลับพบว่ายังเป็นแนวทางที่ไม่เพียงพอในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโรค นั่นก็เพราะว่าโควิดมักจะแพร่เชื้อในช่วงที่ยังไม่มีอาการบ่งชี้แน่ชัด ด้วยเหตุนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนแก่ประชากรอย่างรวดเร็วและทั่วถึงจึงเป็นแนวทางที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นทางรอดระยะยาวในการต่อกรกับเชื้อโรคนี้ 

 

กระบวนการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน และมักเข้าใจกันว่ามีจุดเริ่มต้นจากในห้องทดลองที่ไหนสักแห่งในโลก วัคซีน Sinovac (หรือ CoronaVac) ถูกพัฒนาขึ้นโดยห้องปฏิบัติการวิจัยของบริษัท Sinovac Biotech ร่วมกับ Wuhan Institute of Biological Products วัคซีนของ AstraZeneca คิดค้นโดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนยี่ห้อ Pfizer ผลิตขึ้นโดยบริษัท Pfizer Inc. บริษัทยาของสหรัฐฯ ร่วมกับ BioNTech บริษัทยาของเยอรมนี แน่นอนว่าศูนย์ปฏิบัติการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเภสัชกรรมเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานของวัคซีนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับสังคมที่มากขึ้น แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาวัคซีนนั้นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ล้วนมาจากการเก็บตัวอย่างของเชื้อไวรัสที่แพร่อยู่ในสังคม เพื่อศึกษาถึงพันธุกรรม ลักษณะทางชีวกายภาพ ตลอดจนกลไกการดำรงอยู่และการแพร่กระจายของมันในโลกที่เป็นจริง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจุดประสงค์หลักของการพัฒนาวัคซีนมีจุดเริ่มต้นจากความกังวลในสังคมมาตั้งแต่ต้น ในแง่ที่ว่ามันกำลังทำลายชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมือง และดำเนินไปท่ามกลางความคาดหวังจากมวลมนุษย์ทั่วโลก

 

เชื้อที่ได้มาจากสภาพแวดล้อมจะถูกนำมาทดลองและพัฒนาต่อในห้องทดลอง กระบวนการดังกล่าวนี้แม้ว่าจะดำเนินไปในพื้นที่ปิด แต่ก็มักจะถูกจับตามองจากสังคมอย่างใกล้ชิด ขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะแนวทางของการพัฒนา เช่น การใช้เชื้อตาย การตัดต่อและสังเคราะห์สารพันธุกรรมจากส่วนต่างๆ ของไวรัส การทดลองในสัตว์ การทดลองในมนุษย์ การนำเสนอความก้าวหน้าและประสิทธิภาพ ตลอดจนการได้รับการรับรองจากสถาบันสาธารณสุขระดับชาติและหน่วยงานระหว่างประเทศอย่าง World Health Organization ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการที่ถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมแทบทั้งสิ้น

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด สิ่งที่แพร่หลายมากกว่าเชื้อโรคก็คงจะเป็นความสนใจใคร่รู้ การถกเถียงอภิปราย และการให้คุณค่าต่อวัคซีนที่กระจายอยู่ทั่วทุกอณูของสังคมโลก

 

วัคซีนเกิดขึ้นท่ามกลางพลวัตและความคาดหวังของสังคมเสมอ

 

การพัฒนาวัคซีนนั้นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ล้วนมาจากการเก็บตัวอย่างของเชื้อไวรัสที่แพร่อยู่ในสังคม

 

 

สังคมของวัคซีน วัคซีนในสังคมว่าด้วย ‘วัคซีนที่ดี’ และ ‘วัคซีนที่ดีน้อยกว่า’

 

 

ที่ประเทศออสเตรเลีย The Australian Technical Advisory Group on Immunisation (ATAGI) มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนแก่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานวิจัยและองค์กรต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2021 ได้ออกประกาศ (Statement) ด้านข้อคำนึงความปลอดภัยเกี่ยวกับวัคซีน AstraZeneca โดยแนะนำว่าวัคซีน Pfizer เป็น Preferred Vaccine สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ข้อแนะนำนี้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดภาวะเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome: TTS) หลังจากได้รับวัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2021 ATAGI ได้ออกประกาศคำแนะนำใหม่ว่าวัคซีน Pfizer เป็น Preferred Vaccine สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-60 ปี โดยคำแนะนำนี้ถูกปรับแก้เนื่องจากความเสี่ยงการเกิด TTS ที่สูงขึ้นจากการได้รับวัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มอายุระหว่าง 50-59 ปีในออสเตรเลีย 

 

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างต้นเดือนเมษายนจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2021 ได้พบการรายงานผู้ป่วยจำนวน 60 รายที่ได้รับการยืนยันหรือมีความเกี่ยวข้องกับ TTS ในออสเตรเลีย โดย 7 รายในช่วงสัปดาห์ล่าสุดในขณะนั้นมีอายุระหว่าง 50-59 ปี ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเกิด TTS ในกลุ่มอายุนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.9 เป็น 2.7 ต่อ 1 แสนโดส AstraZeneca ทั้งนี้ TTS ถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรงโดยมีอัตราการเสียชีวิตในออสเตรเลียที่ร้อยละ 3 (เสียชีวิตจำนวน 2 รายจากผู้ป่วย 60 ราย) AstraZeneca ถูกวางให้เป็นวัคซีนหลักของออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามคำแนะนำจาก ATAGI ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีน ซึ่งกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของประเทศเนื่องจากออสเตรเลียมีการสำรองวัคซีน AstraZeneca เป็นจำนวนกว่า 53.8 ล้านโดส โดยมาจากการผลิตภายในประเทศถึง 50 ล้านโดส ขณะที่ประเทศมีการสำรองวัคซีน Pfizer อย่างจำกัด

 

คำแนะนำจาก ATAGI ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนต่อการแบ่งวัคซีนออกเป็น ‘วัคซีนที่ดี’ (Good Vaccine) และ ‘วัคซีนที่ดีน้อยกว่า’ (Less Good Vaccine) และมีคำถามตามมาว่า ‘Why can’t I have the good one?’ 

 

ถึงแม้จะมีการเปรียบเทียบความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับวัคซีน AstraZeneca กับความเสี่ยงที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือฟ้าผ่า อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงเปรียบเทียบความเสี่ยงที่แตกต่างกันจากการได้รับวัคซีนระหว่าง AstraZeneca และ Pfizer โดยความกังวลนี้ส่งผลให้เกิดการยกเลิกนัดเข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca รวมไปถึงความกังวลในการเข้ารับวัคซีน AstraZeneca ในเข็มที่สอง 

 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) ในช่วงการสำรวจครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2021 พบว่า ร้อยละ 15 ของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเป็นเพราะความต้องการวัคซีนทางเลือก (Wanting a different vaccine to what was available to them) โดยสัดส่วนความต้องการวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 35 ในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 50-69 ปี ขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนให้เหตุผลเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และร้อยละ 15 กังวลในประสิทธิภาพของวัคซีน   

 

ข้อมูลที่มีความขัดแย้งเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2021 National Cabinet Statement 2021 ได้ระบุว่า แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปยังคงสามารถฉีดวัคซีน AstraZeneca แก่ประชาชนออสเตรเลียที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีต่อไปได้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ได้กล่าวว่าประชาชนทั่วไปสามารถปรึกษาแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเพื่อขอรับวัคซีน AstraZeneca ได้ไม่ว่าอยู่ในกลุ่มช่วงอายุใดก็ตาม รวมถึงกลุ่มประชากรอายุต่ำกว่า 40 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ATAGI ได้ปรับคำแนะนำเรื่องช่วงอายุที่ควรได้รับวัคซีน AstraZeneca จากอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบความเสี่ยงต่อการเกิด TTS ในกลุ่มประชากรอายุ 50-59 ปี คำกล่าวจากนายกรัฐมนตรีก่อให้เกิดความสับสนของประชาชน รวมไปถึงความกังวลในกลุ่มแพทย์ปฏิบัติทั่วไปที่ยังคงยึดตามคำแนะนำของ ATAGI ว่าวัคซีน Pfizer เป็น Preferred Vaccine ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี 

 

ถึงแม้ว่าวัคซีน Pfizer นั้นถูกมองว่าเป็นวัคซีนที่ดีกว่า AstraZeneca อย่างไรก็ตามความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน Pfizer ที่เกี่ยวข้องกับ mRNA นั้นเกิดขึ้นในประชาชนบางกลุ่มโดยผ่านการกระตุ้นจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในสังคมออนไลน์ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนประเภท mRNA ว่ามีผลกระทบต่อพันธุกรรมและการแสดงออกของยีน บน WeChat ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียสัญชาติจีน ทั้งนี้มีการรายงานว่าข้อมูลเท็จดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในกลุ่ม WeChat อย่างน้อย 5 กลุ่ม โดยมี Chinese Australians จำนวนมากกว่า 2,000 คน ได้พูดคุยและเผยแพร่ข้อมูลนี้ และข้อมูลเท็จดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดโดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการแพทย์ ข้อมูลเท็จ รวมถึงข้อมูลที่บิดเบือนถูกเผยแพร่ไปในสังคมออนไลน์โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ปัญหาผู้ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักรับข้อมูลจากภายนอกก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวเกี่ยวกับโควิด และความปลอดภัยในการเข้ารับวัคซีน 

 

คำแนะนำจาก ATAGI ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนต่อการแบ่งวัคซีนออกเป็น ‘วัคซีนที่ดี’ (Good Vaccine) และ ‘วัคซีนที่ดีน้อยกว่า’ (Less Good Vaccine) และมีคำถามตามมาว่า ‘Why can’t I have the good one?’

 

 

ว่าด้วย ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’: mRNA ดีกว่า Viral Vector ดีกว่าเชื้อตาย

ในประเทศไทยก็เช่นกัน มีการถกเถียงกันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละประเภท โดยในบรรดาวัคซีนทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ วัคซีน mRNA (Pfizer และ Moderna) วัคซีน Viral Vector (AstraZeneca) และวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac และ Sinopharm) มุมมองของประชาชนต่อวัคซีน Sinovac ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับนักในเรื่องประสิทธิภาพการจัดการกับสายพันธุ์เดลตา ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เผยรายงานการศึกษาประสิทธิผลวัคซีน Sinovac จากการศึกษาในประเทศไทย ว่าสามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟาได้ร้อยละ 90 และสายพันธุ์เดลตาได้ร้อยละ 75 นั้น ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์เป็นอย่างมากถึงความน่าเชื่อถือของการศึกษา ความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการวัคซีน mRNA ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากการสั่งจองวัคซีน Moderna เช่น ประชาชนเข้าจองวัคซีน Moderna เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 บนเว็บไซต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีจนระบบล่ม ขณะที่ชาวโคราชเข้าจองวัคซีน Moderna ล็อตที่ 2 บนระบบออนไลน์ของโรงพยาบาลเอกชนจนระบบล่มในทุกโรงพยาบาล

 

 

ความกังวลใจต่อประสิทธิภาพและอันตรายของวัคซีน และความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อคำแนะนำของรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ ส่งผลอย่างมากต่อการชะลอการรับวัคซีน Sinovac

 

 

นอกจากความกังวลในเรื่องของชนิดวัคซีนแล้ว แนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสมยังก่อให้เกิดความกังวลในสังคมด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2021 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยมติดังกล่าวระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีน AstraZeneca โดยเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้ก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มประชาชน เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กล่าวเตือนการฉีดวัคซีนสูตรผสมว่ามีงานวิจัยรับรองอยู่น้อยมากและมีความสับสน กังวล ไม่มั่นใจ และไม่พอใจกับการที่ต้องเป็นหนูทดลอง ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวยืนยันว่าได้ทำการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนสูตรผสมแล้ว 

 

ความกังวลใจต่อประสิทธิภาพและอันตรายของวัคซีน และความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อคำแนะนำของรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ ส่งผลอย่างมากต่อการชะลอการรับวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยในช่วงแรก และทำให้ประชาชนต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นในการเสียค่าใช้จ่ายและเวลาเพื่อจองวัคซีนทางเลือกกับโรงพยาบาลเอกชน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้คำโฆษณาของรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญที่ว่า “วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด” ได้กลายมาเป็นวลีตลกร้ายในสังคมและถูกนำมาล้อเลียนในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง

 

มุมมองของประชาชนต่อวัคซีน Sinovac ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับนักในเรื่องประสิทธิภาพการจัดการกับสายพันธุ์เดลตา

 

วัคซีนที่อ่อนแอ

วัคซีนที่อ่อนแอ คือวัคซีนที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคม ด้วยว่ามันไม่เป็นที่ยอมรับอันเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของข้อมูล การขาดความโปร่งใสของการจัดหา และรวมถึงการรณรงค์ที่ไร้ความน่าเชื่อถือ ความหวั่นวิตกของประชาชนผู้รับวัคซีนทำให้วัคซีนมีภูมิคุ้มกันในการทำงานต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายในสังคมที่ลดลง ท่ามกลางการรับรู้ ความลังเลไม่แน่ใจ และการ (ไม่) ยอมรับวัคซีนที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่จะทำหน้าที่ในการเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญให้กับวัคซีนในเวลาที่มันแพร่กระจายไปในสังคม ก็คือการลดความกังวลใจของสาธารณชน ตลอดจนสร้างความชอบธรรมและการยอมรับวัคซีนให้เกิดขึ้นให้ได้  

 

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะพูดถึงการกระบวนการสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับวัคซีน นั่นคือการรณรงค์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างการยอมรับวัคซีนให้เกิดขึ้นในสังคม 

 

 

อ้างอิง:

 

FYI

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Comparative Assessment of the Pandemic Responses in Australia and Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Australia-ASEAN Council, Australia-ASEAN Council COVID-19 Special Grants Round กระทรวงการต่างประเทศและการค้าประเทศออสเตรเลีย

 

ติดตามข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้จาก

Website: https://www.austhaipandemic.com

Facebook: https://www.facebook.com/AusThaiPandemic

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X